Hello Social ตอน เมื่อ “ช่างไฟฟ้า” จับมือ “เกษตรกร” สร้างพลังที่ยิ่งใหญ่ แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง
24 September 2024
เมื่อ “ช่างไฟฟ้า” จับมือ “เกษตรกร” สร้างพลังที่ยิ่งใหญ่ แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง
สองพลังประสานที่ยิ่งใหญ่ จุดประกายไฟแห่งการพัฒนา แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง
จากผืนดินแห่งความแห้งแล้งไร้ซึ่งชีวิตและความหวัง แม้แต่วัชพืชที่ทนทานที่สุดก็ยังเติบโตได้ยาก แต่แล้ววันหนึ่งประกายแห่งความหวังก็เริ่มก่อตัวขึ้น เมื่อชาวบ้านตัดสินใจรวมพลังกันเพื่อเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิต พร้อมไปกับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ร่วมมือกันพัฒนาด้วยความสามัคคี ความมุ่งมั่น และการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างชาญฉลาด แม้แต่ดินแดนที่แห้งแล้งที่สุดก็สามารถพลิกเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ได้

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลและพัฒนาชีวิตชุมชนใกล้แนวสายส่ง บ้านโนนยาง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ กฟผ. ร่วมมือกับชาวบ้าน ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และส่งเสริมศักยภาพชุมชนสังคม ให้เป็นชุมชนที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องพึ่งตนเองได้ เป็นสังคมอยู่ดีมีสุข อย่างยั่งยืน
“วิศวกรรมไฟฟ้า” ผสาน “เกษตรกรรม”
สู่นวัตกรรมแนวสายส่งไฟฟ้าที่บ้านโนนยาง

จากเกษตรดั้งเดิม สู่วิสาหกิจชุมชน ด้วยนวัตกรรมการเกษตรแม่นยำ
เกษตรกรบ้านโนนยางหมู่ที่ 1 และหมู่ 10 มีการรวมกลุ่มจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 ภายใต้ชื่อ “กลุ่มเกษตรกรปลูกพืชผักใต้แนวเขตไฟฟ้าแรงสูงบ้านโนนยาง” มีวัตถุประสงค์เพื่อการผลิตสินค้า การให้บริการ หรือการอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชน มีสมาชิกวิสาหกิจชุมชนจำนวน 60 คน และจดแจ้งกลุ่มกิจการเพื่อสังคม ตามมาตรา 73 แห่ง พรบ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 ออกให้ ณ วันที่ 19 เมษายน 2565

กลุ่มเกษตรกรปลูกพืชผักใต้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงบ้านโนนยาง มีการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง มีการแบ่งปันความรู้ในการเพาะปลูกพืชแต่ละชนิด และร่วมกันทำปุ๋ยเพื่อใช้ในการเกษตร ตลอดจนมีการประชุมเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ นอกจากนี้ยังมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน โดยเอาผลผลิตไปช่วยงานบุญ งานของชุมชน สร้างสังคมแห่งการแบ่งปันและเกื้อกูลกัน

ทำความรู้จักกับบ้านโนนยาง
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรปลูกผักใต้แนวเขตไฟฟ้าแรงสูงบ้านโนนยาง เกิดขึ้นจากการเข้ามาส่งเสริมชาวบ้านในพื้นที่ใกล้แนวเขตสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. โดยได้มีการพัฒนายกระดับระบบเกษตรอัจฉริยะด้วยโรงเรือนโซลาร์เซลล์กึ่งใส ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมอำนวยความสะดวก และเพิ่มคุณภาพของผลผลิต จนกลายเป็นวิสาหกิจชุมชนที่มีความเข้มแข็งและมั่นคง
โดยได้รับการส่งเสริมการใช้ประโยชน์พื้นที่ใต้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง จำนวน 30 ไร่ และพัฒนาระบบโซลาร์เซลล์กึ่งใส (นวัตกรรมปันแสง) เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตรบนพื้นที่ 400 ตารางเมตร ปลูกพืชผักปลอดภัยเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับครัวเรือน เช่น ผักกวางตุ้ง คะน้า พริก ข้าวโพด มันเทศ ผักบุ้ง มะเขือเทศ มะเขือ แตงกวา กะหล่ำปลี ผักแพรว ขึ้นฉ่าย กะเพรา แมงลัก มะละกอ โหระพา ข่า ตะไคร้ ต้นหอม ผักชี ผักสลัด ฟักทอง และพืชสมุนไพรต่าง ๆ เป็นต้น ยกระดับมาตรฐานการทำระบบการเกษตร ได้รับการรับรองมาตรฐานประเภทผักปลอดภัยจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
เมื่อ “ช่างไฟฟ้า” จับมือ “เกษตรกร” สร้างพลังที่ยิ่งใหญ่ แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง
กฟผ. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ศึกษาวิจัยรูปแบบนวัตกรรมการเกษตรแม่นยำ เพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดการวิสาหกิจชุมชนใต้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง สู่กิจการเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน โดยได้นำระบบโซลาร์เซลล์กึ่งใส เกษตรแม่นยำระบบ IOT มาศึกษาเพื่อเปรียบเทียบวิธีการปลูกพืชแบบดั้งเดิมกับการปลูกพืชด้วยระบบเกษตรแม่นยำ ซึ่งผลลัพธ์ปรากฏว่าระบบเกษตรแม่นยำสามารถเพิ่มผลผลิต ลดความสูญเสียและลดค่าใช้จ่ายในการทำเกษตรให้แก่เกษตรกร อีกทั้งยังพบว่าพืชเศรษฐกิจที่เหมาะสมต่อการนำระบบโซลาร์เซลล์กึ่งใสมาใช้ในการปลูกผัก ได้แก่ กรีนโอ๊ก เรดโอ๊ก กรีนคอส เรดคอส และ เคล ซึ่งช่วยให้การใช้พื้นที่แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเกิดประโยชน์ อีกทั้งการนำระบบโซลาร์เซลล์กึ่งใสมาใช้นอกจากจะช่วยป้องกันฝนให้กับพืชผักแล้ว ยังสามารถผลิตไฟฟ้ามาใช้สูบน้ำเพื่อใช้กับระบบน้ำในพื้นที่ เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมและพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่สู่การเป็น กลุ่มกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน รวมถึงเป็นแนวทางการพัฒนายกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยคงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นและสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ใช้วัตถุดิบหรือทรัพยากรในชุมชน ได้แก่ ผักเคลผง มันเทศทอดกรอบ และน้ำนมข้าวโพด ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรปลูกพืชผักใต้แนวเขตไฟฟ้าแรงสูงบ้านโนนยาง”

” ตอนแรกก็รู้สึกว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเป็นดินทราย ดินร้อนมาก กฟผ. เข้ามาก็ทำประชาคมตกลงกันว่าจะลองดู ชาวบ้านมีรายได้หลังจากจากการทำนา ผักก็ได้กินเพราะเป็นผักปลอดสารพิษ ปลอดภัย เหลือก็ได้ขาย ชาวบ้านก็ได้มีกิจกรรมทำร่วมกัน
สิ่งที่เราได้รับ มันไม่มีใครได้รับ เพราะบ้านโนนยางเป็นบ้านที่โชคดีมีสายไฟพาดผ่าน เราก็ทำให้ดีที่สุด เพื่อต่อไปลูกหลานกลับมาอยู่บ้านก็จะได้ขายผัก และจะพยายามผลักดันกลุ่มไปให้ถึงตลาดได้มากที่สุด “
นายวนิตย์ ตรางา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านโนนยาง
” สิ่งที่เราได้รับ มันไม่มีใครได้รับ เพราะบ้านโนนยางเป็นบ้านที่โชคดีมีสายไฟพาดผ่าน “
ดารุณี ตรางา อายุ 66 ปี ผู้พิการจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทำให้เป็นผู้ป่วยติดเตียงนานนับปี พอเริ่มเดินได้ก็ไม่สามารถกลับไปทำงานเหมือนเดิมได้ ประจวบกับทาง กฟผ. มาทำโครงการนี้ก็ทำให้แม่ได้เริ่มมีที่มีทาง มาทำก็ลองผิดลองถูกก็ทำเอา ปลูกแตง ผักหอม กวางตุ้ง ทำให้มีผักไว้กิน ไม่ต้องซื้อ และเหลือไว้ขายด้วย เฉลี่ย 2-3,000 บาท ตอนแรกก็ไม่อยากทำ เพราะมีแต่ดินทราย กลัวทำไม่ได้ แต่ก็ลอง
ที่ผ่านมาปลูกแตง 3 แถว ประมาณ 2 เดือน ก็ได้ประมาณ 2-3,000 บาท ก็ทำให้คุณภาพชีวิตคนในชุมชนดีขึ้น

” คนแก่มีอะไรทำก็ดีใจ มีความสุข หาเงินได้ก็ดีใจ “

บุญชู ราญมีชัย อายุ 54 ปี อดีตเคยทำงานบริบาลดูแลผู้ป่วยอยู่ในกรุงเทพ นานถึง 14 ปี ก่อนตัดสินใจย้ายกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดใน อ.เสลภูมิ ทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน หรือ อสม. ในช่วงแรกทางวิสาหกิจชุมชนก็ประสบปัญหาไม่มีช่องทางการขาย พืชผักที่ปลูกได้ไม่รู้จะไปขายที่ไหน ต้องใช้วิธีเอาไปขายเองในชุมชน หรือไปออกร้านขายในตลาดเทศบาลตำบลขวาว และออกงานต่าง ๆ จนเกิดการบอกต่อแบบปากต่อปาก ทำให้ผลผลิตของบ้านโนนยางเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ในช่วงแรกยังประสบปัญหาผักที่ปลูกชนิดเดียวกัน และเก็บขายในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้ผลผลิตล้นตลาด ขายไม่ได้ราคา ทางกลุ่มจึงตกลงกันว่าหากปลูกพืชชนิดเดียวกัน จะต้องปลูกในช่วงเวลาเหลื่อมกัน (ช้ากว่าอีกแปลงหนึ่งประมาณ 1 อาทิตย์) เพื่อให้ผลผลิตออกไล่เลี่ยกัน และมีขายตลอดเวลา ของบ้านเรามีแม่ค้าเข้ามารับซื้อถึงสวน สวนผักทำให้เราได้เงินตลอดปี ได้อยู่ ได้กิน
“ มันมีความสุขตรงที่ว่า กลางวันเราก็มาหากิน มีตลาดสดอยู่กับตัว แถมยังสามารถขายสร้างรายได้เลี้ยงตัวได้ ”
ต้นแบบความสำเร็จ สู่แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
แม้วันเวลาจะผันผ่าน แต่ความตั้งใจของ กฟผ. ยังคงแน่วแน่เสมอ ในการเป็นพลังขับเคลื่อนภารกิจแห่งความยั่งยืน ด้วยความรักความสามัคคีและความร่วมมือของทุกคน กำลังหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังให้งอกงามในทุกชุมชน ภารกิจแห่งความยั่งยืนของ กฟผ. จึงไม่ใช่เพียงหน้าที่แต่เป็นพันธสัญญาที่มีต่อแผ่นดินและผู้คน เป็นความรักที่ถักทอขึ้นจากความเข้าใจและความห่วงใย ที่จะคงอยู่เคียงข้างสังคมไทยตราบนานเท่านาน

กฟผ. มีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนอยู่ดีกินดีขึ้น จึงได้เกิดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลและพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนใต้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงบ้านโนนยาง โดยที่ กฟผ. ได้เข้ามาสำรวจและขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อใช้ในการเกษตรให้ชุมชน
กฟผ. ได้ทำระบบน้ำเข้าแปลงผักให้ชุมชน สามารถเพาะปลูกพืชผักสวนครัว ต่อยอดด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี มายกระดับการเพาะปลูกเกษตรแบบดั้งเดิม โดยทำโครงการโซลาร์เซลล์ปันแสง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและปลูกพืชใต้แผงโซลาร์เซลล์ โดยจะเป็นพวกสลัด เช่น เคล กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค ช่วยเพิ่มมูลค่าพืชผักของชุมชน และเห็นถึงความตั้งใจของกลุ่มวิสาหกิจในการดำเนินโครงการ จนสามารถพึ่งพาตนเอง
นายอติเทพ มวยมั่น ผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ทำหน้าที่นักวิจัยโครงการ

ภารกิจแห่งความยั่งยืน กับการดูแลชุมชนของ กฟผ.
จากจุดเริ่มต้นโครงการของหน่วยบำรุงรักษาและปฏิบัติการสายส่ง ที่มีแนวคิดในการใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดความถี่และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสายส่ง จึงได้ร่วมมือกับชาวบ้านขออนุญาตใช้พื้นที่ใต้แนวสายส่งเพื่อการเพาะปลูกผักสวนครัว และขอการสนับสนุนในการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก ซึ่งการดำเนินการของโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างดียิ่ง ทั้งในส่วนของ กฟผ. ชาวบ้าน ชุมชน และผู้นำท้องถิ่น เนื่องจากเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความต้องการของชุมชนใกล้แนวสายส่งอย่างแท้จริง
ในวันที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ หรือแม้แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความห่วงใย ที่ไม่เพียงแต่ส่งมอบพลังงานไฟฟ้าที่มั่นคงเท่านั้น แต่ยังส่งต่อความหวังและอนาคตที่สดใสให้กับชุมชนรอบข้าง และในทุกก้าวย่างที่เดินหน้าไป กฟผ. ตั้งใจมุ่งมั่นที่จะสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านพลังงานไฟฟ้าและการอนุรักษ์ ควบคู่ไปกับความยั่งยืนของชุมชน
