ค่าไฟฟ้าแพงในรัฐออนตาริโอกลับมาร้อนระอุอีกครั้ง เมื่อแนวร่วมองค์กรธุรกิจ 19 กลุ่ม ออกมาเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลรัฐออนตาริโอต่อปัญหาค่าไฟฟ้า ที่ส่งผลให้มีการย้ายฐานการลงทุนและการสร้างงานไปที่รัฐอื่น เนื่องจากค่าไฟฟ้าถูกกว่าถึง 1 ใน 3 โดยแนวร่วมเหล่านี้ เชื่อว่าการตัดสินใจที่ผิดพลาดของรัฐบาลตั้งแต่ในอดีตตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนของรัฐ ต้องเผชิญกับภาวะค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้นถึง 400% จึงเรียกร้องให้รัฐบาลรีบดำเนินการแก้ไขปัญหาและมีการตัดสินใจอย่างชาญฉลาด
19 องค์กรธุรกิจกดดันรัฐบาล
แนวร่วม 19 องค์กร ซึ่งประกอบธุกิจ อุตสาหกรรม หอการค้า และเกษตรกรรม ใช้ชื่อว่า The Ontario Electricity Stakeholders Alliance ต้องการให้มีการกำหนดค่าไฟฟ้าอย่างโปร่งใส ชาญฉลาดภายใต้ต้นทุนที่แท้จริง “กลุ่มของเราไม่ได้เจาะจงจะตำหนิใคร เพียงแต่ต้องการปกป้องการจ้างงาน และต้นทุนด้านพลังงาน ที่เกิดจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของหลายรัฐบาลที่ผ่านมา จนทำให้เราต้องเผชิญสถานการณ์ค่าไฟฟ้าในวันนี้” Matt Marchand ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มหอการค้า หนึ่งในแนวร่วมกล่าว โดยหวังว่าเสียงเรียกร้องในครั้งนี้จะดังไปถึงทุกพรรคการเมืองของรัฐ
“รัฐออนตาริโอต้องสูญเสียตำแหน่งงานและการลงทุนจำนวนมาก เนื่องจากการย้านฐานการผลิตไปยังรัฐโอไฮโอ และรัฐทางตะวันตกของอเมริกาเหนือ ซึ่งค่าไฟฟ้ามีราคาเพียง 1 ใน 3 ของรัฐออนตาริโอ”
เปอร์เซนต์การขึ้นค่าไฟฟ้าของรัฐออนตาริโอ
ที่มา http://www.ontario-hydro.com/
รัฐออนตาริโอแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 25
ตั้งแต่ต้นปี 2560 รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐออนตาริโอ ประกาศลดราคาค่าไฟฟ้าลง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกในเดือนมกราคม 2560 ลดลงร้อยละ 8 และในเดือนมิถุนายน 2560 ลดลงอีกร้อยละ 17 รวมเป็นลดลงร้อยละ 25 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยใช้วิธียืดเวลาการคืนเงินลงทุนก่อสร้างและปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้ยาวนานขึ้น อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น จะไปปรากฏในบิลค่าไฟฟ้าของประชาชนในอนาคตต่อไปอยู่ดี
ค่าไฟฟ้าประเภทที่อยู่อาศัยและธุรกิจขนาดเล็กของรัฐออนตาริโอ
ค่าไฟฟ้าขายปลีก ประเภทบ้านอยู่อาศัยรัฐออนตาริโอ (ดำเนินการโดยบริษัท Hydro one) แพงที่สุดในแคนาดา
ที่มา http://www.randyhilliermpp.com/hydro_facts
จุดเริ่มต้นของปัญหาเมื่อ 14 ปีที่แล้ว
นาย Duane Sharp นักเขียน คอลัมนิสต์ และอดีตวิศวกร ได้แสดงความเห็นในหนังสือพิมพ์ Toronto Sun ว่า ความล้มเหลวพลังงานหมุนเวียนของออนตาริโอในปัจจุบัน มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ 14 ปีที่แล้ว เมื่อนาย Dalton McGuinty ผู้ว่าการรัฐออนตาริโอในขณะนั้น และนาย Gerald Butts ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ได้เริ่มต้นใช้นโยบายและแผนพลังงานต่าง ๆ ซึ่งกำหนดทิศทางให้รัฐมนตรีพลังงานของรัฐออนตาริโอในแต่ละยุค ดำเนินการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินและมุ่งหน้าพัฒนาพลังงานหมุนเวียน
คนกลุ่มนี้ รวมถึงนักเคลื่อนไหวผู้สนับสนุนพลังงานสีเขียวที่จินตนาการภาพของกังหันลมและแผงเซลล์แสงอาทิตย์กระจายทั่วทั้งรัฐ ผลักดันให้มีการส่งพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของออนตาริโอ โดยที่ไม่ฟังคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานหมุนเวียน ทั้งในประเด็นวิธีการรวมพลังงานหมุนเวียนเข้าในระบบที่มีการใช้เชื้อเพลิงหลัก สถานที่ตั้งที่เหมาะสม ตลอดจนผลกระทบต่อประชาชน และต้นทุนค่าไฟฟ้า
นโยบายที่ไม่รอบคอบ
การตัดสินใจปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน 4 โรง ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาลพรรคเสรีนิยม แม้จะมีคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานอิสระของภาครัฐว่า การนำพลังงานลมและแสงอาทิตย์มาแทนที่ถ่านหินจะไม่มีทางสำเร็จ ขณะที่ในการดำเนินการ ไม่เคยมีการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของต้นทุนโดยละเอียด ในประเด็นการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนแทน
การอ้างผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เลื่อนลอย
มีการกล่าวอ้างโดยไม่มีการพิสูจน์ว่า การเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ในออนตาริโอ ซึ่งมีกำลังผลิตรวม 6,500 เมกะวัตต์ จะก่อให้เกิดต้นทุน 4.4 พันล้านเหรียญต่อปี ทั้งนี้ โดยอาศัยการประเมินว่า ที่มาของฝุ่นละอองขนาดเล็กปล่อยมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทำให้ชาวออนตาริโอเสียชีวิตและเจ็บป่วย ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างที่ถูกตอบโต้จากหน่วยงานวิชาการหลาย ๆ แห่ง เช่นสถาบัน Fraser ที่โต้แย้ง โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าภาวะสม็อก (Smog) จะดีขึ้น เพียงแค่มีการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในรัฐ ขณะที่สมาคมวิศวกรรมในออนตาริโอ เป็นหนึ่งในผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมาโดยตลอด ว่า “จ้างนักวิทยาศาสตร์และนักสิ่งแวดล้อม เพราะมีความคิดว่าคนเหล่านี้เป็นผู้เชี่ยวชาญ”
มาตรการ FIT อีกหนึ่งปมปัญหา
ในปี 2552 ออนตาริโอได้ออกมาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ Feed-in Tariff (FIT) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน สร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนและสร้างงานในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด อย่างไรก็ตาม รายงานโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในปี 2554 ระบุว่า มาตรการนี้ออกมาโดยแทบไม่มีการวางแผนหรือวิเคราะห์ผลกระทบต่อชาวออนตาริโอเลย
นาย Glenn Thibeault รัฐมนตรีพลังงานตอบคำถามเรื่องค่าไฟฟ้าที่ Queen’s Park โตรอนโต วันที่ 11 พ.ค. 2560
ความล้มเหลวของพลังงานลม
ประเทศยุโรปหลาย ๆ ประเทศสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมได้ปริมาณมาก เพราะมีการวางแผนที่ดี มีพื้นที่ตั้งฟาร์มกังหันลมที่เหมาะสม ซึ่งโดยปกติจะอยู่นอกชายฝั่งทะเล เพราะมีลมพัดสม่ำเสมอ มีทิศทางลมและความเร็วลมที่เหมาะสม ทำให้การคาดการณ์ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้มีความแม่นยำ อย่างเช่น ประเทศเดนมาร์ค ในปี 2558 สามารถผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมสูงถึงร้อยละ 42 ซึ่งตรงข้ามกับออนตาริโอ ที่ตัวเลขจาก Independent Electricity Systems Operator (IESO) ระบุว่าผลิตไฟฟ้าจากลมได้ต่ำกว่าร้อยละ 8 ในปี 2553 และร้อยละ 6 ในปี 2558
ออนตาริโอมีพื้นที่ ที่มีศักยภาพพลังงานลมแรงคงที่ไม่กี่แห่ง ซึ่งไม่เพียงพอจะเป็นพลังงานเสริมที่มั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าที่พึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์และพลังน้ำเป็นหลัก กังหันลมในออนตาริโอจึงมักจะตั้งอยู่เฉย ๆ และยังต้องการพลังงานไฟฟ้าสำรองที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติอยู่
สัดส่วนการผลิตพลังงานรัฐออนตาริโอปี 2559
ที่มา https://www.oeb.ca/sites/default/files/2016_Supply_Mix_Data.pdf
ปัญหาของรัฐอาจขยายตัวเป็นปัญหาระดับประเทศ
ปัจจุบัน นาย Gerald Butts มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยของนายกรัฐมนตรีแคนาดา นาย Justin Trudeau ทำให้คำแนะนำของเขาจะมีผลต่อชาวแคนาดาทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่ชาวออนตาริโอเท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลพรรคเสรีนิยม พยายามใช้มาตรการราคาคาร์บอนที่มีความซับซ้อน และไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาวิเคราะห์อย่างเหมาะสมและถี่ถ้วน อีกทั้งจะบังคับใช้กับรัฐที่ไม่เห็นด้วย เป็นการผลักชาวแคนาดาทั้งหมดเข้าสู่หายนะทางพลังงานอย่างที่เกิดกับออนตาริโอ
ชาวชนบทรัฐออนตาริโอประท้วงค่าไฟฟ้าแพงต่อรัฐบาลท้องถิ่นของนางแคธลีน วินน์
แปลและเรียบเรียง : สุภร เหลืองกำจร
ข้อมูลจาก - OPINION: Ontario's power failure http://torontosun.com/opinion/columnists/opinion-ontarios-power-failure
- New coalition vows to pressure government on high hydro rates
http://windsorstar.com/news/local-news/new-coalition-vows-to-pressure-government-on-hydro-rates
https://www.oeb.ca/rates-and-your-bill/electricity-rates/historical-electricity-rates