เขื่อนน้ำพุง
ความเป็นมา
เขื่อนน้ำพุงเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง การพลังงานแห่งชาติ ได้เริ่มสำรวจโครงการนี้เมื่อปี พ.ศ. 2502 ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือผ่านคณะกรรมการประสานงานสำรวจลุ่มแม่น้ำโขงเป็นมูลค่าประมาณ 30 ล้านเยน ผลการสำรวจสรุปได้ว่าโครงการน้ำพุงจะมีประโยชน์ทางด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้า การป้องกันอุทกภัย และการชลประทาน
ในปลายปี พ.ศ.2505 การพลังงานแห่งชาติได้รับอนุมัติจากรัฐบาล ให้จ้างบริษัทอีเล็คทริค พาวเวอร์ ดีเวลลอพเมนต์ จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น มาดำเนินการสำรวจรายละเอียดเพื่อออกแบบก่อสร้างโครงการ งานสำรวจและออกแบบแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน
เขื่อนน้ำพุงสร้างกั้นลำน้ำที่ไหลจากเทือกเขาภูพาน จำนวน 2 ลำน้ำด้วยกันคือ ลำน้ำพุง และลำน้ำแข้ตั้งอยู่บริเวณน้ำตกคำเพิ่ม บ้านคำเพิ่ม ต.โคกภูอ.กุดบาก จ.สกลนคร (ปัจจุบันขึ้นอยู่กับ อ.ภูพาน ห่างจาก จ.สกลนคร 33 กม. ตามทางหลวงสาย สกลนคร-กาฬสินธุ์)
งานเตรียมการก่อสร้างเริ่มดำเนินการระหว่างปี พ.ศ. 2505-2506 ส่วนงานก่อสร้างตัวเขื่อนและโรงไฟฟ้าเริ่มต้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 แล้วเสร็จเดือนตุลาคม พ.ศ. 2508
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนน้ำพุงอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 รวมค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทั้งสิ้น 110 ล้านบาท จากนั้นการพลังงานแห่งชาติ ได้ส่งมอบให้การไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ (กฟ.อน.) เป็นผู้ดูแลรักษาและดำเนินการต่อมาในปี พ.ศ. 2512 ได้โอนไปสังกัดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จนถึงปัจจุบัน