โครงการ RAC NAMA

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสม
ของประเทศในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น
(Thailand Refrigeration and Air Condition Nationally Appropriate Mitigation Actions หรือ RAC NAMA)

ความเป็นมา

          ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของโลก ปัจจุบันสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าในระบบปรับอากาศและการทำความเย็นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50 ของประเทศ และเป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นลำดับต้นๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อนและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามมา ดังนั้น การปรับปรุงใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงและปรับเปลี่ยนไปใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential: GWP) ต่ำ จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่ได้แสดงเจตจำนงไว้ตามแผนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ภายในปี 2573 ดังนั้น รัฐบาลสหราชอาณาจักรจึงได้ร่วมมือกับรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีสนับสนุนเงินทุนจำนวน 8.3 ล้านยูโร ผ่านกองทุน NAMA Facility เพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมทำความเย็นในประเทศไทยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
          สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยงานประสานงานกลางของประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC National Focal Point) ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพและคุณสมบัติของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ได้ให้การสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมทำความเย็นลดก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการใช้ไฟฟ้ามาโดยตลอดผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ สผ. จึงเสนอให้ กฟผ. พิจารณาการเป็นผู้รับทุนในนามประเทศไทย (National Fund Recipient) โดยร่วมกับ สผ. กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit: GIZ) ในการดำเนินโครงการดังกล่าว
          กฟผ. ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเห็นความสำคัญและโอกาสในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศพัฒนาศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมทำความเย็นและช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตาม NDC ที่กำหนด จึงตอบรับเป็นผู้รับทุนในนามประเทศไทย และได้ลงนามในสัญญาให้ทุน (Grant Agreement: GA) กับ GIZ เมื่อเดือนธันวาคม 2560 เพื่อดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (Thailand Refrigeration and Air-Conditioning Nationally Appropriate Mitigation Action: RAC NAMA) ผ่านมาตรการจูงใจทางการเงิน เพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงและใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ (Natural Refrigerant) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใน 4 อุปกรณ์ ได้แก่ ตู้เย็น ตู้แช่ เครื่องทำน้ำเย็น และเครื่องปรับอากาศ โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนสายการผลิต สนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ด้านการฝึกอบรมและทดสอบ นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมในด้านการตลาดแก่ผู้ใช้ (end-users) ทั้งกลุ่มครัวเรือนและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งโครงการ RAC NAMA ถือเป็นโครงการแรกที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของไทย สู่การใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Fact Sheet Thai RAC NAMA (ภาษาไทย)

Fact Sheet Thai RAC NAMA (English)

สารทำความเย็นธรรมชาติ คือ อะไร

          สารทำความเย็น คือ สารที่ใช้ในระบบการทำความเย็นของอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นซึ่งมีคุณสมบัติเปลี่ยนสถานะง่ายจึงสามารถดูดความร้อนจากพื้นที่หนึ่งแล้วระบายออกนอกพื้นที่นั้นเพื่อลดอุณหภูมิลง
          สารทำความเย็นธรรมชาติ คือ สารซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน และไม่กักเก็บแสงอาทิตย์ หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” อีกทั้งมีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานมากกว่าสารทำความเย็นสังเคราะห์ที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง ด้วยค่าศักยภาพการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (ODP – Ozone Depleting Potential) เท่ากับศูนย์ และค่าศักยภาพในการทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน (GWP – Global Warming Potential) ที่ต่ำมาก สารทำความเย็นธรรมชาติเหล่านี้ จึงถือเป็นทางออกสำคัญในการช่วยบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น โดยใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  2. เพื่อสนับสนุนประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดการใช้พลังงานตามแผนอนุรักษ์พลังงาน และบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ตามที่ได้แสดงเจตจำนงไว้ต่อที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC)

แหล่งเงินทุน

โครงการได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุน NAMA Facility (โดยรัฐบาลเยอรมันและรัฐบาลอังกฤษ) เป็นจำนวน 8.3 ล้านยูโร ผ่านการดำเนินงานและประสานงานของ GIZ

กลุ่มเป้าหมาย

หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น

ระยะเวลาดำเนินโครงการ

เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 – มีนาคม พ.ศ. 2564

สรุปการดำเนินงานโครงการ RAC NAMA

1. มาตรการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อกระตุ้นการใช้ผลิตภัณฑ์ในระดับครัวเรือน (A: Consumer Finance)

          ดำเนินการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ตู้เย็นที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และผลิตขึ้นภายในประเทศไทย โดยการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีระบบการจัดการและนโยบายที่เหมาะสมกับโครงการ ปฏิบัติตามแนวทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหลักธรรมาภิบาล
          มาตรการดังกล่าว ดำเนินการผ่านแคมเปญการผ่อน 0% – 10 เดือน (ใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนประมาณ 10 ล้านบาท กระตุ้นการใช้จ่ายได้ประมาณ 236 ล้านบาท) กระตุ้นยอดขายผลิตภัณฑ์ได้กว่า 15,000 ชุด

2. มาตรการเงินอุดหนุนสำหรับผู้ผลิตในการปรับเปลี่ยนสายการผลิต (Sub-grant for Producer: C1)

          ดำเนินการสนับสนุนผู้ผลิตจำนวน 9 บริษัท ให้ปรับเปลี่ยนสายการผลิตให้รองรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ โดยใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนประมาณ 80 ล้านบาท กระตุ้นการลงทุนได้ทั้งหมดประมาณ 165 ล้านบาท

3. มาตรการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อปรับเปลี่ยนสายการผลิต (Revolving Fund for Producer: B1)

          ดำเนินการสนับสนุน 4 บริษัทผู้ผลิตให้สามารถปรับเปลี่ยนสายการผลิตมารองรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ โดยเน้นในเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งใช้เงินหมุนเวียนจากกองทุนประมาณ 52 ล้านบาท

ประสบการณ์จากการปรับเปลี่ยนสายการผลิตในโครงการ RAC NAMA (ภาษาไทย)

ประสบการณ์จากการปรับเปลี่ยนสายการผลิตในโครงการ RAC NAMA (English)

4. มาตรการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อกระตุ้นการผลิตและการใช้ระดับ SME (Revolving Fund for SME: B2)

          ดำเนินมาตรการเงินทุนหมุนเวียนทางด้านการตลาดในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นเพื่อเพิ่มแรงจูงใจและกระตุ้นความต้องการซื้อของผู้บริโภคระดับ SME (B2) ในการซื้อเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติผ่านผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย โดยใช้เงินหมุนเวียนจากกองทุนประมาณ 146 ล้านบาท

5. มาตรการเงินอุดหนุนสำหรับการฝึกอบรม (Sub-grant for Training & Testing Center: C2)

          ดำเนินมาตรการเงินอุดหนุนสำหรับการฝึกอบรม (C2) โดยสนับสนุนเงินทุนแก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สำหรับจัดหาและและติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการฝึกอบรมในศูนย์ฝึกอบรมซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 8 แห่ง โดยจัดการฝึกอบรมให้กับครูฝึกและหัวหน้าช่าง จำนวนทั้งสิ้น 13 ครั้ง  ผู้เข้าร่วมการอบรม จำนวน 222 คน เพื่อพัฒนาช่างฝีมือให้เกิดความตระหนักเกี่ยวกับเทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียวและมาตรฐานด้านความปลอดภัย และเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับการปรับเปลี่ยนมาใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (ใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนประมาณ 15 ล้านบาท)

6. มาตรการเงินอุดหนุนสำหรับจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์เพื่อปรับปรุงศูนย์สำหรับการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ (Sub-grant for Training & Testing Center: C2)

          ดำเนินมาตรการเงินอุดหนุนสำหรับจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์เพื่อปรับปรุงศูนย์สำหรับการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ (C2) โดยร่วมมือกับสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI) เพื่อปรับปรุงและพัฒนาระบบการตรวจสอบและการป้องกันภัยในห้องปฏิบัติการทดสอบเครื่องปรับอากาศ ให้พร้อมสำหรับมาตรฐานด้านความปลอดภัยฉบับใหม่ รองรับผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่จะเข้าสู่ตลาดในอนาคต ตามประกาศสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เรื่อง การกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เลขที่ มอก.1529-2561 โดยใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนประมาณ 2.6 ล้านบาท

ปีการดำเนินงาน
2560– กฟผ. ลงนามในสัญญาให้ทุน (GA) กับ GIZ เพื่อบริหารกองทุน RAC NAMA (ได้รับเงินทุนประมาณ 300 ล้านบาท)
2561– ดำเนินมาตรการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อกระตุ้นการใช้ผลิตภัณฑ์ในระดับครัวเรือน (A) เป็นมาตรการแรก สามารถส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ตู้เย็นได้กว่า 15,000 ชุด ผ่านแคมเปญการผ่อน 0% 10 เดือน (ใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนประมาณ 10 ล้านบาท กระตุ้นการใช้จ่ายได้ประมาณ 236 ล้านบาท)

– ดำเนินมาตรการเงินอุดหนุนสำหรับผู้ผลิตในการปรับเปลี่ยนสายการผลิต (C1) โดยสนับสนุนผู้ผลิตจำนวน 9 บริษัท ให้ปรับเปลี่ยนสายการผลิตให้รองรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ (ใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนประมาณ 80 ล้านบาท กระตุ้นการลงทุนได้ทั้งหมดประมาณ 165 ล้านบาท)

– ดำเนินมาตรการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อปรับเปลี่ยนสายการผลิต (B1) สนับสนุน 4 บริษัทผู้ผลิต ปรับเปลี่ยนสายการผลิตมารองรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติโดยเน้นในเรื่องของความปลอดภัย (ใช้เงินหมุนเวียนจากกองทุนประมาณ 52 ล้านบาท)

– ดำเนินมาตรการเงินอุดหนุนสำหรับการฝึกอบรม (C2) โดยสนับสนุนเงินทุนแก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สำหรับจัดหาและและติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการฝึกอบรมในศูนย์ฝึกอบรมซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 8 แห่ง โดยจัดการฝึกอบรมให้กับครูฝึกและหัวหน้าช่าง จำนวนทั้งสิ้น 13 ครั้ง  ผู้เข้าร่วมการอบรม จำนวน 222 คน เพื่อพัฒนาช่างฝีมือให้เกิดความตระหนักเกี่ยวกับเทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียวและมาตรฐานด้านความปลอดภัย และเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับการปรับเปลี่ยนมาใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (ใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนประมาณ 15 ล้านบาท)
2562– ดำเนินมาตรการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเพิ่มแรงจูงใจและกระตุ้นความต้องการซื้อของผู้บริโภคระดับ SME (B2) ผ่านผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย 2 บริษัท (ใช้เงินหมุนเวียนจากกองทุนประมาณ 146 ล้านบาท)
2563– ดำเนินมาตรการเงินอุดหนุนสำหรับจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์เพื่อปรับปรุงศูนย์สำหรับการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ (C2) แก่สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI) เพื่อเตรียมการสำหรับรองรับการทดสอบเครื่องปรับอากาศที่จะออกสู่ตลาดในอนาคต ตามประกาศสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เรื่อง การกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เลขที่ มอก.1529-2561 (ใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนประมาณ 2.6 ล้านบาท)

– จัดทำสัญญาสรุปส่งมอบเงินทุน (Concluding Agreement: CA) ระหว่าง กฟผ. กับ GIZ เพื่อบริหารเงินทุนคงเหลือจากกองทุน RAC NAMA ภายใต้ กองทุน CIF ในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีการทำความเย็นที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
2564– สิ้นสุดการดำเนินโครงการ RAC NAMA (วันที่ 31 มีนาคม 2564)

– จัดงานเผยแพร่ผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการ RAC NAMA ในรูปแบบ Webinar

– กฟผ. จัดตั้งกองทุนนวัตกรรมสำหรับอุตสากรรมทำความเย็น (EGAT Cooling Innovation Fund: CIF) พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานกองทุน CIF เพื่อบริหารและดำเนินกองทุน CIF ตามสัญญาสรุปส่งมอบเงินทุน (CA)

สรุปการดำเนินงานโครงการ RAC NAMA

ผลสำเร็จโครงการ RAC NAMA

          ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี เงินอุดหนุนจากโครงการ RAC NAMA ได้มีส่วนช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นไทยก้าวสู่เทคโนโลยีสีเขียว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารทำความเย็นธรรมชาติ ทั้งด้านการผลิต การบริโภค และภาคบริการ
  • สนับสนุนให้ผู้ประกอบการภายในประเทศ กว่า 10 ราย หันมาผลิตอุปกรณ์การทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่สูงขึ้น และใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • กระตุ้นยอดขายผลิตภัณฑ์กว่า 170,000 เครื่องออกสู่ตลาดภายในประเทศ รวมถึงส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ
  • จัดหาและและติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการฝึกอบรมในศูนย์ฝึกต่าง ๆ ทั่วประเทศ 8 แห่ง
  • จัดการฝึกอบรมให้กับครูฝึกและหัวหน้าช่าง 13 ครั้ง  ผู้ผ่านการอบรม จำนวน 222 คน
  • ปรับปรุงศูนย์สำหรับการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ
  • ปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกได้ 56,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (tCO2eq/ปี)

          ภายหลังสิ้นสุดการดำเนินโครงการ RAC NAMA กฟผ. ได้ลงนามในสัญญาสรุปส่งมอบเงินทุน (Concluding Agreement: CA) เพื่อนำเงินทุนคงเหลือจากการดำเนินงาน กองทุน RAC NAMA ประมาณ 190 ล้านบาท มาต่อยอดความสำเร็จ และใช้ในการบริหารจัดการกองทุนนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมทำความเย็น (EGAT Cooling Innovation Fund: CIF) เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงตลาดไปสู่เทคโนโลยีการทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงและเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศต่อไป

สรุปผลสำเร็จโครงการ RAC NAMA

แนวทางการใช้เครื่องมือการวัดผลการรายงานผล และการทวนสอบ (MRV) สำหรับโครงการ RAC NAMA (ภาษาไทย)

แนวทางการใช้เครื่องมือการวัดผลการรายงานผล และการทวนสอบ (MRV) สำหรับโครงการ RAC NAMA (English)

Skip to content