นางสาวมลิสุวรรณ พิสุทธิธัญรักษ์ 

ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๑ ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

  • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  จังหวัดฉะเชิงเทรา
  • อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล 
  • มีผลงานดีเด่นที่ได้รับการยกย่องและปรากฏเด่นชัด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคม ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจ กฟผ. ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และสังคม ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจ กฟผ.

    (๑) ปี ๒๕๕๒ มีแนวคิดที่จะพลิกฟื้นระบบนิเวศและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชุมชนบ้านบน ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทราภายใต้แนวคิดที่ว่า “ถ้าทำให้สัตว์น้ำเล็ก ๆ กลับมาได้ โลมาก็จะกลับมา ชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้ ทุกคนก็มีอาหารทะเลดี ๆ กิน” โดยจัดกิจกรรม ได้แก่
        – ธนาคารปูแสม เพื่อให้ปูแสมกลับคืนสู่พื้นที่บริเวณหน้าวัดคงคาราม
        – การปลูกป่าชายเลน เพื่อเพิ่มพื้นที่และฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนให้สมบูรณ์ขึ้น และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน
        – การเก็บขยะในป่าชายเลน
        – ทำสะพานทางเดิน เพื่อใช้ศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บริเวณพื้นที่หน้าวัดคงคาราม

    (๒) ปี ๒๕๕๒-๒๕๕๓ มีแนวคิดในการสร้างบ้านปูที่มีลักษณะแบบกั้นคอกเพื่อให้เห็นการขยายพันธุ์ของปูแสม ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการศึกษาดูงานการฟื้นฟูคืนชีวิตปูแสม จังหวัดระยอง ที่จัดโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนกระเบื้องสำหรับการสร้างบ้านปูแสมจากโรงไฟฟ้าบางปะกง

      (๓) ปี ๒๕๕๔ พบว่ามีจำนวนปูแสมมากขึ้น และมีความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่มากขึ้น

      (๔) ปี ๒๕๕๗ ร่วมกับโรงไฟฟ้าบางปะกง และหน่วยงานต่าง ๆ กำหนดแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้มีความสมบูรณ์ ได้แก่ การช่วยกันเก็บขยะ และกำหนดพื้นที่เขตอภัยทานบริเวณท่าน้ำวัดคงคาราม จนทำให้เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๙ มีโลมาปรากฏให้เห็นในพื้นที่อีกครั้งซึ่งเกิดจากความร่วมมือของชาวบ้านกลุ่มเล็ก ๆ ทำให้ชุมชนบางปะกงมีพื้นที่สำหรับเรียนรู้เพิ่มขึ้นอีกแห่ง และเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนเกิดความหวงแหนในธรรมชาติ รวมทั้งใส่ใจสิ่งแวดล้อมรอบบ้านของตัวเองมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้ป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์น้ำนานาชนิดเข้ามาอาศัยและเติบโตขึ้นมากมาย ส่งผลให้ชาวประมงพื้นบ้านสามารถจับสัตว์น้ำในแม่น้ำได้มากขึ้น คืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชนในลุ่มน้ำบางปะกงได้สำเร็จ 

      (๕) ผลลัพธ์จากโครงการ ปรากฏให้เห็นใน ๓ ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ทำให้กลุ่มอาชีพมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว ๑๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน และด้านสังคม มีจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม จำนวน ๕๐๐ คนต่อเดือน มีผลิตภัณฑ์จำหน่าย ได้แก่ ปลาโอแดดเดียว น้ำสมุนไพร และดินปั้นญี่ปุ่น รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับ กฟผ. จากโครงการ “บ้านปลา ธนาคารปู” ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดียิ่งจากชุมชนรอบโรงไฟฟ้าบางปะกง โดยมีผู้เข้าเยี่ยมชมเพื่อศึกษาแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ ประมาณ ๖,๐๐๐ คนต่อปี

       (๖) ปี ๒๕๖๒ ร่วมจัดกิจกรรมปลูกป่าชายเลนและปล่อยปูในโครงการ “ปล่อยสอง ได้แสน” สร้างคอนโดปู สะพานไม้ไผ่ศึกษาธรรมชาติ แปลงเพาะชำกล้าไม้ป่าชายเลน และบ้านนกท้องถิ่น ณ โรงเรียนบางปะกงบวรวิทยายน โรงเรียนวัดล่าง (บวรวิทยายน ๓) โรงเรียนวัดท่าสะอ้าน โรงเรียนวัดบางแสม และโรงเรียนบ้านท่าข้ามตั้งตรงจิตร

      (๗) “โครงการบ้านปลา ธนาคารปู” เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของโรงไฟฟ้าบางปะกงในฐานะหน่วยงานที่สนับสนุนและส่งเสริมโครงการดังกล่าว สะท้อนการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงไฟฟ้าและชุมชน นำไปสู่การยอมรับของชุมชน ตลอดจนสังคมที่มีต่อ กฟผ. และปัจจุบันโรงไฟฟ้าบางปะกงจัดกิจกรรมสำหรับผู้เข้ามาศึกษาดูงานในโรงไฟฟ้าบางปะกง ให้มีการศึกษาดูงานเสริมวิถีชุมชน และทำกิจกรรมจิตอาสาด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ “โครงการบ้านปลา ธนาคารปู” จึงเป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมของโรงไฟฟ้าบางปะกงในด้านสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าบางปะกงมีคณะศึกษาดูงานเข้ามาทำกิจกรรมในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนภายในชุมชน และโรงไฟฟ้าบางปะกงได้นำผลการดำเนินงานดังกล่าวไปประกอบรายงานการปฏิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้เกิดการยอมรับจากหน่วยงานภายนอก

      (๘) ปัจจุบัน “โครงการบ้านปลา ธนาคารปู” สามารถดำเนินการได้โดยตนเอง กล่าวคือ โรงไฟฟ้าบางปะกงร่วมกับโครงการภูมิชุมชนดำเนินกิจกรรม “ปล่อยสอง ได้แสน” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต่อยอดจาก “โครงการบ้านปลา ธนาคารปู” ทำให้ชุมชนมีรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาทำกิจกรรมปล่อยพันธุ์ปูแสมลงสู่แหล่งธรรมชาติ นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าบางปะกงอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบบริหารงานของโครงการ โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมเพื่อชุมชนและธนาคารออมสิน ซึ่งจะทำให้โครงการดังกล่าวสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง

      (๙) เป็นกระบอกเสียงและเป็นสื่อบุคคล (Personal Media) ด้านสิ่งแวดล้อมให้กับโรงไฟฟ้าบางปะกง รวมทั้ง มีส่วนสำคัญในกระบวนการสื่อสารเพื่อสร้างการยอมรับของชุมชนและสังคมที่มีต่อโรงไฟฟ้าบางปะกงอีกด้วย

  • รางวัล และประกาศนียบัตรที่เคยได้รับ
    (๑) รางวัลสตรีดีเด่น ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประจำปี ๒๕๖๒
    (๒) รางวัลชมเชย ชุมชนต้นแบบด้านการอนุรักษ์ป่าชายเลน โครงการประกวดคัดเลือกชุมชนต้นแบบด้านการอนุรักษ์ป่าชายเลน ประจำปี ๒๕๕๘ โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

Skip to content