ระบบส่งไฟฟ้า

จากแหล่งผลิตไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีทันสมัยและโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงหลากหลาย และกระจายอยู่ทั่วประเทศ ถูกเชื่อมโยงด้วยโครงข่ายของระบบส่งไฟฟ้าแรงสูง เพื่อส่งพลังงานไฟฟ้าสู่ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วทุกภูมิภาค นำความสว่างไสว ทำให้ประชาชนเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง ก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจทุกภาคส่วน ทั้งด้านอุตสาหกรรม การแพทย์สาธารณสุขการคมนาคมการศึกษา การท่องเที่ยว และการสื่อสาร

ระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงเป็นส่วนความสำคัญเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของพลังงานไฟฟ้า ที่ส่งจ่ายไฟฟ้าไปยังระบบจำหน่ายของการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งจะปรับลดระดับแรงดันไฟฟ้าก่อนส่งไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าทุกภาคส่วนอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ความมั่นคงในระบบส่งไฟฟ้าต้องมีการบริหารจัดการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ปราศจากไฟตก ไฟดับ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดบ่งบอกถึงความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า โดยจะส่งผลต่อความน่าเชื่อมั่นในการลงทุนภาคอุตสาหกรรมและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ที่จะเป็นภาคส่วนในการช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศพัฒนาอย่างยั่งยืน

สายส่งไฟฟ้าแรงสูง

(Tranmission Line)

สายส่งไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของระบบไฟฟ้าไทย ที่ต้องได้รับการดูแลบำรุงรักษาให้มีความมั่นคงและมีความพร้อมที่จะสร้างแสงสว่างแก่คนไทยทั่วทุกพื้นที่ หากขาดหรือชำรุดไปเพียงหนึ่งจุด อาจทำให้เกิดไฟฟ้าตกหรือดับเป็นวงกว้างได้

ดังนั้น “สายส่งไฟฟ้าแรงสูง” จึงเป็นส่วนประกอบสำคัญของระบบไฟฟ้า ทำหน้าที่ส่งพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าไปยังศูนย์กลางใช้ไฟฟ้า และเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้าหลายๆระบบเข้าด้วยกัน เพื่อส่งไฟฟ้าจากระบบหนึ่งไปยังอีกระบบหนึ่ง หรือถ่ายเทพลังงานไฟฟ้าระหว่างระบบให้แก่กันในกรณีฉุกเฉิน และกรณีที่บางระบบมีช่วงเวลาของการใช้ไฟฟ้าสูงสุดไม่ตรงกัน เสาและสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจึงจำเป็นต้องอยู่ในสภาพดีและพร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา

สถานีไฟฟ้าแรงสูง

(Substation)

ด้วยเหตุที่โรงไฟฟ้าส่วนใหญ่สร้างไว้ในที่ห่างไกลชุมชน การส่งกระแสไฟฟ้าจากที่ไกลๆ จะประสบปัญหาแรงดันไฟตก การสูญเสียสูง และส่งไฟฟ้าได้ในปริมาณน้อย ในทางตรงกันข้าม หากมีการส่งจ่ายไฟฟ้าด้วยแรงดันยิ่งสูง การสูญเสียก็จะยิ่งต่ำ ส่งไฟฟ้าได้ปริมาณมาก ดังนั้นการมีสถานีไฟฟ้าเพื่อเปลี่ยนแรงดัน จึงเป็นสิ่งจำเป็นทั้งในด้านการลดการสูญเสียด้วยการเพิ่มแรงดันให้สูงมากๆ จะสามารถส่งไฟฟ้าไปได้ในระยะทางไกลๆ และได้ปริมาณมากๆ ขณะเดียวกันเมื่อกระแสไฟฟ้าเข้ามาสู่ตัวเมืองก็ต้องมีสถานีไฟฟ้า เพื่อลดแรงดันกลับลงมาให้เกิดความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้งาน

สถานีไฟฟ้าแรงสูง (Substation) คือ สถานที่ตั้งอุปกรณ์ตัดตอนไฟฟ้า และอุปกรณ์แปลงแรงดันไฟฟ้า เป็นสถานที่ติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้ควบคุมการไหลของพลังงานไฟฟ้า เป็นจุดที่เชื่อมโยงระหว่างสายส่งไฟฟ้าจากจุดต่างๆถึงกัน และมีอุปปกรณ์สำหรับป้องกันระบบติดตั้งไว้เพื่อตัดสายส่งที่มีปัญหาลัดวงจรออกจากการจ่ายไฟฟ้า

ลานไกไฟฟ้า

(Switchyard)

ทำหน้าที่แปลงแรงดันที่ผลิตจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้สูงขึ้นเพื่อส่งต่อไปยังสถานีไฟฟ้าที่อยู่ห่างไกล ลดความสูญเสียในระบบ ซึ่งประกอบด้วยหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง ที่ทำหน้าที่่เพิ่มแรงดัน และระบบป้องกันทางไฟฟ้า

ลูกถ้วย

(Insulator)

เนื่องจากสายไฟฟ้าแรงสูงมีระยะอันตรายที่ไฟฟ้าจะกระโดดข้ามได้ ดังนั้นจึงต้องมีการจับยึดสายไฟฟ้า ด้วยวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า ที่เรียกว่า “ลูกถ้วย” ในจำนวนที่พอเหมาะกับไฟฟ้าแรงสูงนั้น ซึ่งจำนวนชั้นของลูกถ้วย จะบ่งบอกถึงระดับแรงดันไฟฟ้าด้วย

ลูกถ้วย (Insulator) คือ อุปกรณ์ที่ใช้รองรับสายไฟฟ้าแรงสูง มีคุณสมบัติเป็นฉนวนไฟฟ้า ป้องกันกระแสไฟฟ้าไหลจากตัวนำไปสู่โครงสร้างเสาส่ง หรือไหลลงดิน โดยลูกถ้วยของ กฟผ.ทำจากกระเบื้องเคลือบหรือแก้ว มีคุณสมบัติพิเศษคือมีความเป็นฉนวนมาก แข็งแรง ทนทาน  แต่เมื่อใช้ไปนานๆ สัมผัสกับอากาศนานเข้าจะมีฝุ่นละอองมาเกาะทำให้เกิดการนำไฟฟ้าได้ จึงต้องมีการทำความสะอาดลูกถ้วยอย่าสม่ำเสมอ

ข้อมูลสายส่งและเสาส่งของ กฟผ.

ระบบส่งไฟฟ้า

ประเภทของเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง

(Types of high voltage transmission towers)

เราเคยลองสังเกตไหมว่า เมื่อเราเดินทางผ่านตามถนนต่างๆในเมือง หรือต่างจังหวัด เรามักจะเห็นเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงที่มีรูปร่าง ขนาด ที่แตกต่างกันออกไป นั่นก็เพราะว่าเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงแต่ละประเภทมีลักษณะการใช้งานแยกตามระดับแรงดันไฟฟ้า จำนวนสายที่ใช้ในระบบ และพื้นที่ที่ตั้งเสาที่แตกต่างกันไป เพื่อให้การส่งจ่ายไฟฟ้ามีความมั่นคง ก่อให้เกิดเสถียรภาพในระบบไฟฟ้า ไม่ทำให้เกิดไฟตก ไฟดับ นั่นเอง

การที่ระบบไฟฟ้ามีแรงดันไฟฟ้าสูง จะช่วยส่งกระแสไฟฟ้าไปยังระยะทางไกล ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เนื่องจากไฟฟ้าแรงสูงมีแรงดันไฟฟ้าที่สูงมากเมื่อเทียบกับที่ใช้กันทั่วไปตามบ้านเรือน และอาคารต่าง ๆ (220 โวลต์) ไฟฟ้าแรงสูงจึงสามารถกระโดดข้ามอากาศเข้าหาวัตถุหรือสิ่งมีชีวิตได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีการสัมผัสกับสายไฟเลย (เราจึงอาจจะเห็นนกที่ถูกไฟดูด โดยไม่จำเป็นต้องเกาะบนสายไฟ) ยิ่งถ้าไฟฟ้ามีแรงดันสูงมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เกิดการกระโดดข้ามได้ไกลมากยิ่งขึ้น 

ปัจจุบันเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. ใช้ระดับแรงดันไฟฟ้า คือ 69 กิโลโวลต์ (ปัจจุบันใช้อยู่น้อยมาก) 115 กิโลโวลต์ 230 กิโลโวลต์ และ 500 กิโลโวลต์ ซึ่งถือเป็นไฟฟ้าแรงสูงทั้งหมด และในอนาคตหากมีความต้องการพลังงานไฟฟ้ามากขึ้นและต้องส่งพลังงานไฟฟ้าในระยะไกลมากขึ้น อาจจะมีระดับแรงดันไฟฟ้าที่มากกว่า 500 กิโลโวลต์

ชนิดของเสาไฟฟ้าถูกออกแบบเป็นประเภทต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับแรงดันไฟฟ้าและจำนวนสายที่ใช้ในระบบของ กฟผ. โดยปัจจุบันมีเสาไฟฟ้าที่ใช้งานอยู่ 3 ชนิด คือ เสาคอนกรีต เสาโครงเหล็ก และเสาชนิด Monopole ซึ่งการใช้งานขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ที่ตั้งเสาไฟฟ้า

ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า

(National Control Center : NCC)

ระบบไฟฟ้าประกอบด้วยโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ สายส่งไฟฟ้าระดับแรงดันต่างๆ และสถานีไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งตั้งกระจายอยู่ทั่วไปตามจังหวัดต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานกลางเพื่อให้โรงไฟฟ้า สถานีไฟฟ้าแรงสูง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติงานเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด หน่วยงานดังกล่าวคือ “ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ”

การดำเนินงานของศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก โดยมุ่งเน้นด้านความมั่นคง เชื่อถือได้ และมีคุณภาพเพียงพอต่อเนื่องของระบบไฟฟ้า ประสิทธิภาพและต้นทุนการผลิตเป็นสำคัญ โดยมิได้คำนึงว่าเป็นโรงไฟฟ้าของ กฟผ. หรือโรงไฟฟ้าเอกชน เพื่อบรรลุตามภารกิจดังกล่าว ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ ต้องสั่งการด้วยความเป็นธรรมต่อผู้ผลิตไฟฟ้าทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่มีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า ต้องสั่งให้ผู้ผลิตไฟฟ้าดำเนินการผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นธรรมและจะเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมมิได้ โดยมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้กำกับดูแล

ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า มีความสำคัญต่อการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าต่างๆ ให้แก่ผู้ใช้พลังงานไฟฟ้าทั่วประเทศ และยังเป็นหน่วยงานกลาง ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นไปอย่างประหยัด มั่นคง ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่าย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีภารกิจหลักต้องรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวฉันใด ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าก็มีความสำคัญควบคู่กันไปด้วย

ประกาศการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเรื่อง ข้อกำหนดเพื่อความปลอดภัยในเขตเดินสายไฟฟ้า

เมื่อมีความประสงค์จะติดต่อขออนุญาตกระทำการก่อสร้าง ปรับพื้นที่ในเขตเดินสายไฟฟ้า หรือมีข้อสงสัยใดๆ หรือ พบการกระทำใดๆ อันอาจเป็นอันตรายต่อระบบการส่งจ่ายกำลังไฟฟ้า อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาติ โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าผลิตแห่งประเทศไทย หรือศูนย์บริการข้อมูล กฟผ. 1416

Skip to content