โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านยาง

หมู่บ้านยางเป็นหมู่บ้านเล็กๆ อยู่หลังหุบเขาในตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ในอดีตเคยสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้เขียวชอุ่ม แต่เมื่อชาวบ้านหารายได้จากการปลูกฝิ่น ป่าไม้ก็ลดจำนวนลง เมื่อ พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านนี้ ทรงทราบถึงปัญหาและได้พระราชทานแนวทางให้เปลี่ยนมาปลูกผักผลไม้เมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่น ภายใต้การดำเนินงานของโครงการหลวงที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 แต่เนื่องจากพื้นที่ในเขตหมู่บ้านยางนั้นอยู่ห่างไกลระบบสาธารณูปโภคยังเข้าไม่ถึง จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เมื่อพระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นลำธารในหมู่บ้านนี้มีน้ำไหลผ่านตลอดปี จึงมีพระราชดำริให้นำน้ำในลำธารมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

พลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์ องคมนตรีในรัชกาลที่ 9 และอดีตผู้ว่าการ กฟผ. ถ่ายทอดถึงหลักแนวคิดพระราชทานว่าพระองค์ทรงมีความรู้ว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำสามารถทำได้สองแบบ แบบแรกได้จากการนำน้ำที่ไหลจากที่สูงลงมาผลักกังหันเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ส่วนอีกแบบหนึ่งคือ น้ำไหลในทางราบ ซึ่งหากไหลอยู่ตลอดเวลาก็ทำให้กังหันเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมุนได้เช่นกัน

เมื่อพระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นทางน้ำไหลอยู่ตลอดเวลาที่หมู่บ้านยาง จึงมีพระราชดำริให้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการสร้างโรงไฟฟ้าที่นี่ และมีพระราชประสงค์ให้ผลิตไฟฟ้าเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงานของโรงงานแปรรูปผลไม้ เพราะเวลานั้นยังไม่มีไฟฟ้าเข้าไปถึงหมู่บ้านดังกล่าว

กฟผ. ได้สำรวจศึกษาความเหมาะสมพบว่า สามารถพัฒนาได้ในระยะสั้น โดยใช้เงินลงทุนต่ำ จึงเริ่มก่อสร้างในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2516 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานทุนทรัพย์เป็นทุนตั้งต้น และมีบริษัท ร้านค้า และเอกชน ร่วมถวายโดยเสด็จพระราชกุศล รวมมูลค่า 1,553,525 บาท สามารถก่อสร้างแล้วเสร็จในระยะเวลาประมาณ 8 เดือน

ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถม้าที่ราษฎรบ้านยางและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมจัดถวาย ไปตามเส้นทางสู่โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านยาง ตลอดทางมีราษฎรจำนวนมากมารอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ทรงประกอบพิธีเปิดโรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านยาง จ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่หมู่บ้านต่างๆ โดยรอบและโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) เพื่อใช้ในการแปรรูปผลิตผลการเกษตร ช่วยสร้างรายได้ให้กับราษฎรในพื้นที่

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านยางมีขนาดกำลังผลิตรวม 124.5 กิโลวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณปีละ 0.4 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง สามารถจ่ายไฟได้ครอบคลุมหมู่บ้านยาง หมู่บ้านแม่งอนขี้เหล็ก หมู่บ้านแม่ข่า โครงการหลวง และส่งให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนำไปจำหน่ายในเขตอำเภอฝางได้อีกส่วนหนึ่ง กล่าวได้ว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านยางเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กอีกหลายแห่งในเวลาต่อมา

Skip to content