เขื่อนรัชชประภา
ความเป็นมา
เขื่อนรัชชประภา มีชื่อเรียกดั้งเดิมว่า เขื่อนเชี่ยวหลาน เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่สองของภาคใต้ อยู่ในจังหวัดสุราษฏร์ธานี เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระราชทานนามให้ใหม่ว่า “เขื่อนรัชชประภา” แปลว่า “Light of the Kingdom”
ลักษณะเขื่อนและโรงไฟฟ้า
เขื่อนรัชชประภา สร้างปิดกั้นลำน้ำคลองแสง ที่บ้านเชี่ยวหลาน ตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว สูง 94 เมตร ความยาวสันเขื่อน 761 เมตร และมีเขื่อนปิดกั้นช่องเขาขาดอีก 5 แห่ง
อ่างเก็บน้ำ
มีความจุ 5,639 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 185 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยปีละ 3,057 ล้านลูกบาศก์เมตร
โรงไฟฟ้า
ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้า เครื่องละ 80,000 กิโลวัตต์ จำนวน 3 เครื่อง รวมกำลังการผลิต 240,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละประมาณ 554 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
ลานไกไฟฟ้า
ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำ ห่างจากโรงไฟฟ้า ประมาณ 100 เมตร ทำหน้าที่ส่งพลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าด้วยสายส่งไฟฟ้าขนาด 230 กิโลโวลต์ วงจรคู่ไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงสุราษฎร์ธานี ระยะทาง 50 กิโลเมตร และขนาด 115 กิโลโวลต์ วงจรคู่ไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงพังงา ระยะทาง 82 กิโลเมตร เขื่อนรัชชประภา เริ่มดำเนินการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2525 แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2530 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดเขื่อนรัชชประภา และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เมื่อวันพุธที่ 30 กันยายน 2530
การดูแลด้านสังคม
กฟผ. ได้ร่วมมือกับหน่วยราชการต่างๆ ให้ความช่วยเหลือราษฎรในเขตพื้นที่อ่างเก็บน้ำ จำนวน 385 ครอบครัว โดยจ่ายค่าทดแทนทรัพย์สินพร้อมทั้งจัดสรรที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้อย่างเป็นธรรม ภายในหมู่บ้านมีสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ที่สำคัญครบถ้วน รวมทั้งการจัดฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพรองให้แก่ราษฎรอีกหลายโครงการ เช่น จัดอบรมเคหกิจแก่แม่บ้าน การตัดเย็บเสื้อผ้า ซ่อมบำรุงรักษาเครื่องกล ปลูกผลไม้ เป็นต้น นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้ร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดโครงการสินเชื่อส่งเสริมการปลูกยางในเขตโครงการและยังได้จัดสรรงบประมาณให้แก่กรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อดำเนินงานด้านสหกรณ์การเกษตรควบคู่กันไปด้วย
ประโยชน์
-
การชลประทานเพื่อการเพาะปลูก
ปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนให้ประโยชน์ต่อการเพาะปลูกพืช บริเวณสองฝั่งแม่น้ำในตอนล่าง ในเขตท้องที่อำเภอบ้านตาขุนอำเภอคีรีรัฐนิคม และอำเภอพุนพิน สามารถทำนาปรังและปลูกพืชในฤดูแล้งได้ผลดี
-
บรรเทาอุทกภัย
การกักเก็บน้ำของเขื่อนในฤดูฝน จะช่วยลดความรุนแรงของสภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ตอนล่างได้เป็นอย่างดี
-
การประมง
อ่างเก็บน้ำของเขื่อนรัชชประภาเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญ ทุกๆ ปี กฟผ. ได้ปล่อยพันธุ์ปลาและกุ้งเป็นจำนวนมากลงในอ่างเก็บน้ำ สามารถให้ผลผลิตทางด้านการประมงเฉลี่ยปีละ 300 ตัน ซึ่งเป็นการส่งเสริมรายได้ให้กับราษฎรในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง
-
การท่องเที่ยว
ทัศนียภาพโดยรอบบริเวณเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ สวยสดงดงาม และสงบร่มรื่น เหมาะแก่การไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวปีละกว่า 150,000 คน ให้เดินทางมาเยี่ยมชมเขื่อนรัชชประภา
-
การผลิตไฟฟ้า
พลังน้ำจากเขื่อนสามารถนำมาผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละ 315 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ช่วยเสริมระบบไฟฟ้าในภาคใต้ให้มั่นคงยิ่งขึ้น นอกจากนี้น้ำที่ปล่อยผ่านเครื่องผลิตไฟฟ้ายังส่งต่อเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านเกษตรกรรมบริเวณพื้นที่ท้ายน้ำอีกด้วย
-
แก้ไขน้ำเสียและผลักดันน้ำเค็ม
สภาพน้ำที่มีปริมาณน้อยของลำน้ำตาปี-พุมดวง ในฤดูแล้ง ทำให้เกิดภาวะน้ำเน่าเสียได้ง่าย ขณะเดียวกันบริเวณปากแม่น้ำจะมีน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาตามลำน้ำ น้ำที่ปล่อยจากเขื่อนรัชชประภาจะช่วยเจือจางน้ำเสียในลำน้ำ และต้านทานการรุกล้ำของน้ำเค็มที่ปากแม่น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเดินทาง
การเดินทางสู่เขื่อนรัชชประภา หากเดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร ถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นระยะทางประมาณ 660 กิโลเมตร จากนั้นใช้เส้นทางสุราษฎร์ธานี-ตะกั่วป่า ระยะทาง 66 กิโลเมตร แล้วแยกขวาไปตามถนนเข้าเขื่อนอีก 14 กิโลเมตร หากเดินทางโดยรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย ก็มีบริการเดินรถจากกรุงเทพฯ ไปลงที่สถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี (ตั้งอยู่ในเขตอำเภอพุนพิน) แล้วต่อรถรับจ้างเพื่อเข้าไปยังเขื่อนระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร
สถานที่ท่องเที่ยว
จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย อาทิ
-
พระบรมธาตุไชยา
ที่วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร อำเภอไชยา ก่อนถึงตัวเมืองประมาณ 54 กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งสร้างในสมัยศรีวิชัย เมื่อประมาณ 1200 ปีมาแล้ว
-
สวนโมกขพลาราม
หรือวัดธารน้ำไหล อยู่ก่อนถึงตัวเมืองประมาณ 50 กิโลเมตรเป็นสำนักสงฆ์ที่ตั้งอยู่ในอุทยานที่สวยงามตามธรรมชาติและสงบร่มรื่น เหมาะแก่การวิปัสสนาธรรม มีศาลารวมธรรมประมวลภาพบทกวี และคติธรรมไว้จำนวนมากซึ่งเรียกว่า "โรงมหรสพแห่งวิญญาณ"
-
อุทยานแห่งชาติเขาสก
จากตัวเมืองสุราษฎร์ธานี ใช้เส้นทางสายสุราษฎร์ธานี-ตะกั่วป่า (หมายเลข 401) ถึงกิโลเมตรที่ 109 มีแยกขวามือเข้าที่ทำการอุทยานประมาณ 1.5 กิโลเมตร สภาพทั่วไปเป็นป่าทึบครอบคลุมพื้นที่กว่า 400,000 ไร่ ภายในบริเวณมีน้ำตก และถ้ำหลายแห่ง มีบริการบ้านพักสำหรับค้างแรม
-
เกาะสมุย
มีเนื้อที่ 247 ตารางกิโลเมตร มีหมู่เกาะใหญ่น้อยเรียงรายโดยรอบประมาณ 53 เกาะ เรียกว่า "อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง" เกาะสมุยอยู่ห่างจากอำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานีราว 84 กิโลเมตร เดินทางโดยเรือเร็วประมาณ 3 ชั่วโมง หรือประมาณ 2 ชั่วโมงโดยเรือเฟอรี่
-
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง
ห่างจากเกาะสมุย ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นหมู่เกาะที่มีความสวยงาม อุดมไปด้วยทรัพยากรทางทะเล เช่นปะการัง การเดินทางไปยังอุทยาน จากเกาะสมุยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที
-
วัดถ้ำสิงขร
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำพุมดวง ตำบลถ้ำสิงขร อำเภอคีรีรัฐนิคม เป็นวัดโบราณเก่าแก่มากวัดหนึ่ง สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปนั่งประทับห้อยพระบาทขนาดใหญ่ และวัตถุโบราณหลายสมัย บริเวณรอบๆ เจดีย์และผนังถ้ำมีถ้วยชามสังคโลกจำนวนมากมายฝังอยู่
-
เขาหน้าแดง
อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอพนม ประมาณ 4 กิโลเมตร จากเขาหน้าแดงท่านสามารถมองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างได้ไกล และบนเขานี้ยังมีน้ำตกที่สวยงามอีกด้วย
สรุป
เขื่อนรัชชประภา เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคใต้ สร้างความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้า และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศชาติ นอกจากนี้ยังเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ และรัชมังคลาภิเษก ในปี 2530 ซึ่งนับเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ของ กฟผ. และชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วย
https://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=2759&Itemid=117#sigFreeId157d9714b4
ตุลาคม 2561