ความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทาน
การดำเนินงานของ กฟผ. มีความเกี่ยวข้องกับคู่ค้า ผู้รับเหมา และพันธมิตรทางธุรกิจที่หลากหลาย ดังนั้น การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของห่วงโซ่อุปทานให้มีการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบและคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสนับสนุนผู้ส่งมอบในท้องถิ่นผ่านกระบวนการจัดหาวัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์การและสังคมในภาพรวมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
เป้าหมายปี 2567 | ผลการดำเนินงาน |
● คู่ค้าในประเทศรับทราบจรรยาบรรณคู่ค้า กฟผ. ร้อยละ 100 | ● คู่ค้าในประเทศรับทราบจรรยาบรรณคู่ค้า กฟผ. ร้อยละ 100 |
กฟผ. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและการมีส่วนร่วมในการเพิ่มศักยภาพให้กับคู่ค้า ผู้รับเหมา และพันธมิตรทางธุรกิจ ให้มีการดําเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ลดผลกระทบเชิงลบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสนับสนุนผู้ส่งมอบในท้องถิ่นทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจในท้องถิ่นให้มีเสถียรภาพและสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนท้องถิ่น ผ่านการบริหารจัดการและกลไกการจัดซื้อจัดจ้าง ที่มุ่งส่งเสริมและผลักดันให้เกิดความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานของ กฟผ. โดยในปี 2567 มีการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้
จรรยาบรรณคู่ค้า กฟผ.
กฟผ. มีการจัดทำและประกาศใช้จรรยาบรรณคู่ค้า ซึ่งมีเนื้อหาและขอบเขตอยู่ภายใต้ข้อกำหนด ข้อบังคับ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติสำหรับคู่ค้าของ กฟผ. อันครอบคลุมถึงคู่ค้าและผู้รับเหมาทั้งหมด ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจกับ กฟผ. เพื่อให้คู่ค้าของ กฟผ. มีแนวปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาล คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแลกิจการที่ดี ปฏิบัติตามกฎหมาย และเคารพหลักสิทธิมนุษยชน
ข้อกำหนดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
กฟผ. กำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่าตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป มีการระบุข้อกำหนดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนหรือที่ผ่านการประเมินด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งในปี 2567 มีการจัดซื้อจัดจ้างฯ ที่มีการระบุ
ข้อกำหนดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนหรือที่ผ่านการประเมินด้านสิทธิมนุษยชน ร้อยละ 100 นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอเรื่องสิทธิมนุษยชนในกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคู่ค้าและ กฟผ. ประจำ
ปี 2567
หลักธรรมาภิบาลของผู้ประกอบการ
กฟผ. มีการประเมินหลักธรรมาภิบาลของผู้ประกอบการเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่เป็นคู่สัญญากับ กฟผ. ปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาและหลักธรรมมาภิบาลอย่างเคร่งครัด โดย กฟผ. จะดำเนินการ
เก็บรวบรวมข้อมูลการละเมิดหลักธรรมาภิบาล ได้แก่ (1) การปลอมแปลงเอกสาร (2) การขัดขวางการแข่งขันที่เป็นธรรม (3) การเป็นผู้เสนอราคาที่ถูกคัดเลือกแล้วแต่ไม่ยอมทำสัญญาภายในเวลาที่ กฟผ. กำหนด โดยไม่มีเหตุผลสมควร (4) การไม่ปฏิบัติตามสัญญา และ (5) การละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ผู้ประกอบการใช้แรงงานสตรีทำงานในประเภทงานที่ห้ามใช้แรงงานสตรี อาทิ งานเหมืองแร่หรืองานก่อสร้างที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ ในอุโมง หรือใช้แรงงานเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยหากพบว่ามีการละเมิดหลักธรรมาภิบาลข้อ (1) – (4) จะพิจารณาลงโทษให้เป็นผู้ทิ้งงาน และในกรณีละเมิดหลัก
ธรรมาภิบาลข้อ (5) กฟผ. จะแจ้งผู้ประกอบการเพื่อให้ปรับปรุงแก้ไข หากไม่มีการแก้ไข จะแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามที่เห็นสมควร
นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีการกำกับการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดซื้อจัดจ้าง จรรยาบรรณผู้ปฏิบัติงานด้านจัดซื้อจัดจ้าง และข้อกำหนดด้านการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรมอย่างเคร่งครัด รวมถึงมีการสื่อสารนโยบาย จรรยาบรรณ แนวปฏิบัติ และการจัดการข้อเสนอแนะและข้อร้องเรียนแก่คู่ค้าเพื่อสร้างการรับรู้และความเชื่อมั่นของคู่ค้าต่อการจัดซื้อจัดจ้างของ กฟผ. ส่งผลให้ในปี 2567 ไม่พบข้อร้องเรียนงานจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุด้านความโปร่งใสที่ตรวจสอบแล้วมีมูล และมีผลสำรวจความพึงพอใจของคู่ค้าประจำปี 2567 ในด้านการจัดซื้อจัดจ้างของ กฟผ. สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดคือร้อยละ 80
สัดส่วนของค่าใช้จ่ายกับผู้ส่งมอบในท้องถิ่น
พื้นที่ | ปี 2567 | ปี 2566 | ปี 2565 | |||
มูลค่า (ล้านบาท) | ร้อยละ | มูลค่า (ล้านบาท) | ร้อยละ | มูลค่า (ล้านบาท) | ร้อยละ | |
ต่างประเทศ | 5,597.90 | 21.05 | 49,406.73 | 51.10 | 7,465.56 | 18.77 |
ในประเทศ | 20,991.17 | 78.95 | 47,283.37 | 48.90 | 32,314.62 | 81.23 |
– ส่วนกลาง | 15,828.62 | 59.53 | 41,170.34 | 42.58 | 26,854.77 | 67.51 |
– ส่วนภูมิภาค | 5,162.55 | 19.42 | 6,113.03 | 6.32 | 5,459.85 | 13.73 |
รวม | 26,589.07 | 100 | 96,690.10 | 100 | 39,780.18 | 100 |
หมายเหตุ
- ร้อยละของงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างท้องถิ่น คำนวณเทียบกับงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดขององค์กรในรอบปี
- ต่างประเทศ หมายถึง สถานประกอบการของคู่สัญญาที่มีที่ตั้ง ณ ต่างประเทศ
- ในประเทศ หมายถึง สถานประกอบการของคู่สัญญาที่มีที่ตั้งในประเทศ
- ส่วนกลาง หมายถึง สถานประกอบการของคู่สัญญาที่มีที่ตั้งในเขตกรุงเทพและปริมณฑล
- ส่วนภูมิภาค หมายถึง สถานประกอบการของคู่สัญญาที่มีที่ตั้งนอกเขตกรงุเทพและปริมณฑล