ความหลากหลายทางชีวภาพ
กฟผ. ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและมุ่งรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากการดำเนินการของ กฟผ. อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น การสูญเสียพื้นที่ตามธรรมชาติที่เป็นแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย และขยายพันธุ์ของทั้งพืชและสัตว์ จากการเปิดพื้นที่สร้างโครงการใหม่และการเปิดหน้าดินเพื่อการทำเหมืองเปิด การสูญเสียสัตว์น้ำและสัตว์น้ำวัยอ่อนในแหล่งน้ำ จากการสูบน้ำเข้าเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตและหล่อเย็นของโรงไฟฟ้า และการแบ่งแยกพื้นที่อาศัยของสัตว์ป่าจากแนวสายส่งที่พาดผ่านเขตป่า [304-2]
การบริหารจัดการ
กฟผ. มีการดำเนินงานเพื่อป้องกัน อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ในทุกขั้นตอนของการดำเนินโครงการ ดังนี้
- ก่อนเริ่มโครงการ : มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการโรงไฟฟ้า เขื่อน เหมือง และพื้นที่บริเวณเขตสายส่ง โดยมอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ดำเนินการศึกษาความหลากหลายของชนิดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ สถานภาพของสัตว์ป่าตามกฎหมาย รวมถึงทรัพยากรชีวภาพในน้ำบริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติที่อยู่ใกล้พื้นที่โครงการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์ผลกระทบและกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อทรัพยากรชีวภาพจากการดำเนินงานของโครงการ อีกทั้ง ยังมีการจัดประชุมชี้แจงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อนการดำเนินโครงการอยู่เสมอ
- ระหว่างดำเนินโครงการ : มีการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการติดตามแนวโน้มและเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรชีวภาพเป็นประจำทุกปี และมีกิจกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ต่าง ๆ ของ กฟผ. รวมถึงพื้นที่ป่าธรรมชาติของประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีการจัดประชุมไตรภาคี เพื่อรายงานผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและด้านความหลากหลายทางชีวภาพของ กฟผ. ให้กับหน่วยงานราชการและผู้นำชุมชนทราบเป็นประจำ ปีละ 1-2 ครั้ง ตามมาตรการที่โครงการกำหนด
กฟผ. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อบูรณาการการดำเนินงานและองค์ความรู้ทางวิชาการ รวมทั้งสร้างบุคลากรที่มีประสิทธิภาพระหว่าง 2 หน่วยงาน อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาและต่อยอดการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพต่อไปในอนาคต โดยภายใต้ MOU ดังกล่าว กฟผ. ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ ตามพื้นที่โครงการของ กฟผ. เพื่อขยายคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย (TH-Bif) ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ กฟผ. ยังดำเนินโครงการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการส่งเสริมความตระหนักรู้ผ่านกิจกรรมที่สำคัญในปี 2567 อาทิ กิจกรรม Bird walk เขื่อนศรีนครินทร์ ถิ่นนกเงือก กิจกรรมกรรมค่ายผู้นำเยาวชนอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (EGAT Biodiversity Rangers) รุ่นที่ 2 รู้รักษ์พิทักษ์ชายเลน และกิจกรรมสร้างความตระหนักร่วมกับเครือข่าย เช่น เครือข่ายเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าพระนครเหนือและเครือข่ายเทพศิรินทร์นนท์รักษ์สิ่งแวดล้อม สนับสนุนกิจกรรมการติดตั้งและทำความสะอาดรังเทียมนกแก้วโม่งที่วัดสวนใหญ่ อำเภอบางกรวย และวัดอัมพวัน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
พื้นที่อนุรักษ์ [304-1]
หนึ่งในพื้นที่ดำเนินงานของ กฟผ. ได้แก่ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ตั้งอยู่ในเขตที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ บริเวณป่าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการสงวนและคุ้มครองดูและรักษา หรือบำรุงป่าไม้ สัตว์ป่า ต้นน้ำ ลำธาร และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีและกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเท่านั้น แต่ได้รับการยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองรวม และได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ในเขตป่าที่คณะรัฐมนตรีมติให้รักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ในการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าและเหมืองแร่ลิกไนต์แม่เมาะได้
กฟผ. ดำเนินการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้านสัตว์ป่า ในพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 8-9 ในรัศมี 5 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเหมืองแร่ลิกไนต์แม่เมาะ พื้นที่ป่าไม้ตามธรรมชาติ และพื้นที่ชุมชน เพื่อให้ทราบถึงจำนวน ชนิด และความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่าในพื้นที่ โดยพื้นที่ศึกษาประกอบด้วย 4 พื้นที่หลัก ได้แก่ (1) พื้นที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ บริเวณโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 (2) พื้นที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเหมืองแร่ลิกไนต์แม่เมาะ บริเวณพื้นที่ทิ้งดินชั้นล่างผ่านการฟื้นฟูของเหมืองแร่ลิกไนต์แม่เมาะ (3) พื้นที่ป่าไม้ตามธรรมชาติ บริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่จาง (4) พื้นที่ชุมชน บริเวณอ่างเก็บน้ำแม่เมาะ
จากการสำรวจสัตว์ป่า บริเวณโรงไฟฟ้าแม่เมาะ พบสัตว์ป่าที่มีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 จำนวน 162 ชนิด เป็นสัตว์เลื้อยคลาน 2 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 8 ชนิด และนก 152 ชนิด และเมื่อพิจารณาสถานภาพการถูกคุกคามในประเทศไทย ซึ่งจัดสถานภาพโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และพิจารณาสถานภาพการถูกคุกคามในระดับโลก (IUCN Red List of Threatened Species) พบข้อมูลดังนี้
- สถานภาพการถูกคุกคามในประเทศไทย : พบสัตว์ป่าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนการถูกคุกคามในประเทศไทย โดยจัดอยู่ในกลุ่มชนิดมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) 2 ชนิด ได้แก่ นกปรอดหัวโขน และนกอ้ายงั่ว มีแนวโน้มใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened) 3 ชนิด ได้แก่ เหยี่ยวปีกแดง เหยี่ยวเพเรกริน และนกกระติ๊ดสีอิฐ และกลุ่มชนิดที่เป็นกังวลน้อยที่สุด (Least Concern) โดยพบจำนวนมากในธรรมชาติ และมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ต่ำ 184 ชนิด แบ่งเป็น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 8 ชนิด นก 150 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 12 ชนิด และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 14 ชนิด
- สถานภาพการถูกคุกคามในระดับโลก (IUCN Red List of Threatened Species) : พบสัตว์ป่าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามการจัดสถานภาพอนุรักษ์สัตว์ป่าของ IUCN โดยจัดอยู่ในกลุ่มมีแนวโน้มใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened: NT) 1 ชนิด ได้แก่ นกอ้ายงั่ว และกลุ่มที่เป็นที่กังวลน้อยที่สุด (Least Concern: LC) 189 ชนิด แบ่งเป็น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 8 ชนิด นก 156 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 12 ชนิด และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 13 ชนิด [304-4]
นอกจากนี้ กฟผ. ยังดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแม่เมาะอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็น 3 ด้าน ได้แก่ การปลูกป่าทดแทน จัดทำพื้นที่กักเก็บน้ำ และพัฒนาพื้นที่เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและแหล่งท่องเที่ยว เช่น สวนพฤกษชาติและพิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษาเหมืองแม่เมาะ [304-3]