พลังเล็ก ๆ จากคน กฟผ. ที่ทำด้วยหัวใจ ร่วมฝ่าวิกฤต COVID-19

6 August 2021

ในวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ เราได้เห็นพลังของจากคนไทยทุกคนที่ร่วมมือกันเพื่อให้สามารถผ่านเหตุการณ์ในครั้งนี้ไปได้ “จิตอาสา กฟผ.” ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ที่ร่วมมือร่วมแรงใจ โดยหวังให้คราบน้ำตา ความสูญเสีย และความสิ้นหวังของผู้คน ค่อย ๆ ผันเปลี่ยนมาเป็นรอยยิ้มเล็ก ๆ ที่เสริมเติมพลังบวกให้เป็นความเข้มแข็งที่พร้อมจะต่อสู้ไปด้วยกัน

ช่างอาสาผลิตหมวกป้องกันเชื้อ (PAPR) และตู้ตรวจโควิด อุปกรณ์เสริมแกร่งให้ทีมแพทย์

         งานด้านหนึ่งที่คน กฟผ. ถนัดไม่แพ้ใคร คือด้านนวัตกรรม ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก นับเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมชิ้นนี้ก็ว่าได้ นั่นคือการผลิตหมวกป้องกันเชื้อ PAPR (Powered Air Purifying Respirator) ที่จิตอาสา กฟผ. โดยฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล และฝ่ายโรงงานและอะไหล่ ริเริ่มพัฒนาหมวกป้องกันเชื้อ PAPR ขึ้นภายใต้การดูแลมาตรฐานโดย นพ.อนวัช เสริมสวรรค์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทั้งยังปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้นตามคำแนะนำของแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดีที่นำไปทดลองใช้งานจริงอีกด้วย จนได้เป็นต้นแบบหมวกฯ PAPR รุ่นล่าสุดที่มีความเหมาะสมต่อการใช้งาน โดย กฟผ. วางแผนผลิตและส่งมอบให้โรงพยาบาลทั่วประเทศรวม 1,000 ชุด

         เพื่อให้หมวกฯ PAPR สามารถผลิตได้ต่อเนื่องและให้ได้จำนวนตามเป้าหมายโดยเร็ว จึงมีการระดมทั้งทีมช่างจิตอาสาที่มีความเชี่ยวชาญจาก กฟผ. ทั่วประเทศ เดินหน้าผลิตหมวกฯ PAPR อย่างต่อเนื่อง ด้วยวัสดุและอุปกรณ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ภายในฐานการผลิตและทดสอบคุณภาพหลักที่ กฟผ. สำนักงานหนองจอก โดยสามารถผลิตพร้อมส่งมอบได้ประมาณ 100 ชุดต่อสัปดาห์ ซึ่งล่าสุด กฟผ. ได้ส่งมอบให้โรงพยาบาลทั่วประเทศไปแล้วกว่า 500 ชุด

         “เป็นความภูมิใจที่พวกเราได้ใช้ทักษะวิชาชีพของตัวเองมาทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม พวกเราช่วยกันอย่างเต็มที่แบบเว้นระยะห่าง เพื่อให้การส่งมอบหมวกฯ PAPR ถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุด และยิ่งทราบว่าช่วยให้แพทย์มีความคล่องตัวขึ้นในการทำงาน ลดการเป็นลมจากการใส่ชุด PPE และมั่นใจว่าได้รับการป้องกันเชื้อโรคเป็นอย่างดี ก็ถือเป็นพลังให้กับพวกเราว่าสิ่งที่ทำไปนั้นไม่สูญเปล่า เพราะบุคลากรด่านหน้าของประเทศได้นำไปใช้งานจริง ๆ” นายจิตติ บัวพูน วิศวกร กฟผ. ผู้แทนทีมช่างอาสาผลิตหมวกฯ PAPR กล่าว

         นอกจากนี้ ในช่วงก่อนหน้านี้ กฟผ. ก็ได้ระดมจิตอาสาทั่วประเทศผลิตตู้ตรวจโควิด ภายใต้การออกแบบและให้คำแนะนำของนายแพทย์อนวัช เสริมสวรรค์ เช่นกัน โดยตัวตู้มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมทรงสูง ผลิตจากแผ่นอะคริลิก หนา สีใส ภายในมีช่องใส่ถุงมือปิดซีลอย่างมิดชิด โดยมีการติดตั้งระบบควบคุมแรงดันอากาศ ระบบหมุนเวียนอากาศ ระบบกรองอากาศและฆ่าเชื้อโรคประสิทธิภาพสูง พร้อมติดตั้งล้อเลื่อนเพิ่มความสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายและใช้งานในพื้นที่หลากหลาย รวมถึงได้มีการพัฒนาเสริมความแข็งแกร่งคงทนของตู้ด้วยโครงสแตนเลส และได้ติดตั้งไมโครโฟนและลำโพงสำหรับใช้สื่อสารระหว่างแพทย์และผู้รับบริการอีกด้วย เพื่อสร้างความปลอดภัยในการทำงานของทีมแพทย์ และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยได้มีการส่งมอบตู้ตรวจโควิดไปทั่วประเทศแล้ว 600 ตู้

จิตอาสาร่วมหนุน-สร้างศูนย์พักคอยและโรงพยาบาลสนาม

         การมีผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผลที่ตามมาคือโรงพยาบาลมีเตียงไม่เพียงพอที่จะรับผู้ป่วยไว้ได้ ทางออกที่พอทำได้มากที่สุดในช่วงวิกฤตนี้คือ การที่โรงพยาบาลของรัฐแต่ละแห่งเร่งสร้างโรงพยาบาลสนามเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับดูแลผู้ป่วยที่ระดับอาการสีเขียว (ผู้ป่วยไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่มาก เช่น มีไข้ ไอ น้ำมูก ตาแดง ผื่นขึ้น ไม่มีโรคร่วม) เพื่อให้เป็นสถานที่พักรักษาตัวแยกจากที่บ้าน เพื่อให้ได้รับยารักษาอาการและได้รับการดูแลจากแพทย์ พยาบาล ไม่ให้อาการทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

         กฟผ. จึงได้เข้าไปร่วมสนับสนุนโรงพยาบาลสนามในทุกพื้นที่ทั้งกรุงเทพฯ และในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ โดยใช้วิธีการเข้าไปเติมเต็มในสิ่งที่ขาด เนื่องจาก กฟผ. ไม่มีกำลังบุคลากรทางการแพทย์ จึงขอเป็นส่วนสนับสนุน ไม่ว่าจะของกิน ของใช้ สิ่งใดที่ขาดแคลนก็จะเข้าไปสนับสนุน เพื่อให้โรงพยาบาลสนามแห่งนั้นสามารถดำเนินงานต่อไปได้อย่างราบรื่น เช่น กฟผ.แม่เมาะ ได้เข้าไปสนับสนุนไม้อัด เพื่อนำไปซ่อมแซมอาคารที่ใช้เป็นศูนย์พักคอยสำหรับกักตัวผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาจากพื้นที่เสี่ยงในพื้นที่ ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง หรือที่โรงพยาบาลสนามเขาชนไก่ โรงพยาบาลสนามท่ากระดานในพื้นที่รอบเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี โรงพยาบาลสนามธรรมรัศมีในพื้นที่รอบเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ กฟผ. ก็เข้าไปสนับสนุนหมวกป้องกันเชื้อ PAPR เตียงสนามพร้อมเครื่องนอน เจลแอลกอฮอล์ ชุดสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นสำหรับผู้ป่วย

         โรงพยาบาลสนามบางแห่ง มีความต้องการกำลังคนในการเข้าไปช่วยงาน ทีมจิตอาสา กฟผ. จึงเข้าไปร่วมด้วยตั้งแต่แรกเริ่มที่ดำเนินการจัดตั้ง อย่างที่โรงพยาบาลสนามใต้ร่มพระบารมี ณ คลังสินค้า 4 สนามบินดอนเมือง กรุงเทพฯ ซึ่งมีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยประมาณ 2,000 เตียง โดยทีมจิตอาสา กฟผ. ซึ่งมาจากหลายหน่วยงานและหลายวิชาชีพภายใน กฟผ. ตั้งแต่ช่างบำรุงรักษา ช่างเชื่อม วิศวกร ทั้งจากโรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ฝ่ายบริหารและจัดการทรัพยากร สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานไทรน้อย ฝ่ายจัดการและพัฒนาระบบสารสนเทศ ฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า ฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล และฝ่ายอื่นๆ ต่างใช้ความรู้ความสามารถและความชำนาญที่มี เข้าไปช่วยงานอย่างเต็มกำลัง ที่มากไปกว่านั้นเหล่าผู้ปฏิบัติงานที่เกษียณอายุไปแล้วที่มีจิตอาสาอยู่ในหัวใจและไม่ลืมความเป็นชาว กฟผ. มาร่วมลงแรงลงพลังทำความดีในครั้งนี้อีกด้วย

         ทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน ตั้งแต่การวางระบบไฟฟ้าภายในโรงพยาบาลสนามทั้งหมด ขณะเดียวกันบางส่วนก็ร่วมกันขนสิ่งของ ประกอบเตียงสนาม จัดวางเตียง ฟูกนอน หมอนและสิ่งจำเป็นต่าง ๆ นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้ของโรงพยาบาลสนามก็คือห้องน้ำนั่นเอง ทีมจิตอาสาได้ร่วมกันเชื่อมโครงห้องน้ำ เพราะหากทำไม่แข็งแรงหรือวางระบบไม่ดีอาจจะส่งผลต่อสุขลักษณะของโรงพยาบาลได้ รวมไปถึงการซ่อมแซมสถานที่ ซ่อมแซมหลังคาที่ชำรุดให้พรักพร้อมสำหรับรองรับผู้ป่วยที่จะเข้ามาใช้บริการ

         นายสุทธิรักษ์ ฟักภู่ ช่าง กฟผ. พร้อมเพื่อนผู้ปฏิบัติงานที่เรียกได้ว่ายกกันมาตั้งแต่ระดับบริหาร จนถึงระดับปฏิบัติการได้ลงพื้นที่ไปช่วยวางระบบไฟฟ้า เดินระบบสายไฟ ทำรางปลั๊กไฟ เพื่อรองรับการใช้อุปกรณ์แสงสว่าง และอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างปลอดภัย

         เมื่อถามว่าเหนื่อยหรือไม่ที่มาเป็นจิตอาสา ที่ใช้เวลาในช่วงวันหยุดด้วย นายสุทธิรักษ์ ให้คำตอบว่า ไม่ มองว่างานไหนทำได้ก็ช่วยกันทำเต็มที่ ทำได้เท่าไรก็ทำเท่านั้น สำคัญคือต้องทำภารกิจหลักให้เรียบร้อยก่อนแล้วค่อยมาทำงานจิตอาสา เพราะงานภารกิจหลักก็มีความสำคัญ

         นายสาโรจน์ มากคง หนึ่งในจิตอาสาที่มาช่วยงานที่โรงพยาบาลสนามใต้ร่มพระบารมี เล่าว่า มากับเพื่อน ๆ ที่เป็นกลุ่มจิตอาสา กฟผ. ไทรน้อย ใช้เวลาในช่วงที่ทำงานภารกิจหลักเสร็จเรียบร้อยแล้ว และในช่วงนอกเวลางาน ก็มาช่วยงาน ซึ่งทุกคนเต็มใจและอยากมาช่วยทำงาน เพราะมองว่างานไหนทำได้ก็มาช่วย ๆ กัน ซึ่งวันนี้ก็มาช่วยกันจัดตั้งห้องน้ำ ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นและต้องทำให้มิดชิดเรียบร้อย เพื่อให้มีห้องน้ำใช้งานอย่างเพียงพอและมีสุขอนามัยที่ดี

         ด้าน นายปราโมทย์ สัมมาทัต เล่าให้ฟังว่า ทีมจิตอาสา กฟผ. ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมา ขึ้นอยู่กับงานที่แต่ละคนรับผิดชอบ ซึ่งมาช่วยกันดูเรื่องของการบำรุงรักษาสถานที่โดยรอบ โดยพบว่าหลังคาคลังสินค้ามีปัญหาต้องซ่อมหลายจุด ต้องอาศัยการบินโดรนสำรวจว่ามีจุดไหนบ้างที่จะต้องซ่อมแซม จากนั้นจึงจะตั้งนั่งร้านเพื่อขึ้นไปซ่อมแซมต่อไป เนื่องจากหลังคามีความสูงมาก และจะช่วยดูภาพรวมว่างานส่วนไหนมีปัญหาก็จะช่วยให้คำปรึกษา หรือร่วมกันแก้ปัญหากับหน่วยงานอื่นที่เข้ามาดำเนินการร่วมกัน

จิตอาสาหาเตียงให้ผู้ป่วยโควิด ช่วยให้ได้เข้ารับการรักษา

         กฟผ. ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ในโครงการร่วมใจดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่เป็นพนักงาน ลูกจ้าง รวมถึงครอบครัวของพนักงานและลูกจ้าง กฟผ. ที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรเตียงและรอเข้ารับการรักษาในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยประสานเคลื่อนย้ายผู้ป่วยให้ได้เตียงในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel โดยเร็วที่สุด

         กว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จิตอาสา กฟผ. ราว 40 ชีวิต ได้ช่วยหาเตียงให้กับผู้ป่วยไปแล้ว 14 ราย ซึ่งมีทั้งผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงมากนัก ไปจนถึงผู้ป่วยที่มีอาการหนักอย่างน่าเป็นห่วง เพราะในแต่ละเวลานาทีที่เดินไปถือเป็นนาทีของชีวิต ทำให้ต้องเร่งหาเตียงให้ได้โดยเร็ว เช่น ผู้ป่วยที่รอเตียงมาเกือบ 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยอาการหนัก ผู้ป่วยแม่-ทารก 7 เดือน ที่มีอาการไอรุนแรง เป็นต้น ซึ่งหลังจากผู้ป่วยได้เตียงแล้ว ก็จะมีทีม Follow up คอยติดตามอาการผู้ป่วย และเมื่อผู้ป่วยได้กลับบ้านเพื่อกักตัวสังเกตุอาการ 14 วันแล้ว นอกจากทีมจิตอาสาจะแจ้งวิธีปฏิบัติตัวในช่วงของการกักตัว ก็ยังมีการส่งมอบอาหารแห้ง น้ำ และของใช้จำเป็นระหว่างการกักตัวที่บ้านด้วย ล่าสุด จิตอาสา กฟผ. กลุ่มนี้ยังได้เริ่มโครงการคน กฟผ. ร่วมกับ สสจ.นนทบุรี ประสานงานลงทะเบียนผู้ป่วยโควิด-19 ในจังหวัดนนทบุรีเข้ารับการรักษา ซึ่งจะช่วยเสริมกำลังให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ทำให้การหาเตียงให้ผู้ป่วยในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

ทีมแพ็คถุงยังชีพและสิ่งของจำเป็น หลังบ้านที่ขาดไม่ได้ หนุนกำลังใจคนไทยสู้โควิด-19

         การส่งสิ่งของที่จำเป็นเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาล หน่วยงาน และชุมชนต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งการส่งกำลังใจที่จะช่วยประคับประคองให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้

         นางวรวลัญช์ สุดาฉิม หัวหน้าแผนกปฏิบัติการกิจการพิเศษ กฟผ. เล่าให้ฟังว่า เมื่อหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก กฟผ. แจ้งขอรับการช่วยเหลือมา ทีมนี้จะมีหน้าที่จัดซื้อจัดหาสิ่งของจำเป็น อาทิ น้ำดื่ม เครื่องอุปโภคบริโภค อาหารกล่อง เวชภัณฑ์ และถุงยังชีพ เพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือสังคมในภาวะวิกฤตโควิด-19 ให้กับกลุ่มต่าง ๆ ให้ได้ไวที่สุด ซึ่งหากมีจำนวนของที่ต้องแพ็คเป็นจำนวนมากก็จะระดมความช่วยเหลือจากผู้ปฏิบัติงานในสังกัดเป็นอันดับแรก ตามด้วยจิตอาสาจากฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องใช้สถานที่กว้าง ๆ ในการทำงาน ห้องทำงานที่แทบจะไม่มีวันหยุดของทีมนี้จึงอยู่ที่ห้องเฟื่องฟ้า 1 อาคารนันทนาการ สำนักงานใหญ่ กฟผ. และเมื่อจัดเตรียมสิ่งของที่เตรียมไว้แล้วเสร็จก็จะส่งมอบให้กับหน่วยงานที่ขอไว้ หรือมอบให้ฝ่ายบริหารการขนส่งเพื่อนำไปแจกจ่ายต่อไป

         “ทุกคนในทีมร่วมมือร่วมใจ สามัคคี และมีน้ำใจให้กัน เราคิดเสมอว่าเราได้ทำตัวให้มีคุณค่า ทำประโยชน์ให้กับองค์การและประเทศชาติ ได้ช่วยประชาชนคนไทย เวลาที่เหนื่อยล้าหรือรู้สึกท้อ ก็จะคิดว่ายังมีอีกหลายคนหลายหน่วยงานที่เหนื่อยล้าไม่ต่างไปจากเราค่ะ” นางวรวลัญช์ กล่าวทิ้งท้าย แทนใจสมาชิกในทีม

ทีมประจำสนามฉีดวัคซีน เสี่ยง แต่อิ่มใจและได้มิตรภาพ

         อีกหนึ่งทีมที่น่าชื่นชมไม่น้อยไปกว่าทีมไหนๆ ก็คือทีมประจำสนามฉีดวัคซีน ซึ่งมีหน้าที่ช่วยคีย์ข้อมูลของผู้ที่มาฉีดวัคซีนให้กับสนามฉีดวัคซีนต่าง ๆ เพื่อแบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดนั้นรุนแรงอย่างมาก จึงต้องเร่งระดมฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด การฉีดวัคซีนเฉพาะในโรงพยาบาลจึงไม่สามารถทำได้อีกต่อไป สนามฉีดในพื้นที่นอกโรงพยาบาลจึงเกิดขึ้น และจำเป็นต้องเปิดรับสมัครจิตอาสามาช่วยในการให้บริการเพื่อให้การดำเนินงานไม่มีสะดุด

         นายปิยพงศ์ วรกี ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการและพัฒนาระบบสารสนเทศ เล่าว่า กฟผ. ได้เข้าไปช่วยสนับสนุนการลงทะเบียนฉีดวัคซีนหลัก ๆ อยู่ 3 จุด ได้แก่ เซ็นทรัล พลาซ่า เวสต์เกต เดอะมอลล์งามวงศ์วาน และวัดไทรใหญ่ จ.นนทบุรี โดยได้นำคอมพิวเตอร์ไปติดตั้ง รวมถึงสนับสนุนจิตอาสาคีย์ข้อมูลด้วย โดยได้ร่วมกับฝ่ายกลยุทธ์ความยั่งยืน และฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการ รับผิดชอบดูแลในแต่ละจุด โดยเปิดรับจิตอาสาจากฝ่ายต่าง ๆ ใน กฟผ. และบุคคลภายนอกผ่าน Google Form มาร่วมคีย์ข้อมูลในวันต่าง ๆ ที่ได้รับการขอความช่วยเหลือมาจากกลุ่มไลน์โรงพยาบาล ซึ่งจะต้องเรียนรู้การคีย์ข้อมูลให้ถูกต้องก่อนเปิดรับลงทะเบียน ซึ่งการคีย์ข้อมูลนั้นประกอบด้วย 2 ส่วนคือ การลงทะเบียนก่อนฉีดวัคซีน และหลังการฉีดวัคซีนเพื่อรับใบนัดเข็มต่อไป

         นางสาวจุฑาทิพย์ เชี่ยวชาญ ผู้ปฏิบัติงานฝ่ายกลยุทธ์ความยั่งยืน (อกย.) หนึ่งในทีมที่ดูแลจิตอาสาสนามฉีดวัคซีนเซ็นทรัล พลาซ่า เวสต์เกต และหนึ่งในจิตอาสาคีย์ข้อมูลของที่นี่ ได้เล่าบรรยากาศการทำงานให้ฟังว่า ที่สนามฉีดวัคซีนมีการจัดการดี คนไม่หนาแน่นมากเพราะมาตามนัด มีการเว้นระยะห่าง และมีอุปกรณ์ป้องกันเตรียมไว้ให้ทำให้รู้สึกสบายใจ ซึ่งสิ่งที่ได้จากการมาทำงานตรงนี้คือมิตรภาพที่เกิดขึ้นระหว่างทีม กฟผ. ด้วยกันเองที่คละกันมาจากทุกฝ่าย ผ่านการเชิญชวนในกลุ่มจิตอาสาและเฟซบุ๊ก รวมถึงทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่สารสนเทศที่ต้องทำงานประสานกัน จึงทำให้ในแต่ละวันมีรอยยิ้ม มีความสนิทสนมกันมากขึ้น

         “ความสุขที่ได้อีกอย่างหนึ่งคือคนที่มาฉีดวัคซีนเขาพูดจากับเราดี บางคนก็เรียกเราว่าคุณหมอ เราก็รู้สึกอิ่มใจที่ช่วยเหลือตรงนี้ และได้ลดความเหนื่อยของบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลโดยตรงได้” นางสาวจุฑาทิพย์ กล่าวทิ้งท้าย

         ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่มาจากแรงผลักดันหรือแรงสนับสนุนของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เกิดจากพลังเล็ก ๆ ของเหล่าจิตอาสาเหล่านี้ที่ลงแรง ลงใจ ทุ่มเทเพื่อช่วยเหลือสังคมอย่างไม่หวังสิ่งตอบแทน จากพลังเล็ก ๆ ได้กลายเป็นพลังสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่ ที่จะทำให้ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตเลวร้ายและสาหัสเพียงใด คนไทยจะสามารถก้าวข้ามผ่านไปได้

Skip to content