น้ำมากี่โมง ก็ไม่หวั่น เพราะเขื่อนแข็งแรงปลอดภัยมาก
28 August 2024เข้าหน้าฝนแล้ว บางพื้นที่มีฝนตกหนักจนน้ำท่วมกันเลย คนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงเขื่อนใหญ่ ๆ ก็มักจะมีคำถามตามมาด้วยเสมอว่า เขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. จะเป็นอย่างไร น้ำมวลมหาศาลที่เข้ามาจะส่งผลกระทบกับความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนหรือไม่ ไปหาคำตอบพร้อมๆกันเลยจ้า…

ก่อนจะไปหาคำตอบกันนั้น ต้องขออธิบายให้เพื่อนๆได้ทราบก่อนว่า เขื่อนของ กฟผ. มีหน้าที่อะไร ?


นี่เลยหน้าตาของเขื่อน ! มีลักษณะคล้ายๆกับกำแพง หรือผนังขนาดใหญ่ที่สร้างปิดกั้นลำน้ำไว้ ทำหน้าที่เก็บกักน้ำปริมาณมหาศาลไว้ในอ่างเก็บน้ำ เพื่อให้สามารถควบคุมและจัดสรรน้ำให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากน้ำให้คุ้มค่ามากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นด้านอุปโภค บริโภค ชลประทาน รวมถึงการเกษตร การประมงและการระบายน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็ม โดยมีผลพลอยได้จากการปล่อยน้ำ คือ การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำ

นอกจากนี้ยังได้มีการนำพื้นที่ในอ่างเก็บน้ำที่กว้างใหญ่ไพศาลมาใช้ประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิม ด้วยการติดตั้งโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ เพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งติดตั้งแล้วที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และกำลังขยายการติดตั้งในพื้นที่เขื่อนอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย
โอ้โห ประโยชน์มากมายมหาศาลเช่นนี้ ดังนั้น เขื่อนจึงต้องได้รับการดูแลโดยเฉพาะด้านความมั่นคงแข็งแรงเป็นอย่างดี เพื่อสร้างประโยชน์ให้พี่น้องประชาชนได้อย่างมั่นใจ

แล้วเขื่อนมีการดูแลความมั่นคงแข็งแรงอย่างไรบ้าง ? ตามเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญมาดูกัน !
เขื่อนของ กฟผ.ทุกเขื่อนจะดูแลตรวจสอบและบำรุงรักษาเขื่อนตามมาตรฐานสากลขององค์การเขื่อนใหญ่ระหว่างชาติ (International Commission on Large Dams : ICOLD) โดยมีกระบวนการตรวจสอบทุกวัน ทุกสัปดาห์ และทุก ๆ 2 ปี
สำหรับการตรวจสอบทุกวันนั้น เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญประจำเขื่อนจะตรวจวัดค่าอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยา เช่น วัดปริมาณน้ำฝน วัดความชื้นสัมพัทธ์ วัดระดับน้ำ แล้วนำข้อมูลไปคำนวณปริมาณน้ำเข้า-ออกในอ่างเก็บน้ำ เพื่อคอยระมัดระวังผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยเขื่อนและประชาชนบริเวณรอบ ๆเขื่อน ซึ่งต้องทำเป็นประจำทุกวันไม่มีวันหยุด


(ภาพตรวจวัดค่าอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยา)
ในทุก ๆ สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ฯ ก็จะมีภารกิจเข้าอุโมงค์ตรวจสอบความมั่นคงเขื่อน โดยสำรวจสภาพคอนกรีตของอุโมงค์ด้วยสายตา เพื่อหาร่องรอยและสิ่งผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจทำความเสียหาย ซึ่งต้องตรวจอย่างละเอียดถี่ถ้วน นอกจากนี้ยังต้องมีการตรวจสอบความมั่นคงเขื่อนด้วยเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อนต่าง ๆ เช่น วัดการทรุดตัว เคลื่อนตัวของสันเขื่อน วัดแรงดันน้ำในตัวเขื่อนและฐานราก วัดอัตราการไหลซึมของน้ำผ่านตัวเขื่อน และวัดระดับน้ำใต้ดิน เพื่อการตรวจสอบและเฝ้าระวัง หากพบสิ่งผิดปกติก็จะรีบดำเนินการแก้ไขทันที


(ภาพการตรวจสอบในอุโมงค์)


(ภาพการวัดการทรุดตัวและเคลื่อนตัวของสันเขื่อน)
นอกจากตรวจสอบด้วยเจ้าหน้าที่แล้ว กฟผ.ได้มีการติดตั้งระบบตรวจสุขภาพเขื่อนแบบอัตโนมัติไว้ที่บริเวณเขื่อนและรอบอ่างเก็บน้ำ เพื่อตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อน เฝ้าระวังการเกิดแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อตัวเขื่อน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีศูนย์บริหารจัดการน้ำอัจฉริยะเพื่อคอยติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูน้ำหลากอยู่ตลอดเวลาด้วย
และทุก ๆ 2 ปียังมีการตรวจสอบใหญ่ โดยคณะกรรมการตรวจสอบเขื่อน ซึ่งมีหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องในระดับประเทศมาร่วมตรวจสอบด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจในความมั่นคงและปลอดภัย


ในกรณีเกิดเหตุการณ์ ฝนตกหนักจนน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ หรือพบการรั่วซึมผิดปกติ กฟผ. จะส่งผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ออกไปทำการตรวจสอบเขื่อนเป็นกรณีพิเศษทันที และหากพบความผิดปกติจะรีบแก้ไขซ่อมแซมโดยด่วน

ทั้งหมดนี้คงเป็นคำตอบและสร้างความอุ่นใจได้ว่า เขื่อนในความดูแลของ กฟผ. มีความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย พร้อมรองรับสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนได้อย่างมั่นใจ นอกจากนี้ทุกคนยังสามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ของเขื่อน กฟผ. ได้ผ่าน Application “EGAT One” ซึ่งจะมีทั้งข้อมูลเหตุการณ์แผ่นดินไหว สถานะความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน ข้อมูลจากเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อน รวมถึงข้อมูลสถานการณ์น้ำ เช่น ปริมาณน้ำไหลเข้าและระบายออก ข้อมูลปริมาณน้ำฝน พร้อมทั้งข่าวสารประกาศและความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ติดตามได้ ที่สำคัญยังมีภาพจากกล้องวงจรปิดแบบเรียลไทม์จากทุกเขื่อนของ กฟผ. อีกด้วย