Unseen EGAT By ENGY ตอน เชื่อพี่เถอะ กันไว้ดีกว่าแก้กับ 6 วิธีดูแลระบบส่งไฟฟ้าเชิงป้องกัน

7 May 2024

          ไม่ว่าใกล้หรือไกลแค่ไหน เมื่อเปิดสวิตซ์ไฟ คุณก็จะได้รับแสงสว่าง นั่นคือการเดินทางอันน่าทึ่งของพลังงานไฟฟ้าโดยมีโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าเป็นส่วนสำคัญในการทำหน้าที่ส่งผ่านพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไปสู่ผู้ใช้ไฟเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของพลังงานที่เชื่อมโยงแหล่งพลังงานเพื่อส่งจ่ายให้แก่ทุกครัวเรือนได้มีไฟฟ้าใช้กันทั่วประเทศ ดังนั้นเพื่อให้เส้นเลือดใหญ่ของพลังงานสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมั่นคงและมีประสิทธิภาพ เราจึงต้องมีการตรวจเช็คสุขภาพระบบส่งเป็นประจำเช่นเดียวกับร่างกายของคนเรา เพื่อเฝ้าระวังและรู้เท่าทันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น แน่นอนว่า“กันไว้ดีกว่าแก้”ย่อมดีกว่าเสมอ โดยมีทีมช่างสาย หรือ“Hotline”การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับหน้าที่ตรวจสุขภาพให้กับระบบส่งไฟฟ้าและบำรุงรักษาให้มีความพร้อมในการใช้งานอยู่ตลอดเวลา

          กฟผ. ได้จัดทีม Hotline กระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและบำรุงรักษาสายส่งให้มีความมั่นคงครอบคลุมทุกระดับแรงดันตั้งแต่ 115,000 230,000และ 500,000โวลต์ ความยาวรวมกว่า 39,000 วงจร-กิโลเมตร หรือเกือบเท่าระยะทางรอบโลก 1 รอบด้วยกลยุทธ์ “การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน” (Preventive Maintenance) ซึ่งเป็นการวางแผนตรวจสอบ ซ่อมแซม หรือปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดเพื่อให้ทุกชิ้นส่วนอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ จะต้องมีการสำรวจสิ่งรุกล้ำตามแนวเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า ‘Right of Way’ เพื่อให้สายส่ง สามารถส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าได้โดยปราศจากสิ่งรุกล้ำที่อาจจะก่อให้เกิดอันตราย หรือเกิดข้อขัดข้องในการส่งพลังงาน นั่นจึงทำให้การบำรุงรักษาเชิงป้องกันนั้นน่าทึ่งพอ ๆ กับการเดินทางของพลังงานไฟฟ้า ซึ่งพี่ๆ ทีม Hotline มีวิธีการตรวจสอบถึง 6 รูปแบบ

          1) การขับรถตรวจ (Vehicle Patrol) เป็นการขับรถตรวจสำรวจเฉพาะจุดที่มีความเสี่ยง เน้นใช้ตรวจสอบสิ่งที่อาจจะก่อให้เกิดความอันตรายจากสิ่งรุกล้ำภายนอก ที่อาจจะทำให้สายส่งขัดข้องได้ เช่น พื้นที่ที่มีต้นไม้โตเร็ว พื้นที่ที่มีกิจกรรมใต้แนวสายส่ง เป็นต้น

          2) การเดินตรวจ (Site Inspection) เป็นการเดินตรวจสำรวจประชิดแนวสายส่งไฟฟ้า เพื่อตรวจสอบอุปกรณ์พร้อมแก้ไขได้ทันที

          3) การปีนเสา (Climbing Inspection) ตรวจทุกส่วนของเสาส่งอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นจุดแขวนสายไฟ ลูกถ้วย นอต สายดิน ฯพร้อมสามารถแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้

          4) การบินตรวจด้วยเฮลิคอปเตอร์ เป็นการบินตรวจตามแผนทำการบินในแต่ละปี เน้นสำรวจสิ่งรุกล้ำแนวเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Right of Way) ที่อาจจะส่งผลกระทบการจ่ายกระแสไฟฟ้า

          5) อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle : UAV) ช่วยในการค้นหาสาเหตุ และตรวจอุปกรณ์เฉพาะจุด

          6) การตรวจจุดวิกฤติในสายส่ง ซึ่งเป็นจุดที่มีความเสี่ยงและยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างถาวร ทำให้ต้องมีการเข้าตรวจสอบพื้นที่เป็นประจำ

          พี่ๆ ทีม Hotline ได้เล่าอีกว่า การบำรุงรักษาเชิงป้องกันมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ ย่อมดีกว่าเสมอ นอกจากจะช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ต่างๆลดปัญหาความขัดข้องจากการพบจุดชำรุดและสามารถแก้ไขในเบื้องต้นได้ทันทีแล้วยังสามารถรักษาคุณภาพของการส่งจ่ายพลังงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงสามารถลดต้นทุนและรักษาสินทรัพย์อันมีค่าของรัฐได้อีกด้วย ทั้งนี้ในงานบำรุงรักษาสายส่งทุกขั้นตอนจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย โดยปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดและเป็นไปตามมาตรฐานสากลเพราะหากเกิดความผิดพลาดอาจทำให้ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ

          นอกเหนือจากที่ทีม Hotline ได้ทำหน้าที่การบำรุงรักษาระบบส่งให้มีความมั่นคง เชื่อถือได้ พร้อมส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าได้ตลอดเวลาแล้วเราทุกคนก็มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาระบบส่งด้วยการช่วยกันสอดส่องสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง รวมถึงไม่กระทำการใดๆก็ตามที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายหรือเป็นอันตรายกับระบบส่งไฟฟ้าด้วยนะครับเพียงเท่านี้เราทุกคนก็จะมีไฟฟ้าใช้กันอย่างไม่สะดุด เปิดปุ๊บติดปั๊บได้ตลอดเวลา

          ไม่เพียงแต่ระบบส่งไฟฟ้าที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าเท่านั้น การผลิตไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพและการจัดหาเชื้อเพลิงให้เพียงพอสำหรับใช้ผลิตไฟฟ้าก็ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงด้วยเช่นกัน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ เรื่องราวของระบบส่งไฟฟ้ายังไม่จบนะครับ ในตอนหน้า Unseen EGAT By ENGY จะพาไปลุยกันต่อถึงการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้พร้อมรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Grid Modernization) เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง ติดตามกันให้ได้นะคร้าบบ

Skip to content