เขื่อนรัชชประภา
การจัดการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
กฟผ. ได้ร่วมมือกับหน่วยราชการต่างๆ ให้ความช่วยเหลือราษฎรในเขตพื้นที่อ่างเก็บน้ำ จำนวน 385 ครอบครัว โดยจ่ายค่าทดแทนทรัพย์สินพร้อมทั้งจัดสรรที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้อย่างเป็นธรรม ภายในหมู่บ้านมีสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ที่สำคัญครบถ้วน รวมทั้งการจัดฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพรองให้แก่ราษฎรอีกหลายโครงการ เช่น จัดอบรมเคหกิจแก่แม่บ้าน การตัดเย็บเสื้อผ้า ซ่อมบำรุงรักษาเครื่องกล ปลูกผลไม้ เป็นต้น นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้ร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดโครงการสินเชื่อส่งเสริมการปลูกยางในเขตโครงการและยังได้จัดสรรงบประมาณให้แก่กรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อดำเนินงานด้านสหกรณ์การเกษตรควบคู่กันไปด้วย
ด้านการชลประทาน
ปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนให้ประโยชน์ต่อการเพาะปลูกพืช บริเวณสองฝั่งแม่น้ำในตอนล่าง ในเขตท้องที่อำเภอบ้านตาขุนอำเภอคีรีรัฐนิคม และอำเภอพุนพิน สามารถทำนาปรังและปลูกพืชในฤดูแล้งได้ผลดี
ด้านการบรรเทาอุทกภัย
การกักเก็บน้ำของเขื่อนในฤดูฝน จะช่วยลดความรุนแรงของสภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ตอนล่างได้เป็นอย่างดี
ด้านการประมง
อ่างเก็บน้ำของเขื่อนรัชชประภาเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญ ทุกๆ ปี กฟผ. ได้ปล่อยพันธุ์ปลาและกุ้งเป็นจำนวนมากลงในอ่างเก็บน้ำ สามารถให้ผลผลิตทางด้านการประมงเฉลี่ยปีละ 300 ตัน ซึ่งเป็นการส่งเสริมรายได้ให้กับราษฎรในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง
ด้านการท่องเที่ยว
ทัศนียภาพโดยรอบบริเวณเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ สวยสดงดงาม และสงบร่มรื่น เหมาะแก่การไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวปีละกว่า 150,000 คน ให้เดินทางมาเยี่ยมชมเขื่อนรัชชประภา
ด้านการผลิตไฟฟ้า
พลังน้ำจากเขื่อนสามารถนำมาผลิตพลังงานไฟฟ้า สามารถช่วยเสริมระบบไฟฟ้าในภาคใต้ให้มั่นคงยิ่งขึ้น นอกจากนี้น้ำที่ปล่อยผ่านเครื่องผลิตไฟฟ้ายังส่งต่อเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านเกษตรกรรมบริเวณพื้นที่ท้ายน้ำอีกด้วย
ด้านการแก้ไขน้ำเสียและผลักดันน้ำเค็ม
สภาพน้ำที่มีปริมาณน้อยของลำน้ำตาปี-พุมดวง ในฤดูแล้ง ทำให้เกิดภาวะน้ำเน่าเสียได้ง่าย ขณะเดียวกันบริเวณปากแม่น้ำจะมีน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาตามลำน้ำ น้ำที่ปล่อยจากเขื่อนรัชชประภาจะช่วยเจือจางน้ำเสียในลำน้ำ และต้านทานการรุกล้ำของน้ำเค็มที่ปากแม่น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพควบคู่กันไปด้วย
โครงการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
โครงการชีววิถีของดีที่พอเพียง
เป็นโครงการให้ความรู้เรื่องการทำปุ๋ยหมักชีวภาพโดยใช้จุลินทรีย์มาดำเนินการโครงการชีววิถีออกสู่ชุมชน ได้ทำโครงการให้ความรู้เรื่องการเพาะปลูกดอกดาวเรือง เพื่อสร้างรายได้เสริม นอกจากพืชเศรษฐกิจหลักยางพารา ราคาตกต่ำ โดยการเพาะพันธุ์ดาวเรืองขายต้นที่กำลังจะออกดอก และแบบตัดดอกส่งขายตลาด จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.ภูเก็ต
โครงการรัชชประภาสานฝันแบ่งปันเรียนรู้
เป็นโครงการที่เขื่อนรัชชประภา เห็นความสำคัญของเยาวชนในชุมชนใกล้เคียง เขื่อนรัชชประภา ได้มีความรู้ในแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าใกล้บ้าน มีการเรียนรู้ เกิดความเข้าใจ ภาคภูมิใจที่มีเขื่อนอเนกประสงค์อยู่ในชุมชน ที่มีประโยชน์ต่อชุมชน ทั้งในเรื่องการการกักเก็บน้ำ การประมง การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นที่มาของอาชีพและรายได้ของคนในชุมชน
โครงการอ่างเก็บน้ำสวย ไร้ขยะ อนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
เป็นโครงการที่เขื่อนรัชชประภาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เทศบาลตำบลบ้านเชี่ยวหลาน, อุทยานแห่งชาติเขาสก, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง, สาธารณสุขอำเภอบ้านตาขุน, ผู้ประกอบการแพที่พัก, ชมรมเรือท่องเที่ยวเขื่อนรัชชประภา และชุมชนใกล้เคียง มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รณรงค์เก็บขยะในแหล่งน้ำ สร้างมาตรการในการดูแลรักษาแหล่งน้ำให้มีความสวยงามตามธรรมชาติต่อไป