การลดก๊าซเรือนกระจกระดับโครงการ

กองทุนนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมทำความเย็น (EGAT Cooling Innovation Fund: CIF)

ความเป็นมา
เพื่อเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (Thailand Refrigeration and Air Conditioning Nationally Appropriate Mitigation Action หรือ RAC NAMA) ซึ่ง กฟผ. และ GIZ ได้ดำเนินโครงการสำเร็จไปในเดือนมีนาคม 2564 จึงทำการส่งมอบเงินคงเหลือจากกองทุน RAC NAMA ให้ กฟผ. บริหารจัดการเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมที่ยั่งยืนและผลักดันอุตสาหกรรมการทำความเย็น สู่การใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูง ด้วยสารทำความเย็นธรรมชาติที่มีค่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อน (Global Warming Potential: GWP) ต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มสารทำความเย็นสังเคราะห์ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน รวมถึงสนับสนุนประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) และมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality)

วัตถุประสงค์
เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมที่ยั่งยืนและการผลักดันตลาดไปสู่เทคโนโลยีการทำความเย็นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงโดยใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ

โครงการที่เข้าข่ายได้รับการสนับสนุนจากกองทุน CIF

  1. โครงการเทคโนโลยีการทำความเย็นและการใช้สารทำความเย็น
  2. โครงการเทคโนโลยีการทำความเย็นทางเลือก เช่น การทำความเย็นแบบดูดซับ การทำความเย็นจากพลังงานแสงอาทิตย์
  3. โครงการการปรับใช้ระบบทำความเย็นแบบพิเศษ (special cooling application) เช่น การทำความเย็นให้ศูนย์ข้อมูล
  4. โครงการสร้างความยืดหยุ่นของระบบพลังงาน (demand flexibilization) เช่น การกักเก็บพลังงานความร้อน โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (smart grid integration)
  5. โครงข่ายการทำความเย็นแบบรวมศูนย์ (centralized cooling) เช่น การทำความเย็นในเขตพื้นที่ โครงข่ายการทำความเย็นในนิคมอุตสาหกรรม
  6. โครงการพัฒนาโมเดลธุรกิจด้านการทำความเย็น เช่น โมเดลธุรกิจบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) การทำสัญญาด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การให้บริการการทำความเย็น
  7. โครงการบริหารจัดการวัฏจักรการทำความเย็น เช่น การกำจัดสารทำความเย็น

กิจกรรมของโครงการ

  1. การวิจัยและพัฒนา
  2. การพัฒนาขีดความสามารถ
  3. การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการฝึกอบรมทางเทคนิค
  4. การสาธิตเทคโนโลยี เช่น โครงการนำร่องและโครงการอ้างอิง
  5. การสนับสนุนเพื่อการผลิตในปริมาณมาก (Mass production)
  6. การนำเทคโนโลยีมาใช้งาน การผลักดันผลิตภัณฑ์สู่ตลาด และการพัฒนาตลาด
  7. การกระตุ้นพฤติกรรมของกลุ่มผู้ใช้ (end-users) และการสร้างความรับรู้
  8. การแบ่งปันความรู้และความร่วมมือระหว่างประเทศ

ระยะเวลาดำเนินโครงการ
เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ เมษายน 2564 – มิถุนายน 2568

การดำเนินงานกองทุน CIF ผ่านมาตรการต่าง ๆ
กองทุน CIF ดำเนินการสนับสนุนผ่านมาตรการต่าง ๆ 4 มาตรการ ดังนี้

1. มาตรการสนับสนุนการฝึกอบรมและให้ความรู้การจัดการสารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย (Training & Education)

1.1 การฝึกอบรม เป็นการกระจายความรู้และเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ครูช่าง บุคลากรครู ช่างผลิต ช่างซ่อมบำรุง รวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ให้ทราบถึงองค์ความรู้ใหม่ในการจัดการสารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

  1. ช่างในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการ
  2. ครูช่างของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เพื่อนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดแก่ช่างที่เข้าฝึกอบรมกับ กพร. ต่อไปได้
  3. ครูและบุคลากรในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดแก่นักเรียนอาชีวศึกษาต่อไปได้
  4. บุคลากรของ กฟผ.
  5. ช่างผู้สนใจ

1.2. การขยายศูนย์ฝึกอบรม สนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมใหม่เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศมากขึ้น และปรับปรุงศูนย์ฝึกอบรมเดิม (ศูนย์ฝึกอบรมที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน RAC NAMA) เพื่อให้มีเครื่องมืออุปกรณ์ และวัสดุที่จำเป็นต่อการฝึกอบรมครบถ้วนมากยิ่งขึ้น โดยมีศูนย์ฝึกอบรมเป้าหมาย ได้แก่ ศูนย์ฝึกอบรมภายใต้สังกัด กพร. และวิทยาลัยเทคนิคภายใต้สังกัดของ สอศ.

กิจกรรมตามมาตรการสนับสนุนการฝึกอบรมและให้ความรู้การจัดการสารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย

2. มาตรการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการทำความเย็นประสิทธิภาพสูง หรือโครงการสาธิตและนำร่องเทคโนโลยี (Demonstration and Pilots Project)
มาตรการโครงการสาธิตและนำร่องเทคโนโลยีเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งหน่วยงานภายใน กฟผ. ทำการศึกษาวิจัยและดำเนินโครงการสาธิตและโครงการนำร่องนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมทำความเย็น รวมทั้งการนำเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมทำความเย็นจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย เช่น การใช้เทคโนโลยีระบบทำความเย็น แบบ Water-Loop Cooling System การใช้ตู้แช่เชิงพาณิชย์ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ (Top Tier Commercial Refrigerators) โครงการสาธิตตู้แช่เย็นพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการส่งเสริมกระบวนการจัดการซากเครื่องปรับอากาศและสารทำความเย็นอย่างถูกวิธี

โครงการส่งเสริมกระบวนการจัดการซากเครื่องปรับอากาศและสารทำความเย็นอย่างถูกวิธี

3. มาตรการสนับสนุนศูนย์ทดสอบอุปกรณ์ทำความเย็นที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ (Standard and Testing)
มาตรการนี้เป็นการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านความปลอดภัย และการออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ โดยการสนับสนุนห้องทดสอบผลิตภัณฑ์ของสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) ให้สามารถรองรับการทดสอบตู้แช่เชิงพาณิชย์ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ และรับรองผลิตภัณฑ์ที่จะออกสู่ตลาดได้

กิจกรรมตามมาตรการสนับสนุนศูนย์ทดสอบอุปกรณ์ทำความเย็นที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ

4. มาตรการบริหารจัดการความรู้และการสื่อสาร (Knowledge Management and Communication)
มาตรการนี้เป็นการสนับสนุนให้มีการรวบรวมข้อมูล องค์ความรู้จากการดำเนินงานของกองทุน CIF แหล่งต่าง ๆ นำมาเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและสนใจ เช่น การเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์ หนังสือคู่มือ และคลิปวิดีโอ เป็นต้น

โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER)

โครงการ T-VER หรือโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program)  คือ กลไกลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2557 มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายในประเทศ โดย อบก. เป็นผู้ให้การขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้จากโครงการ T-VER เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งสามารถนำไปรายงานเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร บุคคล การจัดงานอีเว้นท์ และการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้

กฟผ. ได้ขึ้นทะเบียนโครงการของ กฟผ. เป็นโครงการ T-VER มาตั้งแต่ปี 2557 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยมีโครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 12 โครงการ ดังต่อไปนี้

เลขที่ขึ้นทะเบียนชื่อโครงการประเภทโครงการปริมาณคาร์บอนเครดิตคาดการณ์จะลดได้ต่อปี (tCO2eq/year)
001โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนนเรศวร (Naresuan Hydropower Project)พลังงานทดแทน21,198
002โครงการระบบผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมลำตะคองขนาด 2×1.25 เมกะวัตต์ (2×1.25 MW Lamtakhong Wind Turbine Generators, Thailand)พลังงานทดแทน2,351
067โครงการโรงไฟฟ้าลำรางชลประทาน (EGAT Irrigation Valve Based Micro Hydro Project)พลังงานทดแทน6,796
073โครงการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่างภายในสถานีไฟฟ้าแรงสูง กฟผ. (EGAT Energy Efficiency Improvement for Lighting at High-Voltage Electricity Substation)การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน807
087โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน (Khwae Noi Hydropower Plant)พลังงานทดแทน81,643
088โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนขุนด่านปราการชล (Khun Dan Prakarnchon Hydropower Plany)พลังงานทดแทน14,756
117โครงการระบบผลิตไฟฟ้ากังหันลมลำตะคอง 2×12 เมกะวัตต์ (2×12 MW Lantakhong Wind Turbine Generators)พลังงานทดแทน21,540
144โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนกิ่วคอหมา (Kiew Kor Mah Hydropower Plant)พลังงานทดแทน18,479
204โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนคลองตรอน (Kling Tron Hydropower Plant)พลังงานทดแทน6,425
229โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนผาจุก (Pha Chuk Hydropower Plant)พลังงานทดแทน47,406
359โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำเขื่อนสิรินธร 45 เมกะวัตต์ (45 MW Sirindhorn Dam Hydropower Floating Solar)พลังงานทดแทน44,590
380โครงการโรงไฟฟ้าบางปะกง (ทดแทนเครื่องที่ 1-2)
(Bang Pakong Power Plant (Unit 1-2 replacement))
การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน511,986