เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2568 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน เพื่อร่วมกันส่งเสริมองค์ความรู้ พัฒนานวัตกรรม และสร้างบุคลากรด้านพลังงานรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ โดยได้รับเกียรติจาก นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ (รวย.) เป็นผู้แทน กฟผ. ร่วมลงนามกับศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี กรรมการ กฟผ. และประธานกรรมการเทคโนโลยีดิจิทัล การจัดการความรู้ และนวัตกรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ทั้ง 2 ฝ่าย และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ในนามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอขอบคุณ กฟผ. ที่ร่วมผลักดันความร่วมมือในครั้งนี้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างองค์การ จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการด้านพลังงานอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการวิจัยในมิติของชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการดำเนินงานวิจัยเชิงพื้นที่ให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจนและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงไม่เพียงแต่เพื่อการพัฒนาระบบหรือผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงเท่านั้น แต่ยังสามารถขยายผลในเชิงพาณิชย์ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการต่อยอดงานวิจัย นวัตกรรม และการพัฒนากำลังคนในอนาคต
ด้าน รศ.ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี กรรมการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ในฐานะผู้ผลิตและส่งไฟฟ้าหลักของประเทศ ได้มุ่งสนับสนุนงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งภายในองค์การและผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก โดยเฉพาะในปีนี้ กฟผ. ได้มีนโยบายขับเคลื่อนทุนวิจัยแบบ “มุ่งเป้า” เพื่อให้ได้งานวิจัยที่สอดคล้องกับพันธกิจและสามารถนำไปใช้ได้จริง
“กฟผ. มีกรอบงบวิจัยตามมติ ครม. ปีละ 1,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินการในลักษณะกระจายตัว แต่วันนี้เรามุ่งเน้นการทำงานเชิงรุกและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในพันธมิตรสำคัญ โดย กฟผ. จะสนับสนุนทุนวิจัยให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีละ 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการร่วม เพื่อกลั่นกรอง ติดตาม และประเมินผล เพื่อให้เกิดงานวิจัยที่จับต้องได้และตอบโจทย์อนาคตพลังงานของประเทศอย่างแท้จริง”
นายธวัชชัย สำราญวานิช รวย. เปิดเผยว่า กฟผ. มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนางานวิจัยอย่างจริงจัง เพื่อนำไปต่อยอดสู่การสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง กฟผ. ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการพัฒนาเทคโนโลยีหลัก (Key Technologies) อาทิ การปรับปรุงระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้ทันสมัย (Grid Modernization) ระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) Hydrogen และ CCUS (Carbon Capture, Utilization and Storage) เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าสมัยใหม่ เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) เทคโนโลยีคาร์บอนไดออกไซด์ในสถานะความร้อนยิ่งยวด เทคโนโลยีพลาสมา และฟิวชัน พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) รวมถึงงานวิจัยด้านสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และสุขภาวะของประชาชน “การวิจัยเหล่านี้จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและการใช้พลังงานของประเทศให้มีความยั่งยืน พร้อมทั้งตอบสนองต่อความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจในอนาคต” รวย. กล่าว
ทั้งนี้ กฟผ. เชื่อมั่นว่า การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะช่วยผลักดันให้เกิดผลงานวิจัยที่สามารถนำไปต่อยอดได้จริง ทั้งในเชิงวิชาการ เชิงพาณิชย์ และสร้าง “คุณค่าร่วม” (Shared Value) ให้กับชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ที่มา : EGAT Today