ข่าวประชาสัมพันธ์

กฟผ. เปิดโลกนวัตกรรมไทย สู่สายตานานาชาติ คว้า 10 รางวัลเวที IPITEx 2025

   นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ (รวย.) เปิดเผยว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ตอกย้ำบทบาทองค์กรนวัตกรรมพลังงาน ด้วยการส่งเสริมการคิดค้น พัฒนา ประดิษฐ์นวัตกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยสนับสนุนภารกิจในการรักษาความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ด้วยการส่ง 9 ผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลสร้างสรรค์จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ กฟผ. ประจำปี 2567 ร่วมโชว์ศักยภาพประกวดในเวทีนานาชาติ “2025 Bangkok International Intellectual Property, Invention, Innovation and Technology Exposition” (IPITEx 2025) และได้รับ 10 รางวัลทรงเกียรติ ได้แก่ 5 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 3 เหรียญทองแดง และ 1 รางวัลพิเศษ สร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทยบนเวทีโลก

ไฮไลต์นวัตกรรม กฟผ. คว้ารางวัลระดับสากล

             Thailand’s First Lithium Black Mass Recycling Plant การพัฒนาโรงงานต้นแบบการแยกแบล็คแมสจากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า/แบตเตอรี่อุปกรณ์ไฟฟ้าแบบขยายขนาด โดยฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม (อวน.) ได้รับรางวัลเหรียญทอง และรางวัล Outstanding Award จากประเทศสิงคโปร์

         ปัจจุบันการใช้แบตเตอรี่ลิเทียมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่มีเพียง 5% เท่านั้นที่ได้รับการจัดการและนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงและเพิ่มมากขึ้น อวน. จึงได้พัฒนากระบวนการจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วอย่างยั่งยืน เช่น การรวบรวม การทดสอบ การบด และการนำกลับมาใช้ใหม่ ผ่านกระบวนการทางเคมี ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ถึง 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับการสกัดลิเทียมจากการทำเหมืองแร่

           นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบและพัฒนาโรงงานต้นแบบสำหรับการแยก "แบล็คแมส" (Black Mass) หรือวัสดุสำคัญที่ได้จากแบตเตอรี่ลิเทียมที่หมดอายุการใช้งาน โดยติดตั้งโรงงานต้นแบบที่โรงไฟฟ้าวังน้อย เพื่อมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดปริมาณของเสียที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจการแยกแบล็คแมสที่จะสร้างรายได้กว่า 12 ล้านบาทต่อปี นับเป็นก้าวสำคัญในความพยายามส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมพลังงานและเทคโนโลยีแบตเตอรี่

          ระบบตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้งอัตโนมัติสำหรับงานสิ่งแวดล้อมควบคุมระบบด้วยไอโอที โดยโรงไฟฟ้าวังน้อย (อฟว.) ได้รับรางวัลเหรียญทอง

          โรงไฟฟ้าวังน้อย เป็นโรงไฟฟ้าที่ได้รับการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม ISO14000 ที่แรกใน กฟผ. เพราะนอกจากภารกิจด้านการผลิตไฟฟ้าแล้ว งานด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน จึงเป็นที่มาของการพัฒนาระบบตรวจสอบน้ำเสียด้วยเทคโนโลยี IoT เพื่อตรวจสอบและควบคุมน้ำเสียให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย โดยการนำอุปกรณ์ที่เหลือใช้งานกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ พร้อมกับผสานเซนเซอร์หลากหลายประเภทจนกลายเป็นระบบตรวจสอบที่ครบวงจร สามารถสื่อสารกับผู้ใช้งานได้ผ่านอินเทอร์เน็ตแบบเรียลไทม์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการดำเนินงานตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้งของโรงไฟฟ้าวังน้อย

          PulseWatch: ระบบติดตามสุขภาพกังหันก๊าซอัจฉริยะด้วย Machine Learning โดย โรงไฟฟ้าน้ำพอง (อฟพ.) ได้รับรางวัลเหรียญทอง

          ผลงานนี้ ช่วยลดความเสี่ยงในการหยุดเดินเครื่องของกังหันก๊าซ ด้วย PulseWatch ระบบตรวจสอบอัจฉริยะที่ออกแบบและพัฒนามาสำหรับกังหันก๊าซ โดยใช้เทคโนโลยี Machine Learning ขั้นสูง สามารถตรวจสอบความผิดปกติของกังหันก๊าซแบบเรียลไทม์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมฟีเจอร์แจ้งเตือนอัจฉริยะที่สามารถวิเคราะห์และระบุปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน Line นอกจากนี้ ยังมี Chatbot ที่ช่วยให้การสื่อสารระหว่างระบบและผู้ใช้งานมีประสิทธิภาพ มาพร้อมกับแดชบอร์ดบนเว็บที่ใช้งานง่าย ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบสถานะและข้อมูลเชิงลึกได้อย่างสะดวก

         นวัตกรรมนี้ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อตอบโจทย์ในการลดความเสี่ยงของการหยุดเดินเครื่อง ลดความสูญเสียทางการเงิน และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของกังหันก๊าซ นอกจากนี้ ยังรองรับการปรับขยายการใช้งานให้ครอบคลุมในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการประยุกต์ใช้งานในอนาคต

          ระบบพัฒนาตู้ควบคุมสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ (Fire Alarm Control Panel FCP, ตู้แดง) ให้เป็นแบบ Online โดย ฝ่ายปฏิบัติการเทคโนโลยีดิจิทัล (อปท.) ฝ่ายการผลิตเหมืองแม่เมาะ (อผม.)
ฝ่ายวางแผนและบริหารเหมืองแม่เมาะ (อบม.) ได้รับรางวัลเหรียญทอง

          การแจ้งเตือนของตู้ควบคุมสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ (Fire Alarm Control Panel) ในแบบเดิมจะส่งสัญญาณที่มีเสียงดังแค่ภายในอาคารเท่านั้น หากไม่มีคนอยู่ในพื้นที่อาคารจะไม่ได้ยินสัญญาณและไม่สามารถเข้าระงับเหตุได้ทันการณ์ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาตู้ควบคุมสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ด้วยฮาร์ดแวร์ที่มีต้นทุนต่ำและเชื่อถือได้ นำมาใช้พัฒนาแผงควบคุมสัญญาณเตือนไฟไหม้มาตรฐาน ช่วยให้สัญญาณแจ้งเหตุไฟไหม้ส่งต่อไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทุกที่ทุกเวลาแบบเรียลไทม์ สามารถติดตั้งร่วมกับแผงควบคุมสัญญาณเตือนฅไฟไหม้เดิม โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบหลัก นอกจากนี้ ระบบยังสามารถเก็บบันทึกข้อมูลเหตุการณ์และการแจ้งเตือนที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปวิเคราะห์และปรับปรุงมาตรการด้านความปลอดภัยในอนาคต

          ระบบควบคุมพลังงานไฟฟ้าตามช่วงเวลาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าอัตโนมัติตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า สำหรับโรงไฟฟ้า SPP โดย ฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า (อบฟ.) ฝ่ายบริหารจัดการสินทรัพย์ผลิตไฟฟ้า (อหฟ.) และ หน่วยบริหารและการเงิน โครงการเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า บริษัท หินกองเพาเวอร์ จำกัด (อค-บห.) ได้รับรางวัลเหรียญทอง

           สัญญา PPA ซื้อขายพลังงานไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าประเภท SPP ของ กฟผ. จะมีการกำหนดช่วงเวลาการเดินเครื่อง โดยแบ่งเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำ (OFF Peak) ให้โรงไฟฟ้าจ่ายพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ 59 MW และช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง (ON-Peak) ให้โรงไฟฟ้าจ่ายพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ 90 MW โดยมี Operator เป็นผู้ควบคุมหน้าจอระบบการเดินเครื่องตามเวลาที่ตั้งไว้ ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิด Human Error ได้

ระบบควบคุมพลังงานไฟฟ้าตามช่วงเวลาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าอัตโนมัติตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า สำหรับโรงไฟฟ้า SPP (Automatic MW Control During ON/OFF Peak System) จึงถูกคิดค้นขึ้นเพื่อพัฒนาการดำเนินงานด้วยการสร้างระบบควบคุมใหม่ เพื่อให้ Operator ป้อนข้อมูลตามแผนการเดินเครื่องในแต่ละเดือน จากนั้นปรับ Control Logic Program ให้ชาญฉลาดมากขึ้น โดยผู้ควบคุมจะคิดและประมวลผลเปรียบเทียบแผนกับเวลามาตรฐานโลก ให้โรงไฟฟ้าสามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้าได้อย่างอัตโนมัติ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลังงาน ลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการตอบสนองที่ล่าช้า และเพิ่มความสามารถในการตอบสนองต่อความผันผวนของความต้องการใช้ไฟฟ้า นวัตกรรมนี้จึงเหมาะสมสำหรับการใช้งานในยุคที่การจัดการพลังงานมีความซับซ้อนมากขึ้น

          ระบบบริหารจัดการพลังงาน โรงไฟฟ้า-ไฮบริด พลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ กฟผ. โดย ฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า (อบฟ.) ได้รับรางวัลเหรียญเงิน

        ระบบบริหารจัดการพลังงาน หรือ Energy Management System (EMS) ถูกออกแบบมาเพื่อบูรณาการแหล่งพลังงานหลายประเภท เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำและระบบกักเก็บพลังงาน Battery Energy Storage System (BESS) ให้ทำงานร่วมกันเป็นระบบเดียว โดยให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนพร้อมกับรักษาเสถียรภาพของโครงข่ายไฟฟ้า ซึ่งในช่วงเวลากลางวันจะใช้พลังงานหลักจากแผงโซลาร์เซลล์ ส่วนพลังน้ำและ BESS ทำหน้าที่เสริมตามความจำเป็น สำหรับในช่วงกลางคืนหรือช่วงที่การผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ต่ำ ระบบจะใช้พลังน้ำและ BESS เพื่อให้มั่นใจว่าการจ่ายพลังงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการพัฒนา EMS จะช่วยตอบสนองต่อผู้ใช้งานโดยตรง และต่อยอดการดำเนินงานของ กฟผ. รองรับโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำของ กฟผ. ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

EMS มีการประมวลผลข้อมูลแบบเรียลไทม์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกลยุทธ์การจ่ายพลังงาน โดยมีระบบการทำงานหลัก 5 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบ Manual รูปแบบตั้งเวลา รูปแบบการรักษาความเสถียรของกำลังผลิต รูปแบบลดความต้องการพลังงานสูงสุด และรูปแบบปรับความราบรื่นของพลังงานแสงอาทิตย์

           ชุดทำความสะอาดเกลียวแบบพกพา โดย ฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล (อบค.) ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง

          ชุดทำความสะอาดเกลียวแบบพกพา เป็นนวัตกรรมที่ออกแบบมาเพื่อยกระดับการทำความสะอาดของอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนประเภทนอตและสกรูจำนวนมาก ทำให้ต้องใช้แรงงานคนและเวลาทำความสะอาดค่อนข้างมาก สิ้นเปลืองทรัพยากร และเสี่ยงต่อการเกิดความผิดพลาดที่อาจส่งผลต่อคุณภาพของงาน ชุดทำความสะอาดเกลียวแบบพกพาจึงเข้ามาช่วยลดความยุ่งยากในกระบวนการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำ ลดขั้นตอนการทำงานที่ซับซ้อน ช่วยประหยัดเวลาและทรัพยากร ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาคุณภาพของผลลัพธ์ให้ได้มาตรฐาน เหมาะสำหรับงานบำรุงรักษากังหันก๊าซที่ต้องการความแม่นยำสูง

               โครงการปรับปรุงระบบ Circulating Water เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 โดย โรงไฟฟ้าวังน้อย (อฟว.) ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง

          ในช่วงที่โรงไฟฟ้าหยุดเดินเครื่อง (Reserved Shutdown Period) ระบบหล่อเย็นถือเป็นส่วนที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 75% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดของโรงไฟฟ้า โดยภายในระบบหล่อเย็นมีการใช้งานปั๊มน้ำหมุนเวียน (Circulating Water Pump - CWP) ขนาด 1,500 กิโลวัตต์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีการใช้พลังงานสูงมาก อฟว. จึงได้ติดตั้งระบบกรองน้ำพร้อมปรับเปลี่ยนปั๊มน้ำ เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในระบบหล่อเย็น โดยการดำเนินการ 2 ขั้นตอน ได้แก่ ติดตั้งท่อเหล็กขนาด 12 นิ้ว เชื่อมระบบกรองน้ำของบ่อพักน้ำในหอหล่อเย็นเข้ากับระบบหมุนเวียนน้ำ และเปลี่ยนมาใช้ปั๊มกรองน้ำแทนปั๊มน้ำหมุนเวียน

โครงการนี้ ได้เริ่มใช้งานตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2567 สามารถลดพลังงานไฟฟ้าช่วงที่โรงไฟฟ้าหยุดเดินเครื่องได้ดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 50% ช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ถึง 2.5 ล้านบาท และยังต่อยอดให้กับระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้า Combined Cycle ได้

          สายทองแดงถักนำกระแสแบบใหม่ เพื่อยืดอายุ OLTC ยี่ห้อ Trafo-Union, Fuji โดย ฝ่ายบริหารจัดการสินทรัพย์ระบบส่ง (อหส.) ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง

          สายทองแดงถักนำกระแสแบบใหม่ ถูกออกแบบมาใช้ในการบำรุงรักษาอุปกรณ์ปรับแรงดันไฟฟ้า หรือ On Load Tap Changer (OLTC) ที่ทำหน้าที่สลับตำแหน่งใช้งานของขดลวด (Tap) เพื่อควบคุมคุณภาพแรงดันไฟฟ้า โดยไม่จำเป็นต้องปลดหม้อแปลงออกจากระบบ ทำให้จ่ายกระแสไฟฟ้าได้ต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก โดยสายทองแดงถักจะเป็นสะพานไฟชั่วคราวเพื่อนำกระแสไฟฟ้า ช่วยลดความเสี่ยงที่อาจทำให้อุปกรณ์เสียหาย ซึ่งหากเกิดความเสียหายและไม่สามารถหาอุปกรณ์ใหม่มาใช้ทดแทนได้ จะต้องทำการเปลี่ยน OLTC ใหม่ทั้งชุด และยังทำให้ กฟผ. สูญเสียโอกาสในการจ่ายไฟเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 - 4 เดือน นอกจากนี้ สายทองแดงถักนำกระแสแบบใหม่ ยังช่วยสนับสนุนการดำเนินงานที่ยั่งยืนด้วยการลดการใช้ทรัพยากรในกระบวนการบำรุงรักษาและซ่อมแซมอีกด้วย

       เวที IPITEx 2025 นับเป็นโอกาสสำคัญที่นวัตกรไทยได้นำเสนอผลงานสร้างสรรค์สู่สาธารณะ ซึ่ง 9 ผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของ กฟผ. ได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ด้วยการคว้ารางวัลระดับประเทศและนานาชาติ ตอบโจทย์ทั้งด้านพลังงาน เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ กฟผ. ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตพลังงานที่ยั่งยืน พร้อมสร้างชื่อเสียงให้กับวงการนวัตกรรมไทยในเวทีระดับโลก

ที่มา : EGAT Today

ผู้รับผิดชอบข้อมูล : ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม

ผู้ดูแลเว็บไซต์ : ปิยะ โรจน์ฤทธิไกร

ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ชั้น 10 อาคาร  ท.103

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
53 หมู่ 2 ถ.จรัญสนิทวงศ์ ต.บางกรวย อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

009307
Today: 9
This Week: 128
This Month: 1,442
Total: 9,307