สาเหตุการปรับค่า Ft 62.85 สตางค์ต่อหน่วย

(เดือน มิถุนายน 2551 - กันยายน 2551)

          

            การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เสนอ การประมาณการค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (ค่าเอฟที ) สำหรับการเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในช่วงเดือนมิถุนายน - กันยายน 2551 ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พิจารณา ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ให้ความเห็นชอบค่าเอฟทีสำหรับการเรียกเก็บจากประชาชนในเดือนมิถุนายน – กันยายน 2551 เท่ากับ 62.85 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งลดลงจากระดับ 68.86 สตางค์ต่อหน่วย ในปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2551) จำนวน 6.01 สตางค์ต่อหน่วย โดยสามารถสรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้

           1. เนื่องจากการดำเนินงานของโครงการก๊าซธรรมชาติแหล่งใหม่จากแหล่งอาทิตย์ และ JDA-A18 มีความล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้เดิม ประกอบกับ ปัญหาจากท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเยตากุนได้เกิดการรั่ว ในช่วงวันที่ 2-11 เมษายน 2551 ส่งผลให้มีการใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลใน การผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากในเดือนมีนาคม - เมษายน 2551 ประกอบกับ ความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงเดือนมิถุนายน – กันยายน 2551 เพิ่มขึ้นจากช่วงที่ผ่านมาประมาณ 654 ล้านหน่วย ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำและลิกไนต์ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำได้ลดลง เนื่องจากข้อจำกัดของปริมาณน้ำในเขื่อนและความจำเป็นในการปล่อยน้ำเพื่อการชลประทานลดลงในช่วงฤดูฝน รวมทั้งมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ได้เลื่อนแผนการหยุดซ่อมประจำปีมาจากช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจำนวน 8.95 สตางค์ต่อหน่วย

          2. การบริหารจัดการผลกระทบจากโครงการก๊าซธรรมชาติต่อค่าเอฟที เห็นควรให้ ปตท. รับภาระเงินส่วนลดที่คาดว่าจะเรียกรับการชดเชยจากผู้ผลิตได้ไว้ก่อน ดังนี้ (1) แหล่งอาทิตย์ ที่จะมีส่วนลดค่าก๊าซธรรมชาติจากปริมาณที่ขาดส่งจำนวนประมาณ 1,335 ล้านบาท และ (2) แหล่งเยตากุน ที่คาดว่าจะมีเงินค่าปรับ จากปัญหาท่อส่งก๊าซธรรมชาติเยตากุนเกิดรั่วประมาณ 260 ล้านบาท รวม 1,595 ล้านบาท และเมื่อได้ข้อยุติจากการเจรจากับผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติ ที่ชัดเจนแล้ว จะนำมาพิจารณาในการปรับค่าเอฟทีในรอบต่อไป ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบค่าเอฟทีรอบนี้ได้ประมาณ 3.41 สตางค์ต่อหน่วย

          3. การบริหารจัดการต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าเห็นควรให้ กฟผ. เจรจากับกรมชลประทานในการบริหารการใช้น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำเพียงพอเพื่อการชลประทาน ซึ่งจะทำให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 200 ล้านหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีลดลงได้อีก 0.70 สตางค์ต่อหน่วย

          4. แนวทางการกำกับการดำเนินงานตามแผนการลงทุนของการไฟฟ้า ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2548 ที่กำหนดให้นำค่าใช้จ่ายการ ลงทุนที่ไม่เป็นไปตามแผนการลงทุนที่ใช้ในการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า พร้อมทั้งค่าปรับในอัตราร้อยละ 7.25 มาปรับลดค่าเอฟที โดยพบว่า ในปี 2549-2550 การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง มีการลงทุนลดลงจากแผนที่กำหนดไว้จำนวน 36,298 ล้านบาท ซึ่งจะต้องคืนเงินค่าไฟฟ้าจากการลงทุนที่ลดลงพร้อมค่าปรับ เป็นเงิน 3,882 ล้านบาท และเงินสมทบจากการดำเนินงานของ กฟผ. อีกจำนวน 1,200 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 5,082 ล้านบาท ซึ่งนำมาปรับลดค่าเอฟทีในครั้งนี้ได้จำนวน 10.85 สตางค์ต่อหน่วย

          จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้ค่าเอฟทีสำหรับการเรียกเก็บจากประชาชนในเดือนมิถุนายน - กันยายน 2551 ลดลงได้จำนวน 6.01 สตางค์ต่อหน่วย โดยลดลงจากระดับ 68.86 สตางค์ต่อหน่วย เหลือ 62.85 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยลดลงจาก 2.94 บาทต่อหน่วย (ประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าฐาน 2.25 บาทต่อหน่วย และค่าเอฟที 0.6886 บาทต่อหน่วย) เป็น 2.88 บาทต่อหน่วย หรือลดลงประมาณร้อยละ 2.05