นายกฯ เยี่ยมชมสมาร์ทกริดศรีแสงธรรมในโครงการ ERC Sandbox กฟผ. หวังผลักดันสู่ต้นแบบระบบไฟฟ้าแห่งอนาคต

19 October 2021

         นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแหล่งเรียนรู้พลังงานทดแทน “โคกอีโด่ยวัลเล่ย์” และระบบสมาร์ทกริดสำหรับชุมชนในพื้นที่ห่างไกลภายใต้โครงการ ERC Sandbox ศรีแสงธรรมโมเดล ของ กฟผ. หวังผลักดันสู่ต้นแบบระบบไฟฟ้าแห่งอนาคต

         เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมตรวจแหล่งเรียนรู้พลังงานทดแทน “โคกอีโด่ยวัลเล่ย์” และระบบสมาร์ทกริดศรีแสงธรรม ณ โรงเรียนศรีแสงธรรม จ.อุบลราชธานี โดยรับฟังรายงานการดำเนินงานจากพระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม

         พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกชื่นใจ และดีใจที่การดำเนินงานระบบสมาร์ทกริดศรีแสงธรรมมีความก้าวหน้าเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ประชาชนได้ประโยชน์ พร้อมขอให้มีการขยายการดำเนินการเรื่องพลังงานทดแทนให้มากยิ่งขึ้นตามศักยภาพที่มีอยู่ ควบคู่กับการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้มีการวางแผนเรื่องการบริหารจัดการขยะให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและพื้นที่

         สำหรับระบบสมาร์ทกริดศรีแสงธรรมที่ดำเนินการร่วมกับ กฟผ. ภายใต้โครงการ ERC Sandbox ได้พัฒนาระบบบริหารจัดการพลังงานและแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานขนาด 130 กิโลวัตต์ ซึ่งสามารถส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังจุดต่าง ๆ รอบโรงเรียนศรีแสงธรรม และสามารถลดค่าใช้จ่ายของโรงเรียนศรีแสงธรรมซึ่งเป็นพื้นที่หลักของการทดสอบ หลังดำเนินการได้ถึงร้อยละ 40 เพื่อเป็นต้นแบบของระบบสมาร์ทกริดสำหรับชุมชนในอนาคต และเป็นแนวทางการศึกษารูปแบบ Energy Solution Services ในอนาคตของกลุ่ม กฟผ. เพื่อตอบสนองสู่สังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต และสนับสนุนให้ชุมชนเกิดการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน นอกจากนั้นโครงการได้นำระบบ Internet of Things (IoT) เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการระบบต่าง ๆ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อาทิ ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ควบคุมระบบการเปิด-ปิด ด้วยระบบ IOT เพื่อรดน้ำต้นไม้เป็นสมาร์ทฟาร์มในโคก หนอง นา อีกทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาใช้ในการซื้อขายระหว่างประชาชนด้วยกันเอง (Peer to Peer) เพื่อศึกษารูปแบบการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ในอนาคตอีกด้วย ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะมีข้อมูลต่อยอดธุรกิจต่าง ๆ ให้กับกลุ่ม กฟผ. ซึ่งมีกำหนดทดสอบแล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปี 2565

Skip to content