สาเหตุการปรับค่า Ft 92.55 สตางค์ต่อหน่วย

(เดือน กันยายน 2552 - ธันวาคม 2552)

       ในการประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ครั้งที่ 23/2552 (ครั้งที่ 62) เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2552 และครั้งที่ 24/2552 (ครั้งที่ 63) เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2552 ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการปรับค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2552 ซึ่งมีสาเหตุการเปลี่ยนแปลงสมมติฐานในการประมาณการจากช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2552 ดังนี้


      1. อัตราการเจริญเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากหดตัวร้อยละ 5.3 ในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2552 เป็นหดตัวร้อยละ 2.5 ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2552 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยว่าอัตราการเจริญเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่สองหดตัวร้อยละ 4.9 โดยคาดว่า GDP ปี 2552 จะอยู่ที่ประมาณ (-3.5%) ถึง (-3%)
      2. ค่าพยากรณ์ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในปี 2552 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากหดตัวร้อยละ 4.25 เป็นหดตัวร้อยละ 2.29 และค่าพยากรณ์ความต้องการพลังงานไฟฟ้าช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2552 จะขยายตัวจากหดตัวร้อยละ -0.67 เป็นขยายตัวร้อยละ 2.35
      3. ในเดือนกรกฎาคม 2551 ราคาน้ำมันเตาเฉลี่ยประมาณ 133 เหรียญ สรอ. ต่อบาร์เรล ลดลงมาเหลือประมาณ 43-50 เหรียญ สรอ. ต่อบาร์เรล ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2552 และราคาประมาณ 50.5-53.0 เหรียญ สรอ. ต่อบาร์เรลช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2552 ซึ่งจะส่งผลต่อราคาก๊าซธรรมชาติช่วง 6-12 เดือนต่อมาคือช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2552
      4. อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ลดลงจาก 35.5 บาทต่อเหรียญ สรอ. ในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2552 เป็น 34.5 บาทต่อเหรียญ สรอ. ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2552 ดังนั้นราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย (รวมค่าผ่านท่อ) จึงลดลงจาก 233.28 บาทต่อล้านบีทียู ในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2552 เป็น 225.19 บาทต่อล้านบีทียู ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2552
      5. ยอดสะสมที่เกิดจากความแตกต่างระหว่างค่า Ft ที่คำนวณได้กับการเรียกเก็บในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2552 นั้น สามารถชำระคืนภาระค่า Ft ค้างรับของ กฟผ.ได้บางส่วน จึงทำให้ ภาระทางการเงินของ กฟผ. ลดลงเป็น 20,820.54 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือน เมษายน 2552
      6. จากสมมติฐานข้างต้น จะทำให้การคำนวณค่า Ft สำหรับการเรียกเก็บในเดือนกันยายน-ธันวาคม 2552 ได้เท่ากับ 127.07 สตางค์/หน่วย
      7. อย่างไรก็ตาม แนวโน้มราคาน้ำมันเตา เพิ่มขึ้นจากราคา 50.5 – 53.0 เหรียญ สรอ. ต่อบาร์เรลในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2552 เป็น 65.3 – 67.4 เหรียญ สรอ. ต่อบาร์เรลในช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2552 ซึ่งราคาน้ำมันเตาเฉลี่ยจะต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบ Brent ประมาณ 6 เหรียญ สรอ. ต่อบาร์เรล เมื่อราคาน้ำมันดิบ Brent มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยราคาซื้อขายล่วงหน้าในเดือน เมษายน 2553 อยู่ที่ 78.9 เหรียญ สรอ. ต่อบาร์เรล จากปัจจุบันในเดือน สิงหาคม 2552 อยู่ที่ประมาณ 73.5 เหรียญ สรอ. ต่อบาร์เรล ดังนั้นราคาก๊าซฯ ในงวดต่อไป คือ เดือนมกราคม-เมษายน 2553 จึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปตามแนวโน้มราคาน้ำมันเตา


      กกพ. ได้พิจารณาโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนและภาคการผลิต รวมทั้งเพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในภาพรวม ตลอดจนความมั่นคงของภาคการผลิตไฟฟ้า จึงมีมติเห็นชอบตามหนังสือของ กฟผ. แจ้งการอนุวรรตน์ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 11 สิงหาคม 2552 กำหนดให้ค่า Ft สำหรับใช้เรียกเก็บจากประชาชนในช่วงเดือนกันยายน - ธันวาคม 2552 อยู่ในระดับเดิม คือ 92.55 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเท่ากับ 3.17 บาทต่อหน่วย (ค่าไฟฟ้าฐาน 2.25 บาทต่อหน่วย และค่า Ft 0.9255 บาทต่อหน่วย)