การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นรัฐวิสาหกิจด้านกิจการพลังงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง ดำเนินธุรกิจหลักในการผลิต จัดให้ได้มา และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ผู้ใช้ไฟฟ้าตามกฎหมายกำหนดและประเทศใกล้เคียง พร้อมทั้งธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการไฟฟ้าภายใต้กรอบพระราชบัญญัติ กฟผ.
ธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าในธุรกิจใหญ่ กฟผ. ผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งตั้งอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศรวมจำนวนทั้งสิ้น 53 แห่ง มีกำลังผลิตรวมทั้งสิ้น 16,920.32 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าหลายประเภท ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังความร้อน 3 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 6 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (พลังน้ำ) 30 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (ลม แสงอาทิตย์ ความร้อนใต้พิภพ) 9 แห่ง โรงไฟฟ้าดีเซล 4 แห่ง และโรงไฟฟ้าอื่น ๆ 1 แห่ง
นอกจากการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าของ กฟผ. แล้ว กฟผ. ยังรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ 12 ราย รวมกำลังผลิต 16,748.50 เมกะวัตต์ และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก รวมกำลังผลิต 9,195.08 เมกะวัตต์ รวมทั้งรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สปป.ลาว และมาเลเซีย รวมกำลังผลิต 6,234.90 เมกะวัตต์
กฟผ. ดำเนินการจัดส่งไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และที่รับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่นผ่านระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งมีโครงข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ที่ระดับแรงดัน 500 กิโลโวลต์ 230 กิโลโวลต์ 132 กิโลโวลต์ 115 กิโลโวลต์ และ 69 กิโลโวลต์ เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่รับซื้อโดยตรงจาก กฟผ. กฟน. และ กฟภ. ซึ่งนำไปจำหน่ายให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศต่อไป นอกจากนี้ กฟผ. ยังจำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านด้วย ได้แก่ สปป.ลาว ด้วยระบบส่งไฟฟ้าแรงดัน 115 กิโลโวลต์ และ 22 กิโลโวลต์ และประเทศมาเลเซีย ด้วยระบบไฟฟ้าแรงสูงกระแสตรง (HVDC) 300 กิโลโวลต์
ธุรกิจเกี่ยวเนื่องของ กฟผ. ในปี 2565 กฟผ. ได้ดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์สร้างรายได้เพิ่มจากความสามารถและทรัพยากรที่มีอยู่ ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านพลังงานไฟฟ้ากว่า 50 ปี จึงได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ โดยให้บริการด้านธุรกิจอุตสาหกรรมไฟฟ้าอย่างมีคุณภาพและครบวงจร ได้แก่ งานวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้าและระบบส่ง งานเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า งานบำรุงรักษาระบบส่งแก่กลุ่มลูกค้าโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) รวมถึงโรงไฟฟ้าจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ ผลิตภัณฑ์วัตถุพลอยได้จากการผลิตไฟฟ้า และงานบริการด้านธุรกิจโทรคมนาคม อีกทั้งยังได้ขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย โดยในปี 2565 กฟผ. ได้มีการดำเนินธุรกิจภายในประเทศ และในต่างประเทศที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
ธุรกิจวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้าและระบบส่ง กฟผ. ให้บริการงานศึกษาความเหมาะสมของโครงการ งานคัดเลือกผู้รับเหมา งานวิศวกรรมที่ปรึกษาให้แก่เจ้าของโครงการ รวมถึงงานทดสอบและตรวจรับโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ กฟผ. ยังให้บริการงานวิศวกรรมที่ปรึกษาให้กับผู้ปล่อยกู้ งานที่ปรึกษาทางเทคนิค งานที่ปรึกษาทางเทคนิคสำหรับควบรวมกิจการหรือเข้าซื้อกิจการ งานศึกษาเฉพาะทางอื่นๆที่เกี่ยวกับโครงการผลิตไฟฟ้า
ธุรกิจเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า กฟผ. ให้บริการครอบคลุมทั้งงานเดินเครื่องและบำรุงรักษาประจำโรงไฟฟ้า (Operation and Routine Maintenance) และงานบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า (Maintenance) ได้แก่ งานบริการบำรุงรักษาไฟฟ้า งานบริการบำรุงรักษาเครื่องกล งานบริการซ่อม ผลิต ทดสอบเครื่องกลและบริหารอะไหล่ งานบริการบำรุงรักษาโยธา งานบริการบำรุงรักษาเคมี นอกจากนี้ กฟผ. ยังขยายตลาดงานบริการใหม่ๆ เช่น งาน Risk Based Inspection and Remaining Life Assessment of Boiler งาน Transformer & Generator Life Assessment งาน PD Online Monitoring งานระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ Battery Energy Storage Systems (BESS) และสร้างความร่วมมือกับบริษัทภายนอกที่เป็นพันธมิตร เช่น Andritz และ Delta India เพื่อเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ ในงานเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า ตลอดจนการเสนองานเดินเครื่องและบำรุงรักษาร่วมกัน การบริหารจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินที่หมดความจำเป็นใช้งาน ผ่านกระบวนการขายตามกลยุทธ์ Asset Utilization การเสนองานบริการเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมในประเทศมาเลเซีย และการให้บริการงานให้คำแนะนำ (Technical Advisor) งานบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า Thang Long ประเทศเวียดนาม เป็นต้น
กฟผ. มีนโยบายส่งมอบบริการที่มีความพร้อมและคุณภาพ เพื่อส่งเสริมระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงและเชื่อถือได้ โดยให้บริการงานให้คำปรึกษาทางวิชาการ งานจัดซื้อจัดจ้าง งานบำรุงรักษาตามวาระ งานบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ งานบำรุงรักษาเชิงป้องกัน งานบำรุงรักษาเชิงแก้ไขปรับปรุง และงานพัฒนาและปรับปรุงระบบส่ง
ธุรกิจผลิตภัณฑ์จากวัตถุพลอยได้ ธุรกิจจากวัตถุพลอยได้ กฟผ. ได้นำแผนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) กฟผ. ปี 2564 มาเป็นเป้าหมายการดำเนินงาน ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 และตอบสนองต่อนโยบายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หรือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ของประเทศ โดยการส่งเสริมการนำวัตถุพลอยได้จากกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ได้แก่ เถ้าลอยลิกไนต์ เถ้าหนักลิกไนต์ และยิปซัมสังเคราะห์มาใช้ในอุตสาหกรรมคอนกรีต ผลจากการใช้เถ้าลอยลิกไนต์ทดแทนปูนซีเมนต์ปี 2565 ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 ) ได้ปริมาณ 683,845 เมตริกตัน เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 57.8 ล้านต้น กฟผ. ยังมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในประเทศ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาการใช้งานวัตุพลอยทดแทนในผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืนและตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ในปี 2565 มีโครงการวิจัยจำนวน 5 โครงการ ได้แก่ 1. การวิจัยการใช้ FGD ยิปซัมเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวหอมมะลิในพื้นที่ดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2. การพัฒนาวัสดุเชื่อมประสานจากเถ้ากองทิ้งโรงไฟฟ้าแม่เมาะสำหรับการก่อสร้างและปรับปรุงคุณภาพถนน 3. การพัฒนาศักยภาพการใช้เถ้าหนักเพื่อใช้เป็นวัสดุมวลรวมละเอียดในแอสฟัลต์คอนกรีต 4. การศึกษาสมบัติของคอนกรีตที่ผสมเถ้าลอยที่มีปริมาณแคลเซียมออกไซด์สูงมากและเถ้าลอยปนเปื้อนแอมโมเนีย และการหาขอบเขตปริมาณแคลเซียมออกไซด์อิสระและซัลเฟอร์ไตรออกไซด์ 5. การพัฒนานวัตกรรมแผ่นฝ้ายิปซัมลดมลพิษในอากาศจากเอฟจีดียิปซัม
กฟผ. ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมผ่านเส้นใยแก้วนำแสงที่มีอยู่ในระบบส่งไฟฟ้าแรงสูง โดยได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 และการให้บริการโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Private Leased Circuit: IPLC) จากคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โครงข่ายใยแก้วนำแสงของ กฟผ. ครอบคลุมมากกว่า 20,000 กิโลเมตร ทั่วประเทศ ผ่านสถานีไฟฟ้าแรงสูงมากกว่า 250 สถานี และออกแบบให้ติดตั้งอยู่บนสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เส้นใยแก้วนำแสงห่อหุ้มด้วยเหล็กและอะลูมิเนียมในสายดิน (OPGW) ที่มีความมั่นคงสูง โดยมีบริการต่างๆ ได้แก่ บริการเส้นใยแก้วนำแสง (Dark Fiber) บริการวงจรช่องสัญญาณโทรคมนาคม (Domestic and International Bandwidth) และบริการวงจร IP MPLS (Internet Protocol Multiprotocol Label Switching) แก่หน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน กฟผ. พร้อมสนับสนุนการพัฒนาประเทศในการขยายโครงข่าย 4G 5G IoT (The Internet of Things) และโครงข่ายพื้นฐานโทรคมนาคมอื่น ๆ ในอนาคต ตลอดจนการสนับสนุนการดำเนินนโยบาย Digital Economy ของภาครัฐ ในการผสมผสานโครงสร้างพื้นฐานของโครงข่าย เช่น 5G รวมเข้ากับปัญญาประดิษฐ์ (Articial Intelligence : AI) Big Data การประมวลผลแบบ Cloud Edge ภายใต้รูปแบบ Digital Platform เพื่อก้าวไปสู่อนาคต
การดำเนินงานของบริษัทในกลุ่ม กฟผ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ลงทุนเพื่อประกอบธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีบริษัทในกลุ่ม กฟผ.จำนวน 7 บริษัท
สัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทในกลุ่ม กฟผ. ชื่อบริษัท ชื่อย่อ ทุนจดทะเบียน (ล้านบาท) สัดส่วนการถือหุ้น (ร้อยละ) สถานะ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) RATCH 22,192.3 45 บริษัทย่อย บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด EGATi 12,197.4 99.99 บริษัทย่อย บริษัท อีแกท ไดมอนด์ เซอร์วิส จำกัด EDS 623 45 บริษัทย่อย บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) EGCO 5,300 25.41 บริษัทร่วม บริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด DCAP 1,670 35 กิจการร่วมค้า บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด INNOPOWER 600 40 กิจการร่วมค้า บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด InnoSpace 735.01 13.605 เงินลงทุน
ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 24 เม.ย. 2566
รู้จัก กฟผ. ข้อมูลองค์การ