สาเหตุการปรับค่า Ft 92.55 สตางค์ต่อหน่วย

(เดือน กันยายน 2553 - ธันวาคม 2553)

  

1.

ความเป็นมา

           การปรับค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (ค่า Fเป็นกลไกที่ใช้ในการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าให้สะท้อนกับภาวะต้นทุนที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเวลาการปรับค่า Ft 7 รอบที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน และภาคการผลิต สำหรับการปรับค่า Ftในช่วงเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2553 เนื่องจากมีค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าสะสมที่ กฟผ. รับภาระแทนประชาชน ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และการผลิต เป็นจำนวนสูงมาก ซึ่งหากส่งผ่านภาระดังกล่าวไปให้ผู้ใช้บริการทั้งหมด จะก่อให้เกิดผลกระทบในระดับที่รุนแรง กกพ. จึงได้กำหนดให้เฉลี่ย ปรับค่า Ft เป็นช่วงๆ ในระดับที่เหมาะสมและไม่เกิดผลกระทบมากเกินไป ทำให้ กฟผ. มีรายได้ค้างรับ ซึ่งนับเป็นภาระทางการเงินของ กฟผ. สะสมจนถึงเดือนธันวาคม 2553 รวมเป็นเงิน จำนวน 5,687 ล้านบาท

2.

การพิจารณาค่า Ft สำหรับเดือนกันยายน – ธันวาคม 2553

        ในช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2553 กกพ. พิจารณาผลการประมาณการค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่า Ft ในมิติต่างๆ ประกอบด้วย การประมาณการความต้องการไฟฟ้า การประมาณการค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า อัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการคำนวณ สภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจ การตรวจสอบการใช้เชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2553 โดยสามารถสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

        1. การประมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้า

        ในช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2553 ประมาณการการผลิตพลังงานไฟฟ้ารวม 53,807.68 ล้านหน่วย ลดลงจากประมาณการการผลิตพลังงานไฟฟ้าเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2553 ที่เท่ากับ 54,380.96 ล้านหน่วย จำนวน 573.28 ล้านหน่วย

         2. การประมาณการค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า

        ราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2553 ลดลงจำนวน 4.36 บาทต่อล้านบีทียู นอกจากนี้ ราคารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนลดลงจากช่วงที่ผ่านมาที่ 2.3246 บาทต่อหน่วย เป็น 2.3159 บาทต่อหน่วย หรือคิดเป็นประมาณ 0.87 สตางค์ต่อหน่วย แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประมาณการหน่วยจำหน่ายถึงผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศที่ลดลงจากช่วงที่ผ่านมาจำนวน 393.86 ล้านหน่วย โดยส่งผลทำให้ค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าลดจากช่วงที่ผ่านมาเพียง 5.45 สตางค์/หน่วย

         3. อัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการคำนวณ

        เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนมีผลกระทบต่อค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมจะทำให้ประมาณการต้นทุนค่าผลิตไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสมได้มากยิ่งขึ้น กกพ. จึงได้พิจารณาถึงความเหมาะสมของอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการคำนวณ โดยได้กำหนดให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในการคำนวณ โดยอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการคำนวณในช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2553 ที่ 32 บาทต่อเหรียญ สหรัฐอเมริกา เปลี่ยนแปลงลดลง 0.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐอเมริกา เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา (พฤษภาคม – สิงหาคม 2553)

          4. การตรวจสอบการใช้เชื้อเพลิงจริงที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์–พฤษภาคม 2553

        กกพ. ได้ดำเนินการตรวจสอบการผลิตไฟฟ้า การใช้เชื้อเพลิง การจ่ายไฟฟ้า และความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2553 เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาแนวโน้มภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2553

          5. หลักในการพิจารณาค่า Ft ของ กกพ.

        กกพ. มีหลักการในการพิจารณา ค่า  Ft โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน ความถูกต้อง และความเหมาะสมตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2548 รวมทั้ง พิจารณาถึงความเหมาะสมในการผลิตไฟฟ้าของประเทศโดยเฉพาะในกรณีที่มีการผลิตนอกแผน ตลอดจนความมั่นคงของ ภาคการผลิต ไฟฟ้า

3.

การประเมินผลกระทบจากการปรับค่า  Ft สำหรับเดือนกันยายน – ธันวาคม 2553

         สมมติฐานในการประมาณการ ค่า DFt ในช่วงเดือน กันยายน – ธันวาคม 2553 มีการเปลี่ยนแปลงจากการประมาณการ ค่า DFt ในช่วงเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2553 ดังนี้

        1. อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ลดลงจาก 32.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐอเมริกา ในช่วงเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2553 เป็น 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐอเมริกา ในช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2553

       2. ราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย (รวมค่าผ่านท่อ) ลดลงจาก 238.93 บาทต่อล้านบีทียู ในช่วงเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2553 เป็น 234.58 บาทต่อล้านบีทียูในช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2553

        3. ราคาน้ำมันเตา ลดลงจากช่วงราคา 77.3 – 79.5 เหรียญสหรัฐอเมริกาต่อบาร์เรลในช่วงเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2553 เป็น 70.8 - 71.8 เหรียญสหรัฐอเมริกาต่อบาร์เรลในช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2553

       4. ค่าพยากรณ์ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในเดือนกันยายน – ธันวาคม 2553 คาดว่าจะอยู่ที่การขยายตัวที่ร้อยละ 9.11 โดยค่าพยากรณ์ความต้องการพลังงานไฟฟ้าปี 2553 คาดว่าจะอยู่ที่การขยายตัวที่ร้อยละ 11.57

         ซึ่งจากสมมติฐานข้างต้น จะทำให้การคำนวณค่า Ft สำหรับการเรียกเก็บในเดือนกันยายน – ธันวาคม 2553 ได้เท่ากับ 103.94 สตางค์/หน่วย สูงกว่าค่า Ft  ที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในช่วงเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2553 ที่เท่ากับ 92.55 สตางค์/หน่วย จำนวน 11.39 สตางค์/หน่วย

         อย่างไรก็ตาม กกพ. ได้พิจารณาโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนและภาคการผลิต และ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในภาพรวมตลอดจนความมั่นคงของภาคการผลิต ไฟฟ้า จึงมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ กฟผ. ที่อนุวรรตน์ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553 โดยกำหนดให้ค่า Ft ในช่วงเดือน กันยายน – ธันวาคม 2553 สำหรับการเรียกเก็บจากประชาชนอยู่ในระดับเดิมเท่ากับ 92.55 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเท่ากับ 3.17 บาท (ค่าไฟฟ้าฐาน 2.25 บาทต่อหน่วย และค่า Ft 0.9255 บาทต่อหน่วย)

         การตรึงค่า Ft ดังกล่าว เมื่อนำมารวมกับยอดสะสมที่เกิดจากความแตกต่างระหว่างค่า Ft ที่คำนวณได้กับการเรียกเก็บในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ กฟผ. มีรายได้ค้างรับ ซึ่งนับเป็นภาระทางการเงินกับ กฟผ. ลดลงเหลือ 5,687 ล้านบาท