กฟผ. โชว์ต้นแบบแล็บทดสอบ EV Charger กำลังสูง หนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ พร้อมนวัตกรรมระบบจำแนกตรวจติดตามฝุ่น PM2.5 การพัฒนาวัตถุพลอยได้ผลิตแผ่นยิปซัม และนวัตกรรมด้านพลังงาน ตอกย้ำความมุ่งมั่นดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม ร่วมจัดแสดงภายในงาน NAC2025 ตั้งแต่วันนี้–28 มีนาคม 2568
![]() |
![]() |
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ (ชยน.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำทีมนักประดิษฐ์ กฟผ. ร่วมนำเสนอผลงานนวัตกรรมในการจัดการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 20 (NAC2025) ระหว่างวันที่ 26–28 มีนาคม 2568 ซึ่งจัดโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อร่วมสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาประเทศด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างยั่งยืน ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
นายวฤต รัตนชื่น ชยน. กล่าวว่า การพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านงานวิจัยและนวัตกรรมถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคตอย่างยั่งยืน โดยในปีนี้ กฟผ. ได้นำ 5 ผลงานนวัตกรรมที่ร่วมพัฒนากับ สวทช. ซึ่งมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิต ดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม มาร่วมจัดแสดงภายในงาน NAC2025 ได้แก่
- การเพิ่มขีดความสามารถในการทดสอบสถานีประจุไฟฟ้ายานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรฐาน IEC61851 ขนาด 150 กิโลวัตต์ โดยยกระดับแล็บทดสอบอุปกรณ์อัดประจุรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) กำลังสูง จากเดิมที่สามารถทดสอบได้เพียง 60 กิโลวัตต์ เป็น 150 กิโลวัตต์ รวมถึงแบตเตอรี่ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์ไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่
- การพัฒนาระบบจำแนกตรวจติดตามฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และมลภาวะทางอากาศ เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในพื้นที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง โดยวิเคราะห์คุณสมบัติของฝุ่นละอองในอากาศเปรียบเทียบจากบริเวณแหล่งกำเนิด อาทิ แหล่งเผาไหม้จากเชื้อเพลิงชีวมวล ยานพาหนะ เหมืองถ่านหินลิกไนต์ เหมืองหินปูนและจุดทิ้งเถ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ และโรงงานผลิตเซรามิก และรายงานผลแบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชัน AIRDetector
- การพัฒนาเอฟจีดีปลาสเตอร์เพื่อใช้ผลิตแผ่นยิปซัมประเภททั่วไป เป็นการนำวัตถุพลอยได้จากการผลิตไฟฟ้ามาใช้ประโยชน์ ลดปัญหาฝุ่นละอองและสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ยิปซัมธรรมชาติ
- การพัฒนาระบบทำความสะอาดหม้อน้ำเพื่อรองรับถ่านหินที่มีปริมาณแคลเซียมสูง ลดความสูญเสียจากการลดกำลังผลิตไฟฟ้าประมาณ 10 ล้านบาทต่อปี
- ระบบตรวจสุขภาพเขื่อน เพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนโดยใช้ระบบเสมือนผู้เชี่ยวชาญช่วยในการวิเคราะห์ความปลอดภัยของเขื่อนตลอด 24 ชั่วโมง
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
นอกจากนี้ กฟผ. ยังนำสินค้าจากชุมชนโดยรอบ กฟผ. ร่วมจัดแสดงภายในงาน อาทิ วิสาหกิจชุมชนแปรรูปมะละกอปักไม้ลายและกาแฟช้างป่า จ.กาญจนบุรี วิสาหกิจชุมชนภู่ไท และกลุ่มรัก 9 ชุมชนวัดบางโปรง จ.สมุทรปราการ และวิสาหกิจชุมชน สวนผึ้งปลวกแดง จ.ระยอง เพื่อส่งเสริมการสร้างรายได้ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างยั่งยืน
ที่มา : EGAT Today