อัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับโครงการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2549 และ 2 กุมภาพันธ์ 2550 ได้มีมติเห็นชอบการกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า ตามปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 10 เมกะวัตต์  ซึ่งขายไฟฟ้าเข้าระบบตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer: VSPP) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (กฟภ. และ กฟน.) ได้ออกประกาศการกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับ VSPP แล้ว เมื่อวันที่ 1กุมภาพันธ์ 2550 และ 2 กุมภาพันธ์ 2550 ตามลำดับ โดยกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าในอัตราคงที่ตามประเภทเชื้อเพลิงเป็นเวลา 7 ปี และกำหนดให้มูลค่าการรับซื้อไฟฟ้าตามส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าให้ส่งผ่านค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft)

            2. ต่อมา กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2550 ได้มีมติเห็นชอบอัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) สำหรับโครงการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ให้สูงกว่าพื้นที่อื่นเป็นกรณีเฉพาะ โดยกำหนดอัตราส่วนเพิ่มสำหรับโครงการที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอีก 1.50 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และสำหรับพลังงานหมุนเวียนอื่นเพิ่มขึ้นอีก 1.00 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการลงทุนจากภาคเอกชนในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนที่สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าโดยภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ประกอบกับเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย ทำให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่จูงใจให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชน ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายออกประกาศกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

            3. อัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสำหรับ VSPP (สำหรับโครงการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้) จำแนกตามประเภทเชื้อเพลิง สรุปได้ดังนี้

 

          ประเภทพลังงาน

ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับ VSPP พลังงานหมุนเวียน

(บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง)

โครงการในจังหวัดอื่นๆ

ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากเดิม

โครงการในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ชีวมวล1/

0.30

1.00

1.30

ก๊าซชีวภาพ

0.30

1.00

1.30

พลังน้ำขนาดเล็ก (50-200 กิโลวัตต์)

0.40

1.00

1.40

พลังน้ำขนาดเล็ก(< 50กิโลวัตต์)

0.80

1.00

1.80

ขยะ2/

2.50

1.00

3.50

พลังงานลม

2.50

1.50

4.00

พลังงานแสงอาทิตย์3/

8.00

1.50

9.50

 

หมายเหตุ:1/ ชีวมวล หมายถึง กากหรือเศษวัสดุเหลือใช้ในการเกษตร หรือกากจากการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เศษไม้ หรือไม้จากการปลูกป่าเป็นเชื้อเพลิง           

2/ ขยะ หมายถึง ขยะชุมชนทุกเทคโนโลยี

3/ พลังงานแสงอาทิตย์ หมายความรวมถึงการนำพลังงานแสงอาทิตย์ไปใช้ในการผลิตน้ำร้อนเพื่อผลิตไฟฟ้า (Solar Thermal)