การพัฒนาชุมชนและสังคม

ด้วยตระหนักว่าภารกิจหลักในการผลิตและส่งไฟฟ้า ซึ่งครอบคลุมถึงการก่อสร้างและขยายโรงไฟฟ้า สายส่งไฟฟ้า และสถานีไฟฟ้าแรงสูง รวมไปถึงการทำเหมืองถ่านหิน อาจสร้างความกังวลใจหรือ
ผลกระทบต่อชุมชนได้ กฟผ. จึงให้ความสำคัญกับการสานสัมพันธ์กับชุมชน การประเมินผลกระทบต่อชุมชน และการร่วมพัฒนาชุมชนและสังคมในภาพรวม

เป้าหมายปี 2567 ผลการดำเนินงาน
● โครงการที่มีผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment: SROI) มากกว่า 2 เท่า มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 40 ของโครงการพัฒนาชุมชนที่สำคัญที่ทำการประเมิน● มีโครงการที่มีผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน มากกว่า 2 คิดเป็นร้อยละ 40 ของโครงการพัฒนาชุมชนที่สำคัญที่ทำการประเมิน

การสานสัมพันธ์กับชุมชน

กฟผ. ดำเนินการสานสัมพันธ์กับชุมชนผ่านการพูดคุย ร่วมประชุมหารือ สานเสวนา และศึกษาดูงานเชิงประจักษ์ ฯลฯ เพื่อสื่อสารชี้แจงสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของ กฟผ. แก่ชุมชน และเพื่อรับฟังความคิดเห็น ความต้องการ แลความกังวลของชุมชนที่ได้รับหรืออาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของ กฟผ. และหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจทัศนคติของชุมชน
ต่อ กฟผ. อาทิ ทัศนคติด้านการรับรู้และเข้าใจความจําเป็นของการพัฒนาโครงการ ด้านการรับรู้และเข้าใจรายละเอียดการพัฒนาโครงการ และด้านการดําเนินงานของ กฟผ. รวมถึงความพึงพอใจในการร่วมกิจกรรม เพื่อนําข้อมูลที่ได้ไปใช้ปรับปรุงกระบวนการดําเนินงานต่อไป

การประเมินผลกระทบ

กฟผ. มีการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยใช้หลักวิชาการในการคาดการณ์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาโครงการที่อาจมีผลต่อทรัพยากร เศรษฐกิจ สังคม และสุุขภาพ เพื่อหาแนวทางป้องกัน รวมทั้งเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการ ทั้งในระยะก่อสร้างและระยะดำเนินการ

การจัดการผลกระทบ [413-2]

กฟผ. มีการบริหารจัดการผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์การที่มีต่อชุมชน อาทิ

กรณีชุมชนในพื้นที่ที่โครงการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าพาดผ่าน กฟผ. มีนโยบายให้ดำเนินการจัดประชุมเผยแพร่ข้อมูลการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่เจ้าของที่ดินและทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่น ก่อนการดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมาย รวมทั้งดำเนินการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินและทรัพย์สิน ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และเงินช่วยเหลือแก่เจ้าของที่ดินและทรัพย์สินที่ได้รับผลกระทบ ตามระเบียบ กฟผ. ว่าด้วย การพิจารณาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและระบบโครงข่ายไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังมีการจัดสรรงบประมาณสำหรับสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่ชุมชนริเริ่มดำเนินการ การสร้างและปรับปรุงสาธารณูปโภคพื้นฐานหรืออุปกรณ์เพื่อใช้ประกอบกิจกรรมภายในชุมชน และ
การสนับสนุนการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมในแต่ละท้องที่

กรณีชุมชนในพื้นที่เหมืองถ่านหิน กฟผ. ได้ทำการควบคุมผลกระทบจากแหล่งกำเนิด เพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ โดยมีการกำหนดมาตรการควบคุมคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ฝุ่น กลิ่น เสียง
แรงสั่นสะเทือน และคุณภาพน้ำอย่างเคร่งครัด ซึ่งผลการตรวจติดตามพบว่ามีผลการตรวจวัดอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดและเกณฑ์ควบคุมของ กฟผ. ซึ่งเข้มงวดกว่าเกณฑ์กฎหมาย รวมทั้งมีแผนงาน
เพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมผลกระทบสิ่งแวดล้อมในทุก ๆ ด้าน ตลอดอายุประทานบัตร นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนชุมชนพื้นที่โดยรอบเข้าร่วมตรวจวัดด้านสิ่งแวดล้อมกับ กฟผ. และมีการสำรวจความ
เชื่อมั่นและความไว้วางใจในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของเหมืองแม่เมาะ ซึ่งผลการสำรวจพบว่า ชุมชนมีระดับความเชื่อมั่นและความไว้วางใจดีกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

การอพยพย้ายถิ่นฐาน [Former EU20, EU22]

กฟผ. ดำเนินการตามแนวทางแก้ไขปัญหาราษฎร 5 หมู่บ้านในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 โดยการอพยพราษฎร 5 หมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดลำปาง ได้แก่ บ้านหัวฝายหมู่ 1 บ้านดง หมู่ 2 บ้านสวนป่าแม่เมาะ หมู่ 7 และบ้านหัวฝายหลายทุ่ง หมู่ 8 ตำบลบ้านดง และบ้านห้วยคิง หมู่ 6 ตำบลแม่เมาะ เป็นไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรจากการ
ทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ของ กฟผ. ซึ่งมีแผนงานระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 – 2568 และมีผู้ได้รับผลกระทบจากการอพยพย้ายถิ่นฐานจำนวน 1,458 ราย ทั้งนี้ การอพยพดังกล่าวเป็นการอพยพ
โดยความสมัครใจ หากมีผู้ใดไม่ต้องการอพยพ ผู้นั้นยังสามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมได้ โดยให้จัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่าง กฟผ. กับราษฎรที่ยืนยันไม่ต้องการอพยพ เพื่อเป็นการยอมรับร่วมกัน ส่งผลให้ในปี 2567 มีราษฎรผู้อพยพ เหลือจำนวน 1,311 ราย ยกเลิกการอพยพ จำนวน 147 ราย

สำหรับการดำเนินการเพื่อรองรับการอพยพ มีการอนุมัติจ่ายเงินค่าทดแทนและทรัพย์สินของราษฎรอพยพ 5 หมู่บ้าน โดยใช้อัตราราคาตามมาตรฐานของกรมชลประทาน ตามประกาศคณะกรรมการ
ดำเนินการอยพราษฎร 5 หมู่บ้าน รวม 7 ครั้ง จำนวน 900 ราย โดย ณ ปี 2567 สามารถจ่ายให้ผู้อพยพได้ จำนวน 894 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 99.66 ส่วนอีก 6 ราย อยู่ระหว่างการดำเนินการพิจารณาตาม
ขั้นตอนของกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีการจัดสรรที่ดินให้กับราษฎรอพยพ การก่อสร้างสาธาณูปโภคและสาธารณูปการที่จำเป็น การส่งเสริมการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม และการจัดให้มีโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในพื้นที่

การพัฒนาชุมชน

กฟผ. มีโครงส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ อาทิ

โครงการชีววิถี กฟผ.

กฟผ. ได้พัฒนาต่อยอดชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางชีววิถี กฟผ. ให้มีการยกระดับจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อให้สมาชิกชุมชนมีรายได้ที่มั่นคงอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสามารถสร้างผลผลิตที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาด (มาตรฐานเกษตรอินทรีย์) และสร้างอาหารปลอดภัย อันเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ของ กฟผ. โดยในปี 2567 ได้มีการประเมินศักยภาพชุมชน พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการจัดตั้งและจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ชีววิถีบ้านทับไทร จังหวัดกระบี่ วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ชีววิถีชุมชนเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ชีววิถีบ้านแม่ลัว จังหวัดแพร่ วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ชีววิถีบ้านคลองท่อมใต้ จังหวัดกระบี่ และวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ชีววิถีชุมชนสุรัษฎาภิรมย์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

โครงการ โคก หนอง นา โมเดล วิถีใหม่ สู่การพัฒนาเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน

กฟผ. บูรณาการการขับเคลื่อนโครงการ โคก หนอง นา โมเดล วิถีใหม่ สู่การพัฒนาเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน ร่วมกับเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติระดับลุ่มน้ำพื้นที่ 7 เขื่อน พระนาม 3 โรงไฟฟ้า โดยศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กฟผ. ทั้ง 10 แห่ง ได้จัดอบรมให้แก่เยาวชน ประชาชน ชุมชนและเครือข่ายรอบพื้นที่ และขยายผลสู่ระดับลุ่มน้ำทั่วประเทศ ภายในปี 2567 จำนวนทั้งสิ้น 1,374 คน มีผู้ต่อยอด 405 คน คิดเป็นร้อยละ 29.5 และได้จัดทำโมเดลพื้นที่/ชุมชน/บุคคลต้นแบบความสำเร็จจากการประยุกต์ใช้ทฤษฎีโคก หนอง นา โมเดลวิถีใหม่ รวมจำนวน 10 โมเดล (สะสม)

โครงการนวัตกรรมปันแสง: กิจการเพื่อสังคมแนวสายส่งภาคอีสาน

กฟผ. และชุมชนหมู่บ้านโนนยาง ตำบลขวาว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมกันปรับเปลี่ยนพื้นที่ในบริเวณใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงสู่การเป็นพื้นที่ทำการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยมีการพัฒนาระบบเกษตรอัจฉริยะด้วยโรงเรือนโซลาร์เซลล์กึ่งใสและระบบสูบน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับใช้ในแปลงเกษตร สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพิ่มคุณภาพของผลผลิตพืืชเศรษฐกิิจ จนกลายเป็นวิสาหกิจชุมชนที่มีความมั่นคง เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในชุมชนและลดจำนวนป่าเสื่อมสภาพในพื้นที่ใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง

โดยในปี 2567 มีการต่อยอดการพัฒนาสู่การจดแจ้งเป็นกลุ่มกิจการเพื่อสังคม เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และขีดความสามารถในการแข่งขันโดยยังคงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ด้วยการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรซึ่งใช้วัตถุดิบหรือทรัพยากรในชุมชน ได้แก่ ผักเคลผง มันเทศทอดกรอบ และน้ำนมข้าวโพด ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรปลูกพืชผักใต้แนวเขตไฟฟ้าแรงสูงบ้านโนนยาง”

การประเมินผลโครงการพัฒนาชุมชน

ในปี 2567 กฟผ. มีการประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนของโครงการพัฒนาชุมชนที่สำคัญ อาทิ โครงการชีววิถีเพื่อความยั่งยืนพื้นที่บ้านควน จังหวัดกระบี่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่เขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี โครงการ Energy Management Systems โครงการเกษตรอินทรีย์ และโครงการเพิ่มมูลค่าขยะอินทรีย์ด้วยหนอนแมลงวันลายฯ โดยสัดส่วนของโครงการพัฒนาชุมชนที่มีผลประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนมากกว่า 2 เท่า อยู่ที่ร้อยละ 40 ของโครงการที่ประเมินทั้งหมด

การดำเนินงานด้านชุมชน [413-1]
รายการ  ปี 2567ปี 2566ปี 2565 
 ความครอบคลุมของพื้นที่ปฏิบัติการ (ร้อยละ)  100 100 100