Unseen EGAT By ENGY  ตอน ผลสำเร็จโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดเขื่อนสิรินธร

15 July 2022

        เมื่อพูดถึงโซลาร์เซลล์ทุกคนคงรู้จักเป็นอย่างดี แต่ “โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ” อาจดูเป็นเรื่องใหม่ วันนี้ กฟผ. ได้นำโซลาร์เซลล์มาลอยน้ำผลิตไฟฟ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ หรือที่เรียกกันว่า “โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด (Hydro-Floating Solar Hybrid)” นำร่องแห่งแรกที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมในการผลิตไฟฟ้าที่ได้ผสานพลังแดดและพลังน้ำเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

        “โซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริด (Hydro-Floating Solar Hybrid) ที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากถึง 45 เมกะวัตต์ ผสานกับพลังน้ำ 36 เมกะวัตต์ ซึ่ง ณ วันนี้ที่นี่ถือเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก

        Unseen EGAT By ENGY วันนี้ จะพามาคุยกับ พี่เจี๊ยบ ฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำและพลังงานหมุนเวียน ถึงผลสำเร็จของโครงการกันในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งด้านการออกแบบระบบผลิตไฟฟ้า ด้านการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน และแผนพัฒนาโครงการโซลาเซลล์ลอยน้ำไฮบริดในอนาคต จะมีความน่าสนใจขนาดไหนตาม ENGY ไปดูกัน!

        พี่เจี๊ยบเปิดประเด็นเล่าให้ฟังถึงความสำเร็จของโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธรว่า “การดำเนินโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นไปตามเป้าหมาย คือ พัฒนาให้ได้พลังงานสะอาดที่มีเสถียรภาพ (Firm Green Energy) มีราคาเหมาะสม และเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม”

        มีการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีเสถียรภาพสามารถจ่ายไฟได้มากขึ้นและยาวนานขึ้น โดยช่วงเวลากลางวันจะผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาเซลล์ และในช่วงเวลากลางคืนจะผลิตไฟจากพลังน้ำ ซึ่งระบบไฮบริดนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ให้จ่ายไฟฟ้าเสริมในช่วงความต้องการสูงสุดของแต่ละวัน (Daily Peak Load) ได้มากขึ้น สามารถช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในภาพรวมของประเทศลงได้

        ในด้านสิ่งแวดล้อม ได้ออกแบบโดยเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการวางแผงโซลาร์เซลล์เป็นมุมเงย 11 องศา ทำให้แสงสามารถลอดผ่านลงสู่ใต้ผิวน้ำได้มากขึ้น จึงไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้น้ำ

        การดำเนินโครงการฯ ในทุกระยะ มีการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งด้านคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ และระบบนิเวศ ตามที่กำหนดในรายงานประมวลหลักปฏิบัติ (Code of Practice: CoP) และรายงานการศึกษามาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (Environmental & Safety Assessment: ESA) นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาวิจัยสำรวจนิเวศวิทยาใต้น้ำ ตลอดจนคุณภาพน้ำ-ดินตะกอน ร่วมกับหน่วยงานภายนอก ผลที่ออกมาพบว่าไม่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศใต้น้ำ โครงการฯ ไม่เพียงแต่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ยังสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ถึง 47,000 ตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกป่าประมาณ 37,600 ไร่ จึงเรียกได้ว่า “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แถมยังดีต่อใจและต่อโลกอีกด้วย”

        ในการออกแบบโครงการขนาดใหญ่ โจทย์ยากคือทำอย่างไรถึงจะคุ้มค่า เราจึงนำจุดแข็งที่เรามีโดยออกแบบให้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ผิวน้ำในเขื่อนของ กฟผ. รวมทั้งใช้อุปกรณ์หลักร่วมกันกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเดิม ทำให้ไม่ต้องลงทุนก่อสร้างใหม่ ไฟฟ้าที่ผลิตได้จึงมีราคาถูกกว่าทั่วไป

        ในด้านชุมชน ‘เพื่อเป็นโรงไฟฟ้าที่สร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน’ Nature Walk way หรือเส้นทางเดินชมธรรมชาติจึงถูกสร้างขึ้น เพื่อเป็นจุดเช็คอินของนักท่องเที่ยว ให้ได้มาสัมผัสความอัศจรรย์ของแผงโซลาเซลล์ลอยน้ำนับแสนแผง ไปพร้อมกับเรียนรู้ด้านพลังงานสะอาด โดยปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าชมช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์สูงสุดถึงวันละกว่า 2,000 คน ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนจากการท่องเที่ยว

        พี่เจี๊ยบ ยังเล่าถึงแผนพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในพื้นที่เขื่อนของ กฟผ. 9 แห่ง 16 โครงการทั่วประเทศ รวมกำลังการผลิต 2,725 เมกะวัตต์ ซึ่งในอนาคตจะมีขนาดของโครงการที่ใหญ่ขึ้น การติดตั้งบนพื้นที่ผิวน้ำที่มีความลึกมากยิ่งขึ้น ทำให้ต้องมีการเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานที่มากขึ้น ปัญหาและอุปสรรคตลอดจนแนวทางแก้ไขที่เกิดขึ้นในช่วงพัฒนาโครงการฯ เขื่อนสิรินธรนี้ จะนำไปสู่การถอดบทเรียนทั้งงานด้านการออกแบบวิศวกรรม การก่อสร้างและติดตั้ง การบริหารโครงการและบริหารสัญญา การดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เพื่อจะนำมาปรับปรุงการพัฒนาโครงการอื่น ๆ ในเขื่อนของ กฟผ. ให้มีความสมบูรณ์ เป็นประโยชน์ต่อประเทศและชุมชนให้มากที่สุด

        แม้พลังงานหมุนเวียนอาจไม่มีความแน่นอน แต่ที่แน่นอนคือทุกความสำเร็จสามารถเกิดขึ้นได้จากความมุ่งมั่นและทุ่มเท ด้วยเหตุนี้ กฟผ. จึงมุ่งมั่นแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเสริมเสถียรภาพและประสิทธิภาพของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยการพัฒนาโครงการโซลาเซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งเป็นโครงการแห่งที่ 2 มีแผนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2566 จะต่อยอดเพื่อเพิ่มเสถียรภาพของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ดียิ่งขึ้น โดยติดตั้งแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System – BESS) เข้าไปในระบบผลิตไฟฟ้าแบบไฮบริด เพื่อให้การผลิตไฟฟ้ามีเสถียรภาพในช่วงการสับเปลี่ยนระหว่างพลังน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์ ส่งผลให้ระบบสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น และในอนาคตจะมีการพัฒนาเพื่อยกระดับประสิทธิภาพของระบบพยากรณ์ล่วงหน้าให้มีความแม่นยำมากขึ้นอีกด้วย …..เพื่อให้คนไทยได้ใช้ไฟฟ้าที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

Skip to content