ระบบ RTK-LANDMOS ติดตามเตือนภัยดินถล่มแบบเรียลไทม์ ลดเสี่ยง เพิ่มความปลอดภัย

31 October 2024

          ‘เหมืองแม่เมาะ’ เหมืองถ่านหินลิกไนต์แบบเปิดขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้ภารกิจสำคัญในการผลิตถ่านหินลิกไนต์ เชื้อเพลิงต้นทุนต่ำ ส่งป้อนให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง ใช้ผลิตไฟฟ้าสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ด้วยการเป็นแหล่งผลิตเชื้อเพลิงที่มีขนาดบ่อเหมืองถึง 16,000 ไร่ และมีความลึกจากขอบบ่อมากกว่า 300 เมตร รวมทั้งยังมีพื้นที่ทิ้งดินอีก 18,000 ไร่ ซึ่งมีความสูงจากระดับพื้นดินกว่า 230 เมตร ทำให้การดูแลเฝ้าระวังการเคลื่อนตัวของดิน เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เหมืองและชุมชนโดยรอบ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงได้พัฒนาระบบเฝ้าติดตามแผ่นดินถล่มบริเวณเหมืองเปิดถ่านหินลิกไนต์แม่เมาะโดยการรังวัดด้วยดาวเทียมกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลกแบบจลน์ในทันที (RTK – GNSS LANDslide Monitoring System : RTK – LANDMOS) สำหรับติดตามการเคลื่อนตัวของแผ่นดิน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และน่าเชื่อถือ ทำให้สามารถทราบเหตุการณ์ล่วงหน้า และวางแผนรับมือการเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที  ลดความเสี่ยง สร้างความปลอดภัยและความมั่นคง เพื่อให้เหมืองแม่เมาะสามารถผลิตถ่านลิกไนต์ได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย

ก้าวข้ามขีดจำกัดการตรวจวัดรูปแบบเดิมๆ

          จากจุดเริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคม 2561 เกิดเหตุการณ์ดินถล่มครั้งใหญ่บริเวณที่ทิ้งดินของเหมืองแม่เมาะ นำมาสู่ความมุ่งมั่นในการหาวิธีที่จะลดความเสี่ยงจากความเสียหายที่เกิดจากดินถล่มอันเนื่องมาจากการเคลื่อนตัวของดิน กฟผ. แม่เมาะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้พัฒนาระบบ RTK-LANDMOS ที่สามารถให้ค่าพิกัดของการเคลื่อนตัวของดินได้ทันทีแบบเรียลไทม์ ก้าวข้ามขีดจำกัดในการตรวจวัดรูปแบบเดิมๆ ที่ใช้การรังวัดตรวจสอบตำแหน่งพื้นที่เสี่ยงภัยด้วยดาวเทียมแบบจลน์ ซึ่งผู้ปฏิบัติงานจำเป็นจะต้องเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้ทราบระยะการเคลื่อนตัวของแผ่นดินได้อย่างถูกต้อง และแม่นยำ แต่ด้วยความถี่ของรอบการตรวจวัดไม่สามารถตรวจวัดการเคลื่อนตัวได้ตลอดเวลา เมื่อเทียบกับติดตั้งระบบ RTK-LANDMOS ที่สามารถตรวจวัดได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ไม่สามารถเตรียมรับสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที

ระบบ RTK-LANDMOS ทำงานอย่างไร

          กฟผ.แม่เมาะ ได้ติดตั้ง RTK-LANDMOS ในบริเวณที่เป็นจุดเสี่ยงที่คาดว่าจะมีการเคลื่อนตัวของดินซึ่งติดตั้งกระจายทั่วบริเวณเหมืองแม่เมาะและพื้นที่ทิ้งดิน เพื่อตรวจวัดการเคลื่อนตัวของแผ่นดินทั้งทางราบและทางดิ่ง โดยติดตั้งสถานีรับสัญญาณดาวเทียม จำนวน 60 สถานี เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับมาประมวลผลด้วยโปรแกรมที่ได้พัฒนาขึ้น เมื่อเกิดการเคลื่อนตัวของแผ่นดินจะส่งสัญญาณเตือนภัยมายังหน่วยควบคุม ผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ แอปพลิเคชัน Line อีเมล เผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปใช้วิเคราะห์สถานะและผลกระทบของแผ่นดินถล่ม รวมถึงพฤติกรรมของพื้นที่ที่มีความลาดชัน เพื่อให้สามารถเฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการป้องกันเหตุการณ์แผ่นดินถล่มตลอด 24 ชั่วโมง

จากงานวิจัยสู่การใช้งานจริง พร้อมขยายผลเพิ่มความปลอดภัยในพื้นที่อื่น

          ในเดือนพฤศจิกายน 2564 กฟผ.แม่เมาะ ได้ตรวจพบรอยแตกขนาดใหญ่บนที่ทิ้งดิน ระบบ RTK-LANDMOS ได้รายงานข้อมูลการตรวจวัดทุก 15 นาที ทำให้สามารถเห็นถึงการเคลื่อนตัวอย่างรุนแรง ทำให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการปรับสภาพหน้างานได้อย่างปลอดภัย และสามารถลดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากความเสียหายได้อย่างมหาศาล จากความสำเร็จนี้นำมาสู่การขยายผลติดตั้งระบบ RTK-LANDMOS เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับพื้นที่อื่นๆของ กฟผ. อาทิ อ่างพักน้ำตอนบน โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา เพื่อตรวจสอบการเคลื่อนตัวของอ่างพักน้ำตอนบนฯ และการติดตั้งในพื้นที่เสี่ยงดินสไลด์ใต้เสาส่งไฟฟ้าแรงสูงในจังหวัดสงขลา เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบส่ง ทดแทนการส่งผู้ปฏิบัติงานเพื่อตรวจวัดการเคลื่อนตัวของดิน ช่วยประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ปลอดภัยต่อตัวผู้ปฏิบัติงานที่ต้องเข้าพื้นที่เสี่ยงภัย เพราะสามารถตรวจวัดได้แบบเรียลไทม์ตลอดเวลา

คว้ารางวัลในงานมหกรรมการแสดงผลงานฯ ปี 2567

          ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2567 ระบบ RTK-LANDMOS เป็นหนึ่งในผลงานนวัตกรรมที่คว้ารางวัลประเภทดีมาก ในงานมหกรรมการแสดงผลงานที่คิดค้นหรือประดิษฐ์สิ่งซึ่งเป็นประโยชน์แก่ กฟผ. ประจำปี 2567 จากผลงานที่เข้าร่วมประกวดทั้งสิ้นกว่า 60 ผลงาน โดยผลงานที่ผ่านการพิจารณาจะได้รับการเสนอชื่อให้กับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อพิจารณาส่งเข้าประกวดในเวทีระดับนานาชาติ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยต่อไป

          ในวันนี้ไม่ว่าเหตุการณ์ดินถล่ม ดินสไลด์ จากการดำเนินงานของเหมือง การเคลื่อนตัวของแผ่นดิน หรือจากภัยธรรมชาติ เราสามารถเฝ้าระวังติดตามและตรวจวัดได้ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถพยากรณ์ และเตรียมแผนการรองรับเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ระบบ RTK-LANDMOS จึงเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่สะท้อนความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้วยความใส่ใจเพื่อ ‘ความปลอดภัยของทุกคน’

Skip to content