เขื่อนภูมิพล

ความเป็นมา

“เขื่อนภูมิพล” เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกของประเทศไทย และเป็นเขื่อนแรกในประวัติศาสตร์ไทยอันเป็นจุดกำเนิดของการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยถือกำเนิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลในขณะนั้นมีแนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งสามารถนำไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้อย่างรวดเร็ว จึงมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าทั่วราชอาณาจักร” เพื่อสำรวจพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าทั่วประเทศ  ซึ่งพบว่าในลำน้ำปิง บริเวณหุบเขาย่านรีหรือยันฮี อ.สามเงา จ.ตาก มีความเหมาะสมต่อการสร้างเขื่อนเป็นอย่างยิ่ง จึงนำมาสู่การสำรวจ “เขื่อนยันฮี” ในปี พ.ศ. 2496 และเริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2500 – 2507 และในปีเดียวกันนี้เอง ก็มีการตั้ง “การไฟฟ้ายันฮี” (กฟย.) เพื่อรับผิดชอบการสร้างเขื่อน และผลิตไฟฟ้าให้กับภาคกลางและภาคเหนือ

ปี พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระปรมาภิไธยให้เป็นชื่อเขื่อนว่า “เขื่อนภูมิพล” และในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนและทรงกดปุ่มขนานเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 1 เข้าระบบ และนับตั้งแต่วันนั้น โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูมิพลก็ได้ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทยมาโดยตลอด

ข้อมูลเพิ่มเติม
ประวัติเขื่อนภูมิพล

เขื่อนแม่ปิงตอนล่าง

จากการติดตั้งระบบสูบกลับในเครื่องที่ 8 ของเขื่อนภูมิพล ส่งผลให้ต้องสร้างเขื่อนแม่ปิงตอนล่าง ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดเล็ก สร้างปิดกั้นลำน้ำปิง อยู่ห่างจากเขื่อนภูมิพลลงมาทางท้ายน้ำ 5 กิโลเมตร ดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2534 เพื่อใช้อ่างเก็บน้ำเป็นอ่างล่าง ถูกออกแบบให้มีบานประตูระบายน้ำเปิดปิด เพื่อใช้กักเก็บน้ำแล้วสูบกลับไปใช้ผลิตไฟฟ้าอีกครั้ง ก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2538 สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบได้ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2539

Skip to content