ประวัติกิจการไฟฟ้าไทย

พ.ศ. 2427-2511
พ.ศ. 2512-2534
พ.ศ. 2535-ปัจจุบัน

พ.ศ. 2427-2511 ยุคแรกเริ่มไฟฟ้าไทย

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
ภาพประกอบจากหนังสือแสงแห่งสยาม

พ.ศ. 2427 เริ่มต้นการมีไฟฟ้าของประเทศไทย

ไฟฟ้าดวงแรกสว่างไสวในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2427

พ.ศ. 2441 ก่อตั้งบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด

โรงไฟฟ้าเอกชนแห่งแรกของไทย บริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด โอนกิจการมาจากบริษัทบางกอก อิเลกตริกไลท์ ชิกดีแคท เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2441 และสร้างโรงไฟฟ้าวัดเลียบตามมา

พ.ศ. 2457 “กองไฟฟ้าหลวงสามเสน” จ่ายกระแสไฟฟ้าในพระนครและธนบุรี

พ.ศ. 2455 สมัยรัชกาลที่ 6 ได้โปรดเกล้าฯให้ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล ดำเนินการสร้างการประปาและโรงไฟฟ้าที่สามเสนไปพร้อมๆ กัน โดยโรงไฟฟ้าสามเสนได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเดินเครื่องจำหน่ายไฟฟ้าได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2457 ใช้ชื่อว่า “การไฟฟ้าหลวงสามเสน” เป็นรัฐพาณิชย์

ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กองไฟฟ้าหลวงสามเสน ”ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย กิจการไฟฟ้าเริ่มเป็นปึกแผ่น ประชาชนในพระนคร และธนบุรีมีกระแสไฟฟ้าใช้อย่างกว้างขวาง โดยบริษัทไฟฟ้าสยาม จำกัด (โรงไฟฟ้าวัดเลียบ) รับผิดชอบจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่พื้นที่บริเวณตอนใต้ของคลองบางลำภู และคลองบางกอกน้อย ส่วนบริเวณตอนเหนือของคลองดังกล่าวให้กองไฟฟ้าหลวงสามเสนรับผิดชอบ

พ.ศ. 2472 จัดตั้ง “แผนกไฟฟ้า” กระทรวงมหาดไทย

พ.ศ. 2472 กิจการไฟฟ้าต่างจังหวัดเกิดขึ้นครั้งแรกที่สุขาภิบาลเมืองราชบุรีและเมืองนครปฐม ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 กิจการไฟฟ้าได้ขยายไปยังสุขาภิบาลอีกหลายแห่ง อาทิ เช่น เมืองปราจีนบุรี, ภูเก็ต, นครนายก, ชลบุรี, บ้านโป่ง, จันทบุรี, และเชียงใหม่

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2477 ได้มีการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ และได้จัดตั้ง กรมโยธาเทศบาลขึ้น แผนกไฟฟ้าจึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น กองไฟฟ้า สังกัดกรมโยธาเทศบาล

พ.ศ. 2488 โรงไฟฟ้าวัดเลียบและโรงไฟฟ้าสามเสนเกิดความเสียหาย

พ.ศ. 2482 สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในยุโรป ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 8 “ประเทศสยาม” ได้มีการ เปลี่ยนชื่อเป็น“ประเทศไทย” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 รวมทั้ง “บริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด” ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท ไฟฟ้าไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด” เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2482 ด้วยเช่นกัน

และเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2488 โรงไฟฟ้าวัดเลียบและโรงไฟฟ้าสามเสน ได้ถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทิ้งระเบิดจนเสียหายใช้การไม่ได้ ทำให้พระนครและธนบุรีตกอยู่ในความมืดมิด ประชาชนไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้  ต่อมาบริษัท ไฟฟ้าไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้จัดการซ่อมโรงไฟฟ้าวัดเลียบ ที่ได้รับความเสียหายไม่มากนักให้ใช้การได้ โดยใช้เวลาเพียง 2 เดือนเศษ สำหรับโรงไฟฟ้าสามเสนถูกระเบิดทำลายเสียหายมาก การดำเนินการซ่อมโรงไฟฟ้าสามเสนต้องใช้เวลาถึง 4 ปี จึงสามารถเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าได้เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2492

โรงไฟฟ้าวัดเลียบ
ภาพประกอบจากหนังสือแสงแห่งสยาม

พ.ศ. 2493 จัดตั้ง “การไฟฟ้ากรุงเทพฯ”

พ.ศ. 2493 ได้จัดตั้ง “การไฟฟ้ากรุงเทพฯ” เพื่อรับกิจการของ บริษัท ไฟฟ้าไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งหมดอายุสัมปทาน

พ.ศ. 2494 จัดตั้ง “ คณะกรรมการพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าทั่วราชอาณาจักร ” ซึ่งต่อมาใน ปี พ.ศ. 2495 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ คณะกรรมการไฟฟ้าและพลังงานแห่งประเทศไทย ” และในปี พ.ศ. 2496 ได้เปลี่ยนเป็น “ สำนักงานพลังงานแห่งชาติ ” ปัจจุบันมีฐานะเป็น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน

พ.ศ. 2496 สร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ ที่อำเภอสามเงา จังหวัดตาก

การไฟฟ้ายันฮี ได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ ที่อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ชื่อเดิม “เขื่อนยันฮี”  ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 7 ปี มีสายส่งเชื่อมโยงกับจังหวัดต่างๆและได้เดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าให้แก่ภาคเหนือ คือ จังหวัดลำปาง ลำพูนและเชียงใหม่ ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามว่า “ เขื่อนภูมิพล ” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิดเขื่อนและโรงไฟฟ้า เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507

พ.ศ. 2497 จัดตั้ง “องค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนท์”

พ.ศ. 2497 ได้จัดตั้ง“ องค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนท์ ” ซึ่งต่อมาปลายปี พ.ศ. 2503 ได้ยกฐานะเป็น “การลิกไนท์”รับผิดชอบผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในภาคใต้

พ.ศ. 2497 จัดตั้ง “องค์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค” ซึ่งต่อมาได้รับการยกฐานะ เป็น “การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ”เมื่อปี พ.ศ. 2503 รับผิดชอบการจำหน่ายไฟฟ้าทั่วประเทศไทย ยกเว้นในเขตนครหลวง

พ.ศ. 2500 จัดตั้ง “การไฟฟ้ายันฮี”

“การไฟฟ้ายันฮี” รับผิดชอบการผลิตไฟฟ้าให้ภาคกลางกับภาคเหนือ โดยได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูมิพล ที่จังหวัดตาก และก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อน (พลังไอน้ำ) ขนาดใหญ่มีกำลังผลิต 75 เมกะวัตต์ ที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ปัจจุบันเรียกว่า “โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ” ซึ่งนับว่าเป็นโรงไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในขณะนั้น เริ่มเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าได้เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2504 โดยส่งกระแสไฟฟ้าไปตามสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเชื่อมโยงกับโรงไฟฟ้าสามเสน

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2501 ได้มีการจัดตั้ง” การไฟฟ้านครหลวง ” ขึ้น โดยรวมกิจการของการไฟฟ้ากรุงเทพฯ และกองไฟฟ้าหลวงสามเสน รับผิดชอบการจำหน่ายไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ (พระนคร ธนบุรี) นนทบุรี และสมุทรปราการ

พ.ศ. 2502 สายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาดแรงดันไฟฟ้า 69 กิโลโวลต์ สายแรกของไทย

การลิกไนท์ ได้ก่อสร้างโรงจักรแม่เมาะ ที่จังหวัดลำปาง ขนาด 6.25 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้ใช้ถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะเป็นเชื้อเพลิง และเชื่อมโยงกับตัวจังหวัดด้วยสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาดแรงดันไฟฟ้า 69 กิโลโวลต์ ซึ่งนับว่าเป็นสายส่งไฟฟ้าแรงสูงสายแรกของไทย ทำให้จังหวัดลำปางมีไฟฟ้าใช้อย่างมั่นคง ต่อมาได้เชื่อมสายส่งไฟฟ้าไปใช้ในงานก่อสร้างเขื่อนภูมิพล ที่จังหวัดตาก และยังได้ก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าเชื่อมต่อจากจังหวัดลำปางไปยังจังหวัดลำพูน และจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย

การไฟฟ้ายันฮี โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ
ภาพประกอบจากหนังสือแสงแห่งสยาม

พ.ศ. 2504 เปิดโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ

โรงไฟฟ้าพระนครเหนือก่อสร้างแล้วเสร็จและเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้า ทำให้ภาวะขาดแคลนไฟฟ้าในเขตพระนครและธนบุรียุติลง ต่อมาได้มีพิธีเปิดโรงไฟฟ้าในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้นเป็นประธานพิธีร่วมกับรองประธานาธิบดีลินคอน บี. จอห์นสัน ของสหรัฐอเมริกา

จากสถานการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การไฟฟ้ายันฮี (กฟย.) จึงได้ดำเนินการก่อสร้างหน่วยผลิตไฟฟ้าเครื่องที่ 2 ที่โรงไฟฟ้าพระนครเหนือในต้นปี พ.ศ. 2505 ซึ่งสามารถดำเนินการแล้วเสร็จและจ่ายไฟฟ้าได้กลางปี พ.ศ. 2506

พ.ศ. 2505 รัฐบาลจัดตั้ง “การไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ”

รัฐบาลได้จัดตั้ง “การไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ” ขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยในระยะแรกได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และเขื่อนน้ำพุง จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. 2507 การลิกไนท์เปิดเหมืองลิกไนต์ที่จังหวัดกระบี่และก่อสร้างโรงไฟฟ้าลิกไนต์กระบี่

การลิกไนท์ได้เปิดเหมืองลิกไนต์ที่จังหวัดกระบี่และก่อสร้างโรงไฟฟ้าลิกไนต์กระบี่เดิม ขนาดกำลังผลิตรวม 60 เมกะวัตต์ แต่ความต้องการไฟฟ้าของภาคใต้ตอนล่างฝั่งตะวันตกเพิ่มสูงขึ้น โดยนำถ่านลิกไนต์มาใช้เป็นเชื้อเพลิง สามารถเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าได้ในปี พ.ศ. 2507 และได้เชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจากโรงไฟฟ้ากระบี่ไปยังจังหวัดต่างๆ ผลิตไฟฟ้าส่งให้ได้ถึง 7 จังหวัด

ปัจจุบันโรงไฟฟ้ากระบี่ได้ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สามารถใช้เชื้อเพลิงน้ำมันปาล์มร่วมกับน้ำมันเตาเพื่อสนองนโยบายรัฐบาล ช่วยพยุงราคาน้ำมันปาล์มตกต่ำ แต่จะดำเนินการเมื่อได้รับคำสั่งการจากรัฐบาลเท่านั้น ปัจจุบันได้ถูกกำหนดให้เป็นโรงไฟฟ้าชนิด “Reserved Shutdown” มีหน้าที่เสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2538

Skip to content