เขื่อนปากมูล
การจัดการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
ตามแผนงานเดิม กฟผ. จะสร้างเขื่อนที่บริเวณแก่งตะนะ ซึ่งอยู่ห่างจากปากแม่น้ำมูลขึ้นมา 4 กิโลเมตร โดยมีระดับเก็บกักน้ำที่ +112 เมตร (รทก.) ซึ่งจะได้กำลังผลิตไฟฟ้า 300 เมกะวัตต์ ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละ 442 ล้านหน่วย แต่จะทำให้น้ำท่วมบริเวณแก่งตะนะ วัดดอนธาตุ แก่งสะพือ รวมทั้งบ้านเรือนของราษฎรจะถูกน้ำท่วมประมาณ 4,000 หลังคาเรือน
เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและประชาชน กฟผ. ได้ปรับลดขนาดโครงการฯลง โดยย้ายที่ตั้งตัวเขื่อนมาอยู่ทางเหนือน้ำประมาณ 1.5 กิโลเมตร ที่บ้านหัวเห่ว และลดระดับเก็บกักน้ำมาอยู่ที่ระดับ +108 เมตร (รทก.) กำลังผลิตไฟฟ้า ลดลงเหลือ 136 เมกะวัตต์ ทำให้แก่งตะนะ วัดดอนธาตุ และแก่งสะพือ ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด และผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของประชาชนลดลงเหลือ 241 หลังคาเรือน และอีก 639 หลังคาเรือน มีความประสงค์ที่จะอพยพครอบครัวไปอยู่ในชุมชนแห่งใหม่
การดูแลด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
ด้านการประมง
กฟผ. ได้จัดทำบันไดปลาโจน เพื่อให้ปลาจากแม่น้ำโขงสามารถว่ายขึ้นไปวางไข่ในแม่น้ำมูลได้ นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพเกษตรประมง ให้กรมประมงก่อสร้างศูนย์ประมง เพื่อเพาะขยายและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ราษฎร
ด้านการชลประทาน
เขื่อนปากมูลทำให้ลำน้ำมูลมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นประโยชน์ต่อการสูบน้ำให้แก่พื้นที่เกษตรกรรม เพื่อเพิ่มผลผลิตในระยะแรก 45,000 ไร่ และสามารถขยายได้ถึง 160,000 ไร่
ด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้า
เสริมกำลังผลิตไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้มีความมั่นคง
ด้านการลงทุน
ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในจังหวัดอุบลราชธานี กระจายรายได้สู่ประชาชนในท้องถิ่นโดยกว้างขวาง
ด้านการคมนาคม
สันเขื่อนปากมูลใช้เป็นสะพานข้ามแม่น้ำมูลได้ อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้อำเภอโขงเจียม กำลังได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในจังหวัดอุบลราชธานี
การบริหารจัดการการเปิดประตูระบายน้ำ
เขื่อนปากมูล ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ประกอบด้วย ส่วนราชการ และตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อพิจารณาเกณฑ์การเปิดประตูระบายน้ำให้สอดคล้องกับสภาพน้ำในแต่ละปี โดยคำนึงถึงประโยชน์และผลกระทบของประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณท้ายเขื่อน
การเปิด/ปิด ประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล กฟผ. ได้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล มาอย่างต่อเนื่อง
เขื่อนปากมูลใช้เวลายาวนานในการแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้นตราบจนเสร็จสิ้นการก่อสร้าง ประโยชน์ที่ได้แก่ส่วนรวมนั้นคุ้มค่าต่อความพยายามของผู้ดำเนินการ ปัญหาและข้อสงสัยทั้งมวลได้ถูกลบล้างด้วยความจริงอันได้ปรากฏชัดเมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ การดำเนินงานโดยรอบคอบด้วยความห่วงใยและเอาใจใส่อย่างจริงจังต่อทุกปัญหา ทำให้เขื่อนปากมูลเป็นเขื่อนที่ทรงคุณค่าอีกแห่งหนึ่ง เป็นแหล่งพลังงานที่สะอาดปราศจากมลภาวะและราคาถูก เป็นพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญต่อสภาวะเศรษฐกิจในท้องถิ่น และช่วยเสริมความมั่นคงแก่ระบบไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ