เขื่อนรัชชประภา

(จ.สุราษฎร์ธานี)

ความเป็นมา

เมื่อนึกถึงพลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หนึ่งในนั้นก็คือพลังงานน้ำ การสร้างเขื่อนจึงถือว่าเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำให้เกิดประโยชน์ เป็นแหล่งเก็บกักและระบายน้ำได้เป็นอย่างดี ซึ่งเขื่อนที่มีความโดดเด่นและสวยงามไม่แพ้ประโยชน์ที่ใช้งานก็คือ “เขื่อนรัชชประภา” หรือเดิมชื่อว่า “เขื่อนเชี่ยวหลาน” โดยทิวทัศน์ในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนแห่งนี้ได้รับฉายาว่าเป็นกุ้ยหลินเมืองไทย อีกทั้งยังเป็นเขื่อนใหญ่แห่งสุดท้ายที่ กฟผ. สร้างขึ้น นับจากการก่อสร้างเขื่อนรัชชประภาแล้วเสร็จก็ไม่มีการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อีกเลย

          

          เขื่อนรัชชประภา เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคใต้ สร้างความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้า และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สอดคล้องกับความหมายของเขื่อนรัชชประภา ที่แปลว่า “แสงสว่างแห่งราชอาณาจักร” (Light of the Kingdom)

          ตัวเขื่อนสามารถใช้ประโยชน์ในการชลประทานเพื่อการเพาะปลูก บรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูฝน การกักเก็บน้ำของเขื่อนสามารถช่วยลดความรุนแรงของปริมาณน้ำจำนวนมากได้ เมื่อถึงฤดูแล้งสภาพน้ำในแม่น้ำตาปี-พุมดวง มีปริมาณน้อย ทำให้น้ำเน่าเสียง่าย น้ำที่ปล่อยจากเขื่อนรัชชประภาจะช่วยเจือจางน้ำเสีย และต้านการรุกล้ำของน้ำเค็มที่ปากแม่น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นแหล่งอาชีพประมงน้ำจืด เสริมสร้างการท่องเที่ยวในท้องถิ่นที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ราษฎรในพื้นที่

          นอกจากนี้ยังเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ และรัชมังคลาภิเษก ในปี พ.ศ. 2530 ซึ่งนับเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ของชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี และ กฟผ. โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 แล้วเสร็จในเดือนกันยายน พ.ศ. 2530 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดเขื่อน เมื่อวันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2530 ปัจจุบันมีขนาดกำลังผลิตตามสัญญา 240 เมกะวัตต์

ลักษณะเขื่อน

เขื่อนหินถม
แกนดินเหนียว
ความจุอ่างเก็บน้ำ
5,639 ล้านลูกบาศก์เมตร
พื้นที่อ่างเก็บน้ำ
185 ตารางกิโลเมตร
ความกว้างสันเขื่อน
12 เมตร
ความยาวสันเขื่อน
761 เมตร
ความสูงจากฐานราก
94 เมตร

ลักษณะโรงไฟฟ้า

อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
240 เมกะวัตต์
ผลิตพลังงานไฟฟ้า
ได้ปีละประมาณ
554 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง

ติดต่อ

Skip to content