โรงไฟฟ้าพลังน้ำคลองช่องกล่ำ

โรงไฟฟ้าพลังน้ำคลองช่องกล่ำ เป็นโครงการหนึ่งตามพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อผลิตไฟฟ้า สำหรับอุตสาหกรรมขนาดเล็ก อันจะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ให้แก่ราษฎร ในบริเวณพื้นที่ราบเชิงเขาจังหวัดปราจีนบุรี โครงการนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกรมชลประทานร่วมกันดำเนินการก่อสร้าง

ความเป็นมา

บริเวณ พื้นที่ป่าเชิงเขาบรรทัดแถบชายแดนไทย-กัมพูชา เขตจังหวัดสระแก้ว แต่เดิมมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมขาดแคลนน้ำในการเกษตร นอกจากจะถูกราษฎรบุกรุกทำลายป่าอย่างกว้างขวางแล้ว ยังเป็นเขตแทรกซึมของฝ่ายตรงข้าม เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบปัญหาที่เกิดขึ้น ได้ทรงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาพื้นที่เหล่านี้กองทัพภาคที่ 1 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการขึ้น เรียกว่าโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาจังหวัดปราจีนบุรี ตามพระราชดำริ ประกอบด้วย การพัฒนาในด้านต่าง ๆ คือ เขื่อนคลองช่องกล่ำตอนบนและเขื่อนคลองช่องกล่ำตอนล่างอำเภอวัฒนานคร และเขื่อนท่ากระบาก อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2524

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่แห่งนี้เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 และทรงมีพระราชดำริให้พิจารณานำน้ำที่ระบายจากเขื่อนมาใช้ประโยชน์ในการผลิต พลังงานไฟฟ้า ก่อนที่จะระบายน้ำไปใช้ในการเกษตรเพื่อเป็นการพัฒนาแห่งน้ำในท้องถิ่นให้ เกิดประโยชน์เต็มที่ โดยทรงมอบหมายให้ กฟผ. เป็นผู้ศึกษารายละเอียด

จากนั้น ในคราวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2524 ได้ทรงมีพระราชดำริให้พิจารณาเพิ่มความสูงของเขื่อนคลองช่องกล่ำตอนบนอีก 2 เมตร หรือตามความเหมาะสมเพื่อให้อ่างเก็บน้ำมีความจุมากขึ้นและสามารถเพิ่มกำลัง ผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าได้มากขึ้นด้วย สำหรับระบบไฟฟ้าให้พิจารณาเดินสายไฟฟ้าไปยังหมู่บ้านในพื้นที่โครงการ คือ หมู่บ้านคลองทราย คลองคันโทและท่ากระบาก เพื่อให้กับเครื่องสีข้าวซึ่งเป็นพระราชประสงค์หลักด้วยการดำเนินงานนี้ กรมชลประทานเป็นผู้รับผิดชอบการเสริมความสูงตัวเขื่อนไปอีก 2.40 เมตร ซึ่งเป็นความสูงที่เหมาะสมที่สุดตามผลการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของ กฟผ. โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างในเดือนธันวาคม พ.ศ.2525 แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2526 สำหรับ กฟผ. เป็นผู้รับผิดชอบงานระบบไฟฟ้า ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2526 และงานระบบส่งไฟฟ้าดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2526 เป็นต้นมา กฟผ. มอบโอนระบบส่งไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รับไปดำเนินการและบำรุงรักษา ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2527 ส่วนระบบไฟฟ้าแสงสว่างสาธารณะภายในหมู่บ้าน ได้มอบให้จังหวัดปราจีนบุรีรับไปดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2527 และ กฟผ. เป็นผู้บำรุงรักษาโรงไฟฟ้าและเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2526 และ 2527 ได้เกิดฝนตกหนัก ทำให้มีน้ำหลากเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อน ช่องกล่ำตอนบนเป็นปริมาณสูงมากเกินกว่าที่อ่างเก็บน้ำจะรับไว้ได้ จึงไหลล้นทางระบายน้ำลงท้ายเขื่อนท่วมโรงไฟฟ้า ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร กฟผ.จึงได้ทำการปรับปรุงโรงไฟฟ้า แล้วย้ายไปตั้งอยู่ในที่สูงห่างจากที่ตั้งเดิมประมาณ 18 เมตร งานปรับปรุงได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2528 แล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2528

ที่ตั้งและลักษณะโครงการ

โรง ไฟฟ้าพลังน้ำคลองช่องกล่ำ เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กตั้งอยู่ที่ตำบลหนองน้ำใส อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ตัวโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ทางท้ายเขื่อนคลองช่องกล่ำตอนบนห่างออกไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร ติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้ากำลังผลิต 24 กิโลวัตต์ ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 700,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง เขื่อนคลองช่องกล่ำตอนบนเป็นเขื่อนดิน สร้างปิดกั้นลำน้ำคลองช่องกล่ำ ตัวเขื่อนสูง 17 เมตร สันเขื่อนยาว 222 เมตร อ่างเก็บน้ำมีความจุ 0.280 ล้านลูกบาศก์เมตร

เงินลงทุน

งบประมาณที่ใช้ดำเนินการในส่วนที่ กฟผ. รับผิดขอบรวมทั้งสิ้น 4.5 ล้านบาท

ประโยชน์

โครงการ โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กที่เขื่อนคลองช่องกล่ำตอนบนนี้ อำนวยประโยชน์ด้านการจัดหาพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้กับเครื่องสีข้าว และไฟฟ้าแสงสว่างสาธารณะในหมู่บ้านทั้ง 3 แห่ง คือคลองทราย คลองคันโท และท่ากระบาก จังหวัดสระแก้ว โดยอาศัยพลังงานน้ำจากเขื่อนมาใช้กับโรงไฟฟ้า ทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง

สถานีพลังงานแสงอาทิตย์คลองช่องกล่ำ

เมื่อปี พ.ศ.2529 กฟผ. ได้ติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ขนาดกำลังผลิต 20.16 กิโลวัตต์ ที่สถานีพลังงานแสงอาทิตย์คลองช่องกล่ำ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณโรงไฟฟ้าคลองช่องกล่ำ โดยพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกเก็บไว้ในแบตเตอรี่ ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2531 ได้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้าชนิด ต่อเชื่อมกับสายส่งไฟฟ้าเพื่อจ่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่อเชื่อมเข้าระบบจ่าย ไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนับเป็นสถานีผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์แบบต่อ เข้าระบบแห่งแรกในประเทศไทย

ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2544 กฟผ. ได้ดำเนินการปรับปรุงระบบใหม่เนื่องจากระบบต่าง ๆ เริ่มชำรุด ภายหลังการใช้งานมากกว่า 10 ปี สถานีพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้ ได้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งระบบเก็บและรวบรวมข้อมูลที่ทันสมัยเพื่อใช้เป็นแนว ทางในการพิจารณาความเหมาะสมสำหรับการนำมาใช้งานต่อไปในอนาคต

สรุป

การพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กในท้องถิ่นทุรกันดาร ถือเป็นนโยบายหนึ่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นอกเหนือจากนโยบายหลักคือ การก่อสร้างแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์อย่างกว้างขวางแก่ส่วนรวม นอกจากจะเป็นการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างคุ้มค่าแล้ว ยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศชาติมีความเจริญมั่นคงยิ่งขึ้น

สถานีพลังงานแสงอาทิตย์คลองช่องกล่ำ

แบบต่อเข้าระบบ (Grid Connected) แห่งแรกในประเทศไทย

บทนำ (Introduction)

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่จ่ายไฟเข้าระบบ (Grid Connected) แห่งแรกในประเทศไทย เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เซลล์แสงอาทิตย์เปลี่ยนรูปพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็น พลังงานไฟฟ้า ตั้งอยู่ที่บริเวณโรงไฟฟ้าพลังน้ำ คลองช่องกล่ำ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว มีขนาดกำลังผลิต 20 กิโลวัตต์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ทำการติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์เมื่อปลายปี 2529 ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม 2531 ได้ติดตั้งอุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้า ชนิดต่อเชื่อมกับสายส่งไฟฟ้า (Line Commutated Inverter) เพื่อจ่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้ ต่อเชื่อมเข้าระบบจ่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้ได้รับการออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างได้มาตรฐาน นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งระบบเก็บและรวบรวมข้อมูลที่ทันสมัย ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาและรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาความเหมาะสมสำหรับการนำมาใช้งาน ต่อไปในอนาคต

รายละเอียดทางเทคนิคของระบบ (System Technical Description)

ส่วนประกอบที่สำคัญของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่คลองช่องกล่ำมีดังต่อไปนี้

• แผงเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell Module)
• ระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Storage Battery System)
• อุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้าจากไฟฟ้ากระแสตรงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (DC/AC Inverter)
• ระบบควบคุมและรวบรวมข้อมูล (Control and Data Acquisition System)

แผงเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell Module)

แผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่นำมาติดตั้งมีทั้งที่เป็นแบบ Single Crystal Cell และแบบ Poly Crystal Cell จาก 10 บริษัทผู้ผลิตจำนวน 480 แผง รวมกำลังผลิตสูงสุด 20 กิโลวัตต์ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ถูกนำมาต่อกันแบบอนุกรม (Series) เป็นกลุ่มย่อย ๆ (Sub Array) กลุ่มละ 20 แผง (ยกเว้น / กลุ่มที่มีจำนวน 16 และ 24 แผง) ซึ่งจะให้แรงดันประมาณ 350-400 โวลต์ และมีกระแสไหลประมาณ 2.5-3.5 แอมแปร์ ที่ความเข้มแสงอาทิตย์ 1,000 วัตต์ต่อตารางเมตร จำนวน 24 กลุ่มและแต่ละกลุ่มจะนำมาต่อกันแบบขนาน (Parallel) เพื่อเพิ่มกระแสไฟฟ้ารวมกันเป็นกลุ่มแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (SolarCell Array)

ระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Storage Battery System)

แบตเตอรี่ที่ใช้เป็นแบตเตอรี่ชนิดตะกั่วกรด (Lead Acid) ขนาดแรงดันลูกละ 2 โวลต์ (V) มีความจุ 130 แอมแปร์-ชั่วโมง จำนวน 360 ลูก โดยได้ทำการต่อกันแบบอนุกรมเป็นชุด ๆ ละ 120 ลูก เพื่อให้ได้แรงดันประมาณ 240 โวลต์ แต่ละชุดจะต่อกันแบบขนานเพื่อให้ได้ความจุประมาณ 390 แอมแปร์-ชั่วโมง (Ah)

อุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter)

อุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้าที่ใช้เป็นอุปกรณ์ที่ใช้แปลงไฟฟ้ากระแสตรงไปเป็นไฟฟ้ากระแส สลับ (DC/AC Inverter) แรงดัน 220 โวลต์ เฟสเดี่ยว (Single Phase) จำนวน 6 ชุด แบ่งเป็น 2 แบบ โดยแบบที่ 1 จำนวน 3 ชุดขนาดชุดละ 4 กิโลวัตต์ สามารถต่อเชื่อมกับสายส่งไฟฟ้าจาก Battery Mode เพียงอย่างเดียว สำหรับแบบที่ 2 จำนวน 3 ชุด ขนาดชุดละ 2.5 กิโลวัตต์ สามารถต่อเชื่อมกับสายส่งไฟฟ้าได้ทั้งจาก Battery Mode และ Sola Generator Mode โดยทั้ง 2 แบบจะนำมาต่อร่วมเป็นชนิด 3 เฟส (Three Phase) แรงดัน 380 โวลต์ สามารถแปลงกระแสไฟฟ้า จ่ายกำลังงาน รวมกันได้ 20 กิโลวัตต์

ระบบควบคุมและรวบรวมข้อมูล (Control and Data Acquisition System)

ระบบควบคุมเป็นอุปกรณ์ควบคุมการประจุ/จ่ายกระแสไฟฟ้า (Charge/Discharge Controller) ให้กับระบบ แบตเตอรี่ และที่ถูกจ่ายไปยังเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า ระบบรวบรวมข้อมูลมีทั้งที่บันทึกข้อมูลแบบเชิงตัวเลข (Digital Data Recorder) และเชิงกราฟ (Analog Data Recorder) ซึ่งจะเก็บข้อมูลของพลังงานแสงอาทิตย์ อุณหภูมิ ของบรรยากาศ อุณหภูมิของเซลล์แสงอาทิตย์ การประจุ/จ่ายกระแสไฟฟ้า สภาวะของแบตเตอรี่ พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ และพลังงานไฟฟ้าที่จ่ายเข้าสู่ระบบ

การติดตั้งและการทำงานของระบบ (Installation and System Operation)

การติดตั้ง

แผงเซลล์แสงอาทิตย์แต่ละกลุ่มได้ติดตั้งบนโครงเหล็กอาบสังกะสี (Galvanized Steel Structure) ซึ่งตั้งเอียงทำมุม 15 องศากับแนวราบ หันหน้าไปทาง ทิศใต้ (Face to South) จำนวน 24 โครงแผง บนเนื้อที่ 550 ตารางเมตร (รูปที่ 1) ซึ่ง แต่ละโครงแผงต่อเชื่อมกับระบบกราวด์ (Grounding System) เพื่อผลด้านความปลอดภัยจากฟ้าฝ่า และระบบกราวด์นี้ได้ต่อโยงไปยังห้องควบคุม (Control Room) ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 80 เมตร ตามมาตรฐานความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าสำหรับการต่อเชื่อมสายไฟใช้วิธีเดินในราง สายไฟใต้ดิน (Cable Trench) เริ่มจากสายไฟจากกลุ่มแผงเซลล์แสงอาทิตย์ จะถูกเดินมายังกล่องพักสาย (Terminal Block) ซึ่งติดตั้งอยู่ที่โครงแผงแต่ละชุด ที่กล่องพักสายนี้ได้ติดตั้งสวิทช์ ควบคุมการทำงานของแผงเซลล์ รวมทั้งสายวัดอุณหภูมิของเซลล์แสงอาทิตย์ไว้ จากกล่องพักสายนี้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ จะถูกส่งไปตามสายไฟในรางสายไฟใต้ดิน ไปรวมกันที่กล่องพักสายหลัก (Main Terminal Block) ซึ่ง ปริมาณ กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากกลุ่มแผงต่าง ๆ จะถูกวัด โดยการใช้ Shunt Resistor และส่งข้อมูลไปบันทึกไว้ในเครื่องบันทึกข้อมูล จากนั้นกระแสไฟฟ้ารวมจากกล่องพักสายหลัก ถูกเชื่อมโยงด้วยสายไฟขนาดใหญ่ ต่อไปยังห้องแบตเตอรี่ และห้องควบคุมห้องควบคุมซึ่งอยู่ติดกับห้องเก็บแบตเตอรี่ (รูปที่ 2) ได้ทำการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter) และอุปกรณ์เครื่องมือวัด (Metering) ที่จำเป็นสำหรับอ่านค่ากระแสแรงดัน พลังงานของระบบรวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์เก็บรวบรวมข้อมูล (Data Acquisition System) และชุดควบคุมต่าง ๆ (Control System) ทำให้สถานภาพของระบบการทำงานของโรงไฟฟ้าแห่งนี้สามารถทำการควบคุมและตรวจสอบ ได้อย่างสะดวก โดยเครื่องมือต่างๆ ที่ติดตั้งไว้ในห้องควบคุม

การทำงานของระบบ

กลุ่มแผงเซลล์แสงอาทิตย์จะผลิตไฟฟ้า กระแสตรงเข้าประจุไว้ในแบตเตอรี่ ซึ่งควบคุมด้วยชุดควบคุมแรงดันเกิน (Over Voltage Control) เพื่อป้องกันการชำรุดเสียหายของแบตเตอรี่ เมื่อชุดแบตเตอรี่ได้รับการประจุกระแสไฟฟ้าจนเต็มแล้ว กระแสไฟฟ้าส่วนเกินจะถูกส่งเข้าเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า ชุดที่มีขนาด 2.5 กิโลวัตต์ ซึ่งสามารถจ่ายไฟต่อเชื่อมกับสายส่งไฟฟ้าด้วย Solar Generator Mode ได้ เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งโดยตรง ในวันที่มีปริมาณแสงอาทิตย์มากซึ่ง Solar Generator Mode ทำงานเต็มที่แล้ว ยังมีกระแสไฟฟ้าส่วนเกินอีก ชุดควบคุมจะส่งผ่านพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินนี้ ไปยังชุดถ่ายพลังงานทิ้ง (Dummy Load) ซึ่งทำงานโดยชุดควบคุมแรงดันเกิน
ไฟฟ้า กระแสสลับขนาดแรงดัน 380 โวลต์ ชนิด 3 เฟส ที่ได้จากการส่งพลังงานไฟฟ้า จากชุดแบตเตอรี่ ผ่านเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าใน Battery Mode หรือที่ผลิตได้จาก Solar Generator Mode จะถูกส่งต่อไปเชื่อมโยงกับไฟฟ้า ที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 20 กิโลวัตต์ เป็นระบบผลิตไฟฟ้าร่วม (Hybrid System) ที่ห้องควบคุมของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ก่อนส่งผ่านหม้อแปลงไฟฟ้าแรงสูง (High Voltage Transformer) ให้มีแรงดันขนาด 22 กิโลโวลต์ (KV) ชนิด 3 เฟส เชื่อมเข้ากับระบบจ่ายไฟฟ้าของ กฟภ. ข้อมูลต่าง ๆ ในแต่ละจุดของระบบจะถูกเก็บรวบรวมไว้ในชุดรวบรวมข้อมูล เพื่อการวิเคราะห์ผลทางด้านเทคนิคต่อไป (รูปที่ 3 และรูปที่ 4)

ผลการวิเคราะห์ข้อมูล (Result)

ข้อมูลที่รวบรวมได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คลองช่องกล่ำนี้พบว่า

  1. ค่าพลังงานแสงอาทิตย์มีค่าเฉลี่ยประมาณ 5 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อวัน
  2. ค่าพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ของแต่ละบริษัทไม่แตกต่างกันมาก มีค่าเฉลี่ยประมาณ 3.6 วัตต์-ชั่วโมงต่อวัตต์ติดตั้งต่อวัน
  3. ประสิทธิภาพ ของเซลล์แสงอาทิตย์ มีค่าเฉลี่ยประมาณ 8.4% โดยเซลล์แสงอาทิตย์แบบ Single Crystal จะมีประสิทธิภาพเฉลี่ยสูงกว่าแบบ Poly Crystal ประมาณ 1.0%
  4. ประสิทธิภาพของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ มีผลค่อนข้างสอดคล้องกับประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์มีค่าเฉลี่ยประมาณ 6.9%
  5. โรง ไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ สามารถผลิตไฟฟ้าจ่ายเข้าระบบได้ตลอดปี ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำสามารถจ่ายไฟได้ในช่วงที่มีน้ำ (ฤดูฝน) เท่านั้น (รูปที่ 5)
  6. จนถึงปัจจุบันโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์นี้ จ่ายไฟสะสมเข้าระบบไปแล้วมากกว่า 150,000 หน่วย

ประสบการณ์ (Experiences)

มีหลายครั้งที่ระบบเซลล์แสงอาทิตย์มีปัญหาในลักษณะต่างๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการวิเคราะห์และแก้ไข จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า

  1. แบตเตอรี่มีอายุการใช้งานสั้น จะต้องเปลี่ยนใหม่ทุก 3 ปี
  2. แผลเซลล์แสงอาทิตย์ ราคาถูกจากผู้ผลิตบางรายมีปัญหา การกัดกร่อนเกิดขึ้นที่ขั้วโลหะบนแผ่นเซลล์ เนื่องจากความชื้นที่แทรกผ่านวัสดุห่อหุ้มด้านหลังแผงเข้าไป
  3. เครื่องแผลงกระแสไฟฟ้าทำงานผิดปกติในช่วงฤดูร้อนเนื่องจากความร้อนสูง
  4. อุปกรณ์ตัดต่อไฟกระแสตรง (DC Contactor) ที่เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าไหม้เนื่องจากมีขนาดเล็กเกินไป
  5. เครื่อง บันทึกข้อมูลชำรุดเนื่องจากสายรับสัญญาณได้รับแรงดันไฟฟ้าเหนี่ยวนำ (Induced voltage) จากการเกิด ฟ้าฝ่า ในบริเวณใกล้เคียงเข้ามาการแก้ไขที่ได้ดำเนินการ เช่น การติดพัดลมดูดอากาศ (Muffin Fan) ให้กับเครื่องแปลงกระแส เพื่อระบายความร้อนออก เปลี่ยนอุปกรณ์ตัดต่อไฟกระแสตรงให้มีขนาดใหญ่ขึ้น สามารถทนกระแสไฟฟ้าได้สูงขึ้น ติดตั้งตัวแปลงสัญญาณและอุปกรณ์ป้องกันให้กับ ระบบรวบรวมข้อมูล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ช่วยพัฒนา ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น

บทสรุป (Conclusion)

หลังจากที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ คลองช่องกล่ำสามารถจ่ายไฟเข้าระบบได้เรียบร้อยแล้ว ได้มีการเก็บข้อมูลการทำงานของระบบ เพื่อนำมาศึกษาและใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สำหรับข้อมูลระยะยาวที่เก็บรวบรวมต่อไปนั้น จะเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในการพิจารณาถึงความเหมาะสมทั้งทางเทคนิคและ เศรษฐศาสตร์ของความเป็นไปได้ในการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ผลิตไฟฟ้าในขนาด ที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้นสถานีผลิตไฟฟ้าแห่งนี้ ได้รับการออกแบบติดตั้งและดำเนินงานโดยเจ้าหน้าที่ของ กฟผ. ในทุกขึ้นตอน จึงนับว่าเป็นการสร้างความรู้และเพิ่มประสบการณ์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องเป็น อย่างมากอีกทั้งยังเป็นการเตรียมพร้อมด้านบุคลากรสำหรับอนาคตอีกทางหนึ่ง ด้วย

Skip to content