สาเหตุการปรับค่า Ft 95.81 สตางค์ต่อหน่วย

(เดือน พฤษภาคม 2554 - สิงหาคม 2554)

  

1.

ความเป็นมา

         การปรับค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (ค่า Ft) เป็นกลไกที่ใช้ในการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าให้สะท้อนกับภาวะต้นทุนที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ สำหรับค่า Fในงวดนี้ี้ มีผลกระทบจากค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนความต้องการไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงมีผลทำให้ค่า Ft ในงวดนี้เพิ่มสูงขึ้นจากงวดที่ผ่านมา

        การพิจารณาผลการประมาณการค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่า Ft ในแต่ละงวดนั้น กกพ. ได้คำนึงถึงความถูกต้องและความเหมาะสมตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ  Ft ตลอดจนผลกระทบต่อประชาชน ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ   เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2548 รวมทั้งพิจารณาถึงความเหมาะสมในการผลิตไฟฟ้าของประเทศโดยเฉพาะในกรณีที่มีการผลิตไฟฟ้านอกแผน ตลอดจนคำนึงถึงความมั่นคงของภาคการผลิตไฟฟ้า  นอกจากนี้ยังคำนึงถึงปัจจัยในมิติต่างๆ  ประกอบด้วย การประมาณการความต้องการไฟฟ้า อัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการคำนวณ การประมาณการค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า และการผลิตไฟฟ้า ตลอดจนติดตามต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม 2553  –  มกราคม 2554 เพื่อนำภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจริงที่ต่างจากแผน มาคำนวณรวมกับงวดพฤษภาคม – สิงหาคม 2554

2.

การประมาณการค่า Ft สำหรับเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2554

        ข้อมูลสำคัญสำหรับการประมาณการค่า Ft ช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2554 มีดังนี้

        2.1 การประมาณการความต้องการใช้ไฟฟ้า

        คาดว่าในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม2554 จะมีความต้องการไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3.44% หรือประมาณ 3,546 ล้านหน่วย เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (พฤษภาคม 2553 – สิงหาคม 2553)

         2.2 สัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า

      คาดว่าการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2554 จะเพิ่มขึ้น 7.44% หรือประมาณ 3,996 ล้านหน่วย จากช่วงที่ผ่านมา (มกราคม 2554 – เมษายน 2554) ซึ่งหน่วยผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว จะมีการใช้เชื้อเพลิงชนิดต่างๆเปลี่ยนแปลงไป ดังนี้

      • ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 3,360 ล้านหน่วย โดยเป็นการผลิตเพิ่มขึ้นจาก LNG 1 ล้านตัน/วัน หรือประมาณ 140 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน ตั้งแต่เดือน มิ.ย.54
      • ผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 369 ล้านหน่วย (เนื่องจากในบางวันปริมาณก๊าซมีไม่เพียงพอ )
      • ผลิตไฟฟ้าจากน้ำลดลง 540 ล้านหน่วย ตามความต้องการน้ำของกรมชลประทาน ที่เริ่มเข้าหน้าฝนแล้ว
      • ผลิตไฟฟ้าจากลิกไนต์ลดลง 169 ล้านหน่วย เพราะมีแผนซ่อมโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 10 และ 11 ในเดือน ก.ค.54 และ ส.ค.54 ตามลำดับ
      • รับซื้อจากลาวเพิ่มขึ้น 1,195 ล้านหน่วย
      • เริ่มซื้อจากมาเลเซียในเดือน ส.ค.54 จำนวน 50 ล้านหน่วย เพื่อลดการใช้น้ำมันเตา

         2.3 อัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการคำนวณ

        เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนมีผลกระทบต่อค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนในระดับที่เหมาะสมจะทำให้ประมาณการต้นทุนค่าผลิตไฟฟ้ามีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ดังนั้น กกพ. จึงกำหนดให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ดำเนินการประมาณการ ค่า Ft งวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2554 คือ วันที่ 18 เมษายน 2554 ที่อัตราแลกเปลี่ยน 30.27 บาทต่อ สรอ. ซึ่งเปลี่ยนแปลงลดลง 0.03 บาทต่อเหรียญ สรอ. เมื่อเทียบกับงวดที่ผ่านมา

        2.4 การประมาณการค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า

        ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2554 มีการเปลี่ยนแปลง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่ผ่านมา (มกราคม – เมษายน 2554) ดังนี้

      - ราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 229.61 บาทต่อล้านบีทียู เป็น 251.51 บาทต่อล้านบีทียูหรือเพิ่มขึ้น 21.90 บาทต่อล้านบีทียู จากการที่ราคาน้ำมันเตาที่ใช้อ้างอิงในการประมาณการราคาก๊าซทะยอยเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ ตามราคาน้ำมันดิบดูไบที่เพิ่มขึ้นจากประมาณการในรอบที่แล้ว จาก 92.40-119.70 USD/BBL เป็น 118.23-122.51 USD/BBL

      - ราคาน้ำมันเตาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 17.16 บาทต่อลิตร เป็น 23.64 บาทต่อลิตร หรือเพิ่มขึ้น 6.48 บาทต่อลิตร (เป็นราคาถัวเฉลี่ย (Stock Moving Average) จากการใช้น้ำมันเตาของโรงไฟฟ้าต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรี, โรงไฟฟ้าพลังความร้อนบางปะกง, โรงไฟฟ้าพลังความร้อนพระนครใต้ และ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนกระบี่ ซึ่งในแต่ละโรงไฟฟ้าก็มีน้ำมันเตาหลายชนิดคือ 0.5%S, 1.0%S 2.0%S ที่มีราคาแตกต่างกัน ตั้งแต่ 14-24 บาท/ลิตร)

      - ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 24.19 บาทต่อลิตร เป็น 28.59 บาทต่อลิตร หรือเพิ่มขึ้น 4.40 บาทต่อลิตร

      นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาราคารับซื้อไฟฟ้าเฉลี่ย พบว่าเพิ่มขึ้นจาก 2.3056 บาทต่อหน่วย เป็น 2.3822 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 0.077 บาทต่อหน่วย จากงวดที่ผ่านมา รวมถึงการประมาณการหน่วยจำหน่ายถึงผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 3,546.14 ล้านหน่วยจากงวดที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2554 เพิ่มขึ้น 12,051 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 20.16 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อเปรียบเทียบกับงวดที่ผ่านมา

        2.5 ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจริงในช่วงเดือนตุลาคม 2553 – มกราคม 2554

       กกพ. ได้มีการติดตามการผลิตไฟฟ้า การใช้เชื้อเพลิง การจ่ายไฟฟ้า และความต้องการไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเดือนตุลาคม 2553 – มกราคม 2554 เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการคำนวณภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้ายกมาในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2554

       จากข้อมูลสำคัญทั้ง 5 ข้อ ดังที่กล่าวมาข้างต้น มีผลให้ค่า Ft ในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2554 มีค่าเท่ากับ 100. 66 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากค่า Ft ที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2554 (86.88 สตางค์ต่อหน่วย) จำนวน 13.78 สตางค์ต่อหน่วย

 

3.

การประเมินผลกระทบจากการปรับค่า  Ft งวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2554

         กกพ. ได้พิจารณาประมาณการค่า Ft ในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2554 ซึ่งเท่ากับ 100.66 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากค่า Ft ที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2554 (86.88 สตางค์ต่อหน่วย) จำนวน 13.78 สตางค์ต่อหน่วย เห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจ เนื่องจากปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น กกพ. จึงพิจารณานำเงินที่สามการไฟฟ้าลงทุนต่ำกว่าแผนในช่วงปี 2551 - 2553 บางส่วน (2,600 ล้านบาท จาก 9,500 ล้านบาท) มาปรับลดค่าไฟฟ้าตามสูตร Ft ในเดือนพฤษภาคม 2554 – สิงหาคม 2554 ลง 4.85 สตางค์/หน่วย

            ดังนั้น กกพ. จึงมีมติเห็นชอบให้ค่า Ftในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม  2554 สำหรับการเรียกเก็บจากประชาชนเท่ากับ  95.81  สตางค์ต่อหน่วยเพิ่มขึ้นจากงวดที่ผ่านมา (เดือนมกราคม – เมษายน 2554 ที่ 86.88 สตางค์ต่อหน่วย) จำนวน 8.93 สตางค์ต่อหน่วย