โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา

การจัดการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

  • งานพัฒนาคุณภาพชีวิต

เพื่อให้ราษฎรบ้านเขายายเที่ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โครงการฯ จึงได้ดำเนินการเรื่องต่างๆ เช่น การปรับปรุงถนนทางขึ้นจากถนนลูกรังเป็นถนนลาดยาง ก่อสร้างถนนคอนกรีตภายในหมู่บ้าน ปรับปรุงฝายและอ่างเก็บน้ำเดิม จัดสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งใหม่ ก่อสร้างสนามกีฬาและสนามเด็กเล่น ก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ ก่อสร้างระบบจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภค ก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่บริการตรวจสุขภาพปีละ 3 ครั้ง

  • งานสหกรณ์การเกษตรเขายายเที่ยง

กฟผ. ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดตั้งสหกรณ์การเกษตรเขายายเที่ยง จำกัด ขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2538 โดย กฟผ. จัดสรรงบประมาณให้รวม 24 ล้านบาท สหกรณ์ฯมีสมาชิกเริ่มต้น 122 ราย

  • งานส่งเสริมอาชีพ

กฟผ. ประสานงานกับหน่วยราชการต่างๆ จัดฝึกอบรมวิชาชีพตามความสนใจของราษฎร รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอาชีพสาธิตการประกอบอาชีพให้แก่ราษฎรได้ทดลองทำก่อน เมื่อเกิดความมั่นใจแล้วจึงนำไปประกอบอาชีพของตนเอง เช่น การเลี้ยงลูกไก่เก้าชั่ง การเพาะเห็ดฝาง การเพาะเห็ดนางฟ้า ตลอดจนการจัดทำแปลงสาธิตการเกษตรเพื่อพึ่งพาตนเองตามแนวเศรษฐกิจแบบพอเพียง ได้แก่ การเลี้ยงไก่พื้นเมือง การเลี้ยงเป็ดไข่ การเลี้ยงปลาในบ่อขนาดเล็ก การปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ เพื่อให้บริโภคและเป็นรายได้เสริมสำหรับในครัวเรือน และส่งเสริมการปลูกไม้ผลไม้กับราษฎรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินรายละ 3.5 ไร่ ซึ่งไม้ผลเหล่านี้ราษฎรเป็นผู้เลือกเองภายใต้คำแนะนำของนักวิชาการ โดยรับเงินช่วยเหลือในการดูแลรักษาที่ดินทำกินของตนเองในช่วงที่ไม้ผลยังไม่ให้ผลผลิตตลอดระยะเวลา 24 เดือน

  • งานอนุรักษ์ทรัพยากรประมงในอ่างเก็บน้ำ

กฟผ. ร่วมกับกรมประมง อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรประมงอย่างถูกวิธี รวมทั้งการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำด้วยการปล่อยพันธุ์ปลาและกุ้งลงในอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคอง เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชาวประมง และในช่วงปี 2544-2545 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า กฟผ. ได้ว่าจ้างคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการศึกษาด้านนิเวศวิทยาแหล่งน้ำและการประมงในอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคอง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนงานอนุรักษ์ทรัพยากรประมงอีกทางหนึ่งด้วย

  • งานฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและงานพัฒนาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

สนับสนุนงบประมาณให้กรมป่าไม้ดำเนินการฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำลำธาร จำนวน 7,685 ไร่ ตลอดจนร่วมกับราษฎร โรงเรียน และหน่วยงานราชการ ปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติในพื้นที่รอบๆ โครงการฯ

  • การจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ราษฎร

คณะกรรมการพิจารณาช่วยเหลือราษฎรและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโครงการฯ ได้มอบหมายให้คณะทำงานเฉพาะกิจศึกษาพื้นที่ที่จะนำมาจัดเป็นที่ทำกิน โดยมีนายอำเภอสีคิ้วเป็นประธานศึกษารายละเอียดการส่งเสริมอาชีพในแปลงที่ดินทำกิน รวมทั้งกำหนดรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมในการจัดที่ดินทำกินให้ราษฎร ซึ่งคณะทำงานฯ ได้เห็นชอบจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบรายละ 3.5 ไร่ โดยโครงการฯ จัดปลูกไม้ผลให้ รวมทั้งจัดระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ภายในแปลงได้แก่ ถนนในแปลงที่ดินทำกิน ก่อสร้างแหล่งน้ำและจัดระบบน้ำภายในแปลง

  • การจัดสภาพภูมิทัศน์ในพื้นที่ทิ้งดิน

เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาสภาพพื้นดินบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคอง ซึ่งเกิดจากการขุดเจาะอุโมงค์และโรงไฟฟ้าใต้ดินแล้วนำมาถมบริเวณดังกล่าวให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและพักชมวิวของนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านถนนมิตรภาพ จึงได้ก่อสร้าง “สวนท้าวสุรนารี” มีลักษณะเป็นสวนป่ากึ่งรุกขชาติ เพื่อส่งเสริมและรักษาสภาพพื้นที่ให้เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในสวน ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 96 ไร่ ประกอบด้วย บริเวณที่จอดรถ ลานปฏิมากรรม ลานอเนกประสงค์ สวนพฤษศาสตร์ วังมัจฉา ที่พักผ่อนริมน้ำ เรือนเพาะชำ ห้องสุขา ซุ้มจำหน่ายสินค้าของชุมชน และสวนสุขภาพ

ข้อมูลเพิ่มเติม

https://ltk.egat.co.th/oper/index.php?option=com_content&view=category&id=34&layout=blog&Itemid=232

Skip to content