Unseen EGAT By ENGY ตอน ประสานสนิททุกรอยรั่ว ชัวร์ทุกงานบำรุงรักษา ประสบการณ์กว่า 50 ปี ต้องฝีมือช่างเชื่อม กฟผ.

20 July 2021

         Unseen EGAT By ENGY วันนี้ จะพาไปรู้จักหนึ่งบทบาทที่มีความสำคัญในงานด้านบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. พวกเขาเหล่านี้มีหน้าที่เป็นเบื้องหลังดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศ ขอบอกเลยว่า ภารกิจนี้เป็นอีกภารกิจที่ยากและท้าทาย ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการทำงานเป็นอย่างมากเลยทีเดียว นั่นคือ “ภารกิจช่างเชื่อมของ กฟผ.” ซึ่งจะมีความยากและท้าทายอย่างไร เราจะมาไขข้อข้องใจนี้จาก พี่วิทูร สุขโต หัวหน้าแผนกเชื่อมหม้อน้ำ กองหม้อน้ำ ฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล ผู้เชี่ยวชาญด้านงานเชื่อมของ กฟผ. กันเลยครับ !!

          ช่างเชื่อม..เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนงานบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า เพราะเมื่อเครื่องจักร อุปกรณ์ของโรงไฟฟ้าแตกหักเสียหาย ช่างเชื่อมจะมีหน้าที่ชุบชีวิต ซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง

          “เครื่องจักรและอุปกรณ์ในโรงไฟฟ้ามีจำนวนมากและมีความซับซ้อน อุปกรณ์บางตัวซ่อนอยู่ในที่แคบ ยากที่จะเข้าไปทำการเชื่อมได้ถนัด งานเชื่อมอุปกรณ์ในพื้นที่แคบจึงนับเป็นงานยาก แต่ที่ยากยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การเชื่อมในพื้นที่แคบโดยต้องมองภาพสะท้อนผ่านกระจกเงา เพราะเราไม่สามารถมองเห็นอุปกรณ์ที่จะเชื่อมได้โดยตรง ต้องอาศัยกระจกเงาเป็นอุปกรณ์ช่วย จึงถือว่าเป็นงานที่โหดที่สุดของช่างเชื่อม” พี่วิทูรเปิดการสนทนาด้วยภารกิจสุดโหดของช่างเชื่อมที่ต้องใช้ทั้งทักษะการเชื่อมพื้นฐานและการเชื่อมลักษณะพิเศษ รวมถึงต้องมีความอดทนอย่างมากในการทำงาน แต่กว่าที่ช่างเชื่อมคนหนึ่งจะพัฒนาทักษะจนเป็นยอดฝีมือได้ขนาดนี้ จะต้องผ่านการฝึกฝนและด่านทดสอบมากมาย แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องมีใจรักในงานเชื่อม มีความขยันและอดทน เพราะผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องฝึกฝนอยู่กับงานเชื่อมซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นเวลาหลายปีจนกระทั่งเชี่ยวชาญ อีกทั้งยังต้องทำงานเชื่อมภายใต้ความร้อนของเปลวไฟ สะเก็ดไฟ ควัน เสียงดัง รวมถึงอุปสรรคหน้างานต่างๆ ที่เปลี่ยนไปในทุกๆสถานการณ์ ถ้าหากไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว คงเป็นไปได้ยากที่จะผ่านการทดสอบและการทำงานไปได้

          นอกจากนั้น ช่างเชื่อมต้องผ่านการทดสอบวัดระดับฝีมืองานเชื่อมตามมาตรฐานของ กฟผ. เพื่อจัดระดับความสามารถการรับงานเชื่อมในงานบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า โดยมีทั้งหมด 5 ระดับ ซึ่งในทุกๆปีช่างเชื่อมทุกคนต้องได้รับการทดสอบรักษาระดับฝีมือว่ายังคงมีความสามารถในการรับงานระดับเดิมอยู่หรือไม่ หากไม่ผ่านการทดสอบ ก็จะต้องถูกลดระดับฝีมืองานเชื่อมลงจากระดับความสามารถปัจจุบัน

          ยิ่งไปกว่านั้นการฝึกฝนทักษะพิเศษเพิ่มเติมยังจำเป็นมากสำหรับภารกิจช่างเชื่อมของ กฟผ.ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมในพื้นที่แคบโดยมองผ่านกระจก การเชื่อมแบบ Window Type โดยการเจาะรู เชื่อมด้านในท่อแทนกรณีที่ไม่สามารถเชื่อมด้านนอกท่อได้ รวมถึงเพิ่มความชำนาญในการฝึกเชื่อมงานลักษณะพิเศษต่างๆ เพื่อรองรับงานเชื่อมอุปกรณ์ที่มีมูลค่าสูง และงานที่ไม่มีอะไหล่ทดแทน ซึ่งมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะผ่านการทดสอบและสามารถปฏิบัติงานยากเช่นนี้ได้ ซึ่งช่างเชื่อมของ กฟผ. สามารถทำได้ !!

          ในขณะเดียวกันการทำงานภายใต้ความร้อน สะเก็ดไฟ ควัน รวมถึงฝุ่นละอองจากผงเหล็กที่เกิดจากการเจียร จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลในการทำงานให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ขณะปฏิบัติงานช่างเชื่อมทุกคนต้องใส่สวมใส่ชุดกันสะเก็ดไฟ สวมถุงมือ รองเท้าเซฟตี้ ใส่ครอบจมูกป้องกันสารพิษจากฟูมโลหะเข้าจมูก และสวมหน้ากากเชื่อมทุกครั้ง นอกจากนี้ยังต้องได้รับการตรวจเช็คสุขภาพประจำปีในลักษณะงานพิเศษ เช่น การตรวจโลหะหนักในกระแสเลือด ตรวจสายตาและความสามารถทำงานในที่อับอากาศ เพื่อเช็คความพร้อมของร่างกายในการทำงาน หากพบว่า มีปัญหาทางด้านสุขภาพจะต้องเข้ารับการรักษา และเปลี่ยนหน้าที่ไปทำในส่วนอื่นแทน

          ช่างเชื่อม กฟผ. ที่ผ่านการฝึกฝน บ่มเพาะประสบการณ์จนเชี่ยวชาญล้วนมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนงานบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าด้านงานเชื่อม ทั้งการเชื่อมท่อ Tube และ Pipe ซึ่งเป็นท่อความดันสูงของหม้อไอน้ำ (Boiler) และการเชื่อมซ่อมอุปกรณ์ เช่น กังหันไอน้ำ (Steam Turbine) กังหันแก๊ส (Gas Turbine) ฯลฯ ที่เกิดการแตกหรือสึกกร่อนตามจุดต่างๆ ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ปกติ ช่างเชื่อมจึงจำเป็นต้องเชื่อมซ่อมและปรับปรุงแก้ไขตามวาระการบำรุงรักษา หรือ ในกรณีฉุกเฉิน เช่น การตัดท่อส่วนที่ชำรุดออก แล้วเชื่อมกลับเข้าไปใหม่ หรือ ประสานวัสดุเพื่ออุดรอยรั่ว

          งานเชื่อมในการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าของ กฟผ. นอกจากการเชื่อมในที่แคบภายใต้การมองผ่านกระจกที่สุดโหดแล้ว ในงานบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า ยังต้องมีงานถอดรื้อเครื่องจักรออกมาเพื่อซ่อมบำรุงรักษา แต่มักเกิดปัญหาที่ไม่สามารถถอด Bolt หรือ Nut ขนาดใหญ่ที่ยึดฝาครอบเครื่องจักรไว้ได้ จำเป็นต้องอาศัยช่างเชื่อมตัดทำลาย Bolt ออกด้วยวิธีการ Gouging หรือการเลาะเนื้อชิ้นงาน แต่การเลาะชิ้นงานนั้น เป็นชิ้นงานที่ไม่สามารถหาอะไหล่มาทดแทนได้ ดังนั้น จึงต้องค่อยๆเลาะทีละนิดๆ ช้าๆ ใช้ความอดทนและระมัดระวังอย่างสูง เพื่อไม่ให้เกลียวของชิ้นงานถูกทำลายเลยแม้แต่เล็กน้อย ช่างเชื่อมจึงจำเป็นต้องมีความชำนาญในการทำงานสูง งานเชื่อมแบบ Gouging จึงเป็นอีกหนึ่งงานชั้นครูที่น้อยคนนักจะทำได้

          ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่สั่งสมมาเป็นเวลานานของช่างเชื่อม ทำให้ปัจจุบัน กฟผ.มีผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะและความสามารถด้านการเชื่อมสูง สามารถให้บริการงานเชื่อมได้อย่างมีคุณภาพในระดับมาตรฐานสากล จึงได้มีการต่อยอดพัฒนาและอบรมงานเชื่อมสู่ผู้ปฏิบัติงานใหม่และบุคคลภายนอก ภายใต้ศูนย์พัฒนางานเชื่อมและทดสอบฝีมือช่างเชื่อมสากล ซึ่งผ่านการรับรองการเป็นศูนย์อบรมงานเชื่อม (Approve Training Body : ATB) ลำดับที่ 4 ในประเทศไทยจากสถาบันการเชื่อมแห่งประเทศไทย (Welding Institute of Thailand : WIT) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ฝึกฝนงานเชื่อม ตลอดจนทดสอบและรับรองความสามารถด้านงานเชื่อมตามมาตรฐานสากลอีกด้วย

          พี่วิทูรยังเล่าให้ฟังอีกว่า พี่ๆช่างเชื่อมทุกๆท่านยังได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านงานเชื่อมมาพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สังคม ซึ่งเป็นนักเรียน นักศึกษาบริเวณโดยรอบ กฟผ. สำนักงานไทรน้อย จนคว้ารางวัลด้านการเชื่อมในระดับประเทศมาครองอีกด้วยล่ะครับ ขอปรบมือให้กับฝีมือการสอนระดับช่างเชื่อม กฟผ. เอนจี้บอกเลยว่า ไม่ธรรมดาสมกับสโลแกน “ ประสานสนิททุกรอยรั่ว ชัวร์ทุกงานบำรุงรักษา ประสบการณ์กว่า 50 ปี ต้องฝีมือช่างเชื่อม กฟผ. ” จริงๆเลยครับ และสำหรับความยาก ความท้าทายของภารกิจช่างเชื่อมยังไม่หมดเพียงเท่านี้นะครับ เพราะ กฟผ. ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านงานเชื่อมใต้น้ำที่มีความยากและท้าทายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ซึ่งเอนจี้จะพาพี่ๆ มาเล่าความโหดของภารกิจให้ฟังกันในโอกาสต่อไปด้วยครับ สำหรับวันนี้ Unseen EGAT By ENGY ต้องขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่ในครั้งหน้านะครับ สวัสดีครับผม

Skip to content