สาเหตุการปรับค่า Ft 92.55 สตางค์ต่อหน่วย

(เดือน มกราคม 2552 - เมษายน 2552)

        นาย ดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า การพิจารณาค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในเดือนมกราคม - เมษายน 2552 เพิ่มขิ้น 14.85 สตางค์ต่อหน่วย จากเดิมในรอบที่ ผ่านมา (ตุลาคม – ธันวาคม 2551) อยู่ที่ 77.70 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 92.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนในบิลค่าไฟฟ้ารอบนี้เพิ่มขึ้นจาก 3.02 บาทต่อหน่วย เป็น 3.17บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4.91

        นายดิเรก กล่าวว่า การปรับเพิ่มขึ้นค่าเอฟทีในส่วนของค่าเชื้อเพลิงและค่าค่าซื้อไฟฟ้าในงวดนี้ (เดือนมกราคม – เมษายน 2552 ) ที่คำนวณได้จะต้องปรับเพิ่มขึ้นเท่ากับ 17.22 สตางค์ต่อหน่วย จากราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น โดยราคาก๊าซธรรมชาติได้ปรับเพิ่มขึ้น 22 บาทต่อล้านบีทียู จากราคา 228.65 บาทต่อล้านบีทียู เป็น 251.24 บาทต่อล้านบีทียู ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้น 0.56 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซลจากราคา 15.08 บาทต่อลิตร เป็น 15.64 บาทต่อลิตร

        นายดิเรกกล่าวต่อไปว่ากกพ.ได้มีการปรับการใช้ราคาเชื้อเพลิงปัจจุบัน (ม.ค.52 – เม.ย.52) มาใช้คำนวณแทนราคาเชื้อเพลิงอ้างอิง 2 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค 51- ธ.ค. 52) เพราะราคาเชื้อเพลิงปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง   โดยหากใช้ราคาเชื้อเพลิงอ้างอิง 2 เดือนที่ผ่านมาราคาก๊าซธรรมชาติจะสูงถึง 274 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งจะเป็นภาระต่อผู้ใช้บริการมากขึ้น

        และเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบและภาระทางการเงินที่จะเกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการ กกพ.จึงมีมติให้การปรับค่าเอฟทีงวดนี้เพียง 14.85 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้มีส่วนต่างค่าเอฟทีของค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่คำนวณได้กับที่เรียกเก็บในรอบนี้เท่ากับ 2.37 สตางค์ต่อหน่วยหรือประมาณ 1,036 ล้านบาท เมื่อรวมกับยอดสะสมที่เกิดจากความแตกต่างระหว่างค่าเอฟทีที่คำนวณได้กับที่เรียกเก็บในงวดที่ผ่านมา ทำให้กฟผ.มีรายได้ค้างรับ ซึ่งนับเป็นภาระการเงินกับกฟผ.เพิ่มขึ้นเป็น 20,967 ล้านบาท

        อนึ่งหากนำรายได้ค้างรับของกฟผ.ในงวดที่แล้ว มารวมกับค่าเอฟทีในงวดนี้จะคำนวณได้เท่ากับ 140.53 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจาก กฟผ. มีรายได้ค้างรับจากการปรับค่าเอฟทีในงวดที่แล้ว (เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2551) 19,931 ล้านบาท (จากค่าเอฟทีที่ต้องขึ้น 44.57 สตางค์ต่อหน่วย แต่ปรับขึ้นเพียง 14.85 สตางค์ต่อหน่วย) ดังนั้นหากมีการปรับขึ้นในอัตราดังกล่าวจะส่งผลให้ประชาชนต้องรับภาระค่าไฟในรอบบิลนี้เฉลี่ยร้อยละ 21 นับว่าสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีแนวโน้มชะลอตัว

         “ การปรับค่าเอฟทีดังกล่าว กกพ. จึงได้พิจารณาการปรับโดยให้เป็นภาระและส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการให้น้อยที่สุด ควบคู่ไปกับการให้ กฟผ. มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินกิจการ และการลงทุน กกพ. จึงได้กำหนดให้ กฟผ. ปรับขึ้นค่าในรอบนี้จำนวน 14.85 สตางค์ต่อหน่วย และรายได้ค้างรับที่เหลือจะนำไปเฉลี่ยในอนาคตที่ราคาเชื้อเพลิงมีแนวโน้มลดลง ” นายดิเรก กล่าว

        ทั้งนี้ ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยขนาดเล็กจะไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าเอฟทีรอบนี้โดยตรง เนื่องจากภาครัฐอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายตาม 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน ของภาครัฐ ในการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของครัวเรือน