เขื่อนภูมิพล

(จ.ตาก)

ความเป็นมา

…ข้าพเจ้าเห็นพ้องกับรัฐบาลว่า โครงการอเนกประสงค์โครงการแรกของประเทศไทยนี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเศรษฐกิจก้าวใหม่ให้ไพศาลออกไป ปัจจุบันน้ำเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงชีวิต และน้ำกับไฟฟ้าส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของชีวิต เมื่อพลเมืองเพิ่มมากและเร็ว ก็ต้องเพิ่มน้ำและไฟฟ้าให้ทันความต้องการของพลเมือง..

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเปิดเขื่อนภูมิพล

          

          “เขื่อนภูมิพล” เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกของประเทศไทย ลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้ง และเป็นเขื่อนแรกในประวัติศาสตร์ไทยอันเป็นจุดกำเนิดของการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ การใช้ประโยชน์ในหลาย ๆ ด้านของอ่างเก็บน้ำ เช่น เก็บหรือชะลอน้ำในฤดูน้ำหลากเพื่อป้องกันบรรเทาอุทกภัย แต่ทั้งนี้ต้องไม่สูงเกินจนส่งผลกระทบต่อพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำที่ถูกน้ำท่วม และความมั่นคงปลอดภัยของตัวเขื่อน เป็นต้น และระบายน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค การเกษตรกรรม และรักษาระบบนิเวศน์ รวมถึงประโยชน์ที่เป็นผลพลอยได้อื่น ๆ ที่เกิดจากการระบายน้ำของเขื่อนภูมิพล

          โดยถือกำเนิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลในขณะนั้นมีแนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งสามารถนำไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้อย่างรวดเร็ว จึงมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าทั่วราชอาณาจักร” เพื่อสำรวจพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าทั่วประเทศ ซึ่งพบว่าในลำน้ำปิงบริเวณหุบเขาย่านรีหรือยันฮี อ.สามเงา จ.ตาก มีความเหมาะสมต่อการสร้างเขื่อนเป็นอย่างยิ่ง จึงนำมาสู่การสำรวจ “เขื่อนยันฮี” ในปี พ.ศ. 2495 และเริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2500 – 2507 และในปีเดียวกันนี้เอง ก็มีการตั้ง “การไฟฟ้ายันฮี” (กฟย.) เพื่อรับผิดชอบการสร้างเขื่อน และผลิตไฟฟ้าให้กับภาคกลางและภาคเหนือ

          ประโยชน์ในด้านพลังงานไฟฟ้า สามารถผลิตกำลังไฟฟ้าได้ 560 เมกะวัตต์ หรือปีละ 2,200 ล้านยูนิต ซึ่งอาจส่งพลังงานไฟฟ้าไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก รวมถึง 36 จังหวัด

          ด้านการชลประทานในฤดูฝนจะทำให้พื้นที่บนลุ่มน้ำปิงจากเขื่อนลงมาสามารถทำนาได้ประมาณ 1,500,000 ไร่ ในฤดูแล้งสามารถจะช่วยให้พื้นที่ในโครงการเจ้าพระยาผลิตพืชฤดูแล้งได้อีกประมาณ 2,000,000 ไร่

          ด้านการคมนาคมซึ่งเป็นหัวใจของการขนส่งในภาคกลาง เรือขนาดกินน้ำลึก 2 เมตร จะขึ้นล่องจากจังหวัดนครสวรรค์ถึงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ได้ เป็นระยะทางถึง 400 กิโลเมตร เขื่อนนี้ซึ่งเก็บกักน้ำได้ถึง 12,200 ล้านลูกบาศก์เมตร อาจกักน้ำซึ่งหลากมาในฤดูน้ำไว้เสียได้ อันจะเป็นเหตุให้บรรเทาอุทกภัยลงด้วย

          ในปี พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระปรมาภิไธยให้เป็นชื่อเขื่อนว่า “เขื่อนภูมิพล” และในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนและทรงกดปุ่มขนานเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 1 เข้าระบบ และนับตั้งแต่วันนั้น โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูมิพลก็ได้ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทยมาโดยตลอด

ลักษณะเขื่อน

เขื่อนคอนกรีต
ความจุอ่างเก็บน้ำ
13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร
พื้นที่อ่างเก็บน้ำ
300 ตารางกิโลเมตร
ความกว้างสันเขื่อน
6 เมตร
ความยาวสันเขื่อน
486 เมตร
ความสูงจากฐานราก
154 เมตร
เขื่อนคอนกรีตโค้งแห่งเดียวของประเทศไทยที่ใหญ่และสูงสุดในเอเชียอาคเนย์ และใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก

ลักษณะโรงไฟฟ้า

อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
779.20 เมกะวัตต์
ผลิตพลังงานไฟฟ้า
ได้ปีละประมาณ
1,062 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง
เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 8 (ระบบสูบกลับ)

ติดต่อ

Skip to content