มารู้จัก Circular Economy กันเถอะ

31 August 2021

         ในปัจจุบัน ทรัพยากรธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็วจากรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานมากขึ้น และยังมีปัญหาการจัดการของเสียอีกด้วย ถึงแม้มีการแสวงหาแหล่งทรัพยากรทดแทนและการจัดการของเสียบางส่วนให้กลับมาใช้ได้ ก็ยังไม่พอต่อความต้องการและยังมีของเสียตกค้างจนส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้

         แนวคิด Circular Economy จึงได้รับการพัฒนาขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เป็นทางเลือกใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนในอนาคต

         กฟผ. ขอชวนมาทำความรู้จักกับแนวคิด Circular Economy กันว่าคืออะไร เมื่อเทียบกับแนวคิดเดิมอย่าง Linear Economy กับ Recycling Economy แล้วต่างกันอย่างไร? มีแนวทางในการทำ Circular Economy ยังไง? และประโยชน์ของ Circular Economy มีอะไรบ้าง?

Circular Economy คืออะไร?

         Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน แนวทางในการออกแบบกระบวนการ ผลิตภัณฑ์ บริการ และรูปแบบธุรกิจที่สามารถผลักดันให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ โดยการจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการหมุนเวียนของทรัพยากรหรือวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้ลดการเกิดของเสีย จนท้ายที่สุดนำไปสู่การไม่มีของเสียเกิดขึ้น

เปรียบเทียบ Linear, Recycling และ Circular

         รูปแบบ Linear economy หรือเศรษฐกิจเส้นตรง เป็นระบบการผลิตและบริโภคเดิมของโลก เริ่มจากการนำ (take) ทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบมาผลิต (make) เป็นผลิตภัณฑ์ จากนั้นผู้บริโภคนำมาใช้งาน (use) เมื่อผลิตภัณฑ์หมดสภาพการใช้งานก็จะถูกนำไปทิ้งเป็นของเสีย (waste) รูปแบบนี้ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ และปัญหาขยะมูลฝอยที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก

         รูปแบบ Recycling Economy หรือเศรษฐกิจรีไซเคิล เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นโดยนำผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุหารใช้งานกลับมาทำให้เป็นผลติภัณฑ์ใหม่ หรือ recycle เพื่อลดการเกิดของเสีย แต่อย่างไรก็ตามรูปแบบนี้ยังคงทำให้เกิดของเสียซึ่งสามารถส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมได้อยู่ดี

         รูปแบบ Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของเสียและปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ และวัสดุให้มากที่สุดด้วยวิธีการที่เหมาะสม เช่น การใช้ซ้ำ การซ่อมแซม การผลิตใหม่ รวมถึงพัฒนารูปแบบธุรกิจ นวัตกรรม และมีการติดตามผลเพื่อจัดการให้ผลิตภัณฑ์และวัสดุหมุนเวียนอยู่ภายในระบบ ทำให้ลดการเกิดของเสีย และผลิตได้มากขึ้นโดยใช้ทรัพยากรและพลังงานน้อยลง

         จากทั้ง 3 รูปแบบ จะเห็นว่ารูปแบบ Circular Economy ได้รับการพัฒนาโดยมุ่งให้เกิดของเสียน้อยที่สุด และใช้ทรัพยากรคุ้มค่ามากที่สุดนั่นเอง

แนวทางการทำ Circular Economy

         การปรับเปลี่ยนกระบวนการและการทำงานให้เป็นรูปแบบ Circular Economy สามารถทำได้ผ่านแนวทางต่าง ๆ เช่น

  • Recycle การแปรสภาพ คือการนำผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ หรือวัสดุที่ทิ้งหรือใช้แล้ว นำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ หรือวัสดุต่อไป
  • Reuse การใช้ซ้ำ คือการนำผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ หรือวัสดุมาใช้อีกครั้งโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการผลิตใหม่หรือกระบวนการคืนสภาพ
  • Reclamation การเรียกคืน คือการรวบรวมผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ หรือวัสดุเพื่อนำมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล
  • Recondition การปรับสภาพ คือการทำผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วให้มีสภาพที่น่าพอใจ โดยสร้างใหม่หรือซ่อมแซมส่วนที่ใกล้จะเสีย
  • Recovery การนำกลับคืนมาใหม่ คือการทำให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ หรือวัสดุที่ใช้แล้วถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การเตรียมการสำหรับการนำกลับมาใช้ใหม่ การรีไซเคิล การนำกลับคืนมาใหม่อื่น ๆ
  • Refurbish การปรับปรุงใหม่ คือการปรับปรุงความสวยงามของผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ หรือวัสดุ
  • Remanufacture การผลิตใหม่ คือการทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วมีประสิทธิภาพอย่างน้อยเท่าของเดิม พร้อมด้วยการรับประกันที่เทียบเท่าหรือดีกว่าผลิตภัณฑ์ใหม่
  • Repair การซ่อมแซม คือการทำให้ผลิตภัณฑ์ ชิ้นส่วน หรือวัสดุที่บกพร่อง ชำรุดกลับมาใช้งานได้
  • Repurpose การเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้งาน คือการใช้ผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ หรือวัสดุในบทบาทที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้
  • Upcycle การรีไซเคิลแบบที่ทำให้คุณค่าเพิ่มขึ้น คือการแปลงวัตถุดิบทุติยภูมิ และผลพลอยได้ให้เป็นวัสดุ ส่วนประกอบ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพดีขึ้น
  • Upgradable ยกระดับได้ คือคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่สามารถปรับปรุง เปลี่ยนส่วนประกอบ หรือชิ้นส่วนได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ทั้งหมด

ข้อดีของ Circular Economy

         การเปลี่ยนแปลงองค์กรจากระบบการจัดการการผลิตและบริโภคให้เป็นรูปแบบ Circular Economy จะเกิดการเปลี่ยนแปลงกับองค์กรในด้านต่าง ๆ ซึ่งสามารถสรุปได้ 6 ประการ คือ

  • การจัดการทรัพยากรขององค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นในระบบ
  • ลดก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากกระบวนการผลิตและกระบวนการทำงาน
  • ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้ให้กับองค์กร
  • เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
  • สร้างสรรค์นวัตกรรมในองค์กร

แหล่งอ้างอิง

คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และเครือข่ายการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). คู่มือการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป วิถีชีวิตตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในศตวรรษที่ 21 (Circular Lifestyle for 21st Century).

กระทรวงอุตสาหกรรม, ส. (2563). แนวทางการใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร.

Skip to content