ตามรอยปลูกป่าเมืองน่าน ปลูกคนหัวใจสีเขียว

2 February 2022

จังหวัดน่าน หรือเมืองน่าน เป็นเมืองเล็ก ๆ แต่แฝงไว้ด้วยมนต์เสน่ห์ที่จัดเต็มด้วยธรรมชาติ มีขุนเขาสลับซับซ้อน ที่แต่งแต้มสีเขียวด้วยผืนป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้น่านเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้มากเป็นอันดับ 7 ของประเทศไทย เมื่อเทียบกับพื้นที่จังหวัด (คิดเป็น 61.22 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่จังหวัดน่านทั้งหมด : ข้อมูล ณ ต้นปี 2564 สำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้) ปัจจุบันเราจะเห็นว่าจังหวัดน่านมีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ป่าไม้สวยงามน่าท่องเที่ยว แต่รู้หรือไม่ว่าก่อนหน้านี้พื้นที่ป่าไม้และ ป่าต้นน้ำในจังหวัดน่าน ถูกทำลายไปกว่า 1,680,000 ไร่ และบางส่วนที่เหลืออยู่ก็เป็นป่าต้นน้ำที่ไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะสามารถป้องกันภัยแล้ง อุทกภัย และดินโคลนถล่มได้ หรือหากนึกภาพไม่ออก ทุกคนคงจะเคยได้ยินคำว่า “เขาหัวโล้น” นั่นแหละ คือสภาพผืนป่าน่านในอดีตกว่า 20 ปี มาแล้ว

ติดตามพื้นที่โครงการปลูกป่า จังหวัดน่าน

เรื่องราวของการ “ปลูกป่า” จึงเกิดขึ้นที่นี่ เพื่อหวังแก้ไขฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายให้กลับมาสมบูรณ์ กฟผ. นับเป็นหน่วยงานหนึ่งที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของป่าและน้ำ รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยทรัพยากรป่าไม้ จึงได้เริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ นั่นคือความตั้งใจ ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โดยรอบหน่วยงาน กฟผ. ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ แล้วค่อย ๆ ขยายไปสู่พื้นที่ป่าต้นน้ำ โดยเฉพาะต้นน้ำน่าน ลำน้ำสายสำคัญที่เปรียบเสมือนอ่างเก็บน้ำตามธรรมชาติที่คอยปล่อยน้ำให้ได้ใช้อย่างสม่ำเสมอ และยังเป็นแหล่งต้นน้ำ ของเขื่อนสิริกิติ์

กฟผ. ได้ร่วมฟื้นฟูป่าต้นน้ำจังหวัดน่านนับตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา ด้วยการก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งใน “โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50” ซึ่งเกิดขึ้นจากความห่วงใย ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ต่อสถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทย โดยคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้เห็นชอบและอนุมัติให้จัดตั้งโครงการดังกล่าวขึ้น ด้วยเป้าหมายฟื้นฟูป่าจำนวน 5 ล้านไร่ ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดไม่ใช่แค่ใครคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะทำได้เพียงลำพัง แต่เป็นความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดน่าน ลุกขึ้นมารวมพลังกัน เพื่อต้องการหยุดการรุกล้ำพื้นที่ป่าไม้ และนำพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม หรือพื้นที่ป่า ที่ถูกบุกรุก กลับมาฟื้นฟูให้ป่ากลับเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เป็นแหล่งเก็บกักน้ำอย่างที่ควรจะเป็น…และ เพื่อบ้านของทุกคน

จากก้าวแรกบนพื้นที่แปลงปลูกเพียง 7 พันกว่าไร่ สู่การคืนพื้นที่สีเขียวให้น่านนับแสนไร่

กฟผ. ได้เข้าไปร่วมปลูกป่าบกในพื้นที่จังหวัดน่านนับตั้งแต่นั้น โดยพื้นที่แรกที่ กฟผ. เข้าไปร่วมฟื้นฟูเรียกว่าแปลงปลูกป่า FPT 4 ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยภูคา-ป่าผาแดง ต.น้ำเกี๋ยน และ ต.น้ำแก่น อ.ภูเพียง จ.น่าน ซึ่งเป็นป่าเบญจพรรณ มีเป้าหมายการปลูกป่าทั้งหมด 22,500 ไร่ ซึ่งมีหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมแบ่งพื้นที่เพื่อช่วยกันดูแล ในส่วนของ กฟผ. นั้นมีพื้นที่ดำเนินโครงการทั้งหมด 7,325 ไร่ โดยในปี 2537 ปลูกจำนวน 576 ไร่ ปี 2538 จำนวน 5,549 ไร่ และปี 2539 จำนวน 1,000 ไร่ โดย กฟผ. ได้ดำเนินการปลูกและจ้างงานชาวบ้านในพื้นที่ช่วยดูแลบำรุงรักษาป่าต่อไปอีก 2 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าต้นไม้ที่ปลูกเหล่านั้นจะอยู่รอดและสามารถเติบโตต่อไปได้ นี่เองคือจุดเริ่มต้น และอาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะ กฟผ. ยังคงเดินหน้า ปลูกป่าและดูแลอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ด้วยแนวทางการปลูกป่าอย่างยั่งยืน 3 แนวทาง “ปลูกที่ท้อง ปลูกที่ใจ ปลูกในป่า” ปลูกที่ท้อง คือการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับประชาชน ปลูกที่ใจ สร้างการปลูกจิตสำนึกของประชาชนในพื้นที่เพื่อให้รักษ์ป่า และปลูกในป่า ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ รวมทั้งแหล่งต้นน้ำลำธาร

การเดินทางมาสำรวจพื้นที่ป่าน่านในครั้งนี้ ทีมงานสำรวจต่างปีนป่ายขึ้นรถกระบะโฟร์วีล เดินทางผ่านเส้นทางลูกรังอันขรุขระ บ้างเป็นเนิน บ้างเป็นหลุมเป็นบ่อ มุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทางซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกป่าผืนแรกที่ กฟผ. ปลูก เพื่อดูว่านับจากวันแรก จวบจนปัจจุบันผ่านมาแล้วกว่า 27 ปี ป่าผืนนั้นมีสภาพเป็นอย่างไรบ้าง จากการที่ให้ป่าได้ฟื้นฟูป่าด้วยตัวเองตามธรรมชาติ ซึ่งตลอดเส้นทางนั้นเต็มไปด้วยต้นไม้เขียวครึ้มหนาแน่น ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่เย็นสบาย จนอดไม่ได้ที่จะสูดอากาศดี ๆ ให้เต็มปอด สะท้อนให้เห็นถึงผลของการปลูกป่าได้โดยที่ไม่ต้องเอ่ยออกมาเป็นคำพูด

ติดตามพื้นที่โครงการปลูกป่า จังหวัดน่าน

“ก่อนหน้าที่จะมีโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ฯ พื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า เป็นป่าเสื่อมโทรม ป่าหญ้าคา แห้งแล้งมาก และไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นสภาพพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการฟื้นฟูอย่างมาก ซึ่งหากไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาสนใจฟื้นฟูดูแล พื้นที่นี้ก็จะถูกชาวบ้านบุกรุกเพื่อทำการเกษตร” นายสุรศักดิ์ เกียรติภัทราภรณ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน ผู้ซึ่งทำหน้าที่ดูแลแปลงปลูกป่า FPT 4 เล่าความเป็นมาของพื้นที่ และบอกอีกว่านับจากปี 2537 ที่ กฟผ. เข้ามาปลูกป่าผืนแรก ในจังหวัดน่านจวบจนปัจจุบัน ต้นไม้ในแปลงปลูกแรกนั้นเติบโตขึ้นจนมีเส้นรอบวงใหญ่ถึง 180 เซนติเมตร ซึ่งสร้างความร่มรื่น และอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ป่าได้เป็นอย่างมาก ไม่เพียงเท่านั้น กฟผ. ยังดำเนินโครงการปลูกป่าในแปลงอื่น ๆ ในพื้นที่จังหวัดน่าน อีกหลายแห่ง ทั้งส่วนที่เป็นป่าชุมชน และป่าสงวน รวมพื้นที่ดำเนินโครงการทั้งหมด 105,800 ไร่ ซึ่งส่งผลอย่างเห็นได้ชัดจนชาวบ้านโดยรอบต่างตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้

เรียนรู้อยู่ร่วมกับป่าอย่างเข้าใจ ความรักและหวงแหนพื้นที่ป่าก็เกิดขึ้น

“เมื่อ กฟผ. มีโครงการปลูกป่าก็มีการจ้างงานชาวบ้านในพื้นที่เข้ามาดูแล ทำให้มีรายได้ ไม่มีการบุกรุกพื้นที่เพื่อทำไร่ข้าวโพดอีก นอกจากนี้ ปกติชาวบ้านบริเวณโดยรอบมักจะเข้าป่ากันเป็นประจำ บ้างก็มาเก็บของป่าไปขายเพื่อดำรงชีพ เก็บของป่าไปทำอาหาร ซึ่งป่านี้ก็เปรียบเสมือนสวนหลังบ้าน หรือซูเปอร์มาร์เก็ตของชาวบ้าน ที่เข้ามาเมื่อไหร่ก็มีผักป่าให้เก็บ เอาไปทำอาหารได้โดยไม่ต้องเสียเงิน เช่น หน่อไม้ เห็ด ผักหวาน เป็นต้น ชาวบ้านก็เลยช่วยกันดูแลป่า

เมื่อถึงหน้าน้ำหลาก ก่อนหน้านี้ไม่มีต้นไม้ที่คอยอุ้มน้ำบนภูเขา ชาวบ้านก็ได้รับความเดือดร้อนและเกิดความเสียหาย ทั้งต่อคนและทรัพย์สิน แต่เมื่อมีการฟื้นฟูป่า ทำให้ไม่มีปรากฏการณ์นั้นอีกแล้ว นั่นแหละทำให้ชาวบ้านเข้าใจ รู้ถึงความสำคัญของป่า เพราะส่วนหนึ่ง ป่าบริเวณนี้ก็เป็นพื้นที่ต้นน้ำสำหรับใช้ในชุมชน และทำให้เกิดความหวงแหนพื้นที่ป่าโดยที่เราไม่ต้องเล่าต้องบอก แต่เห็นได้ชัดจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเลย” นายสุรศักดิ์ เกียรติภัทราภรณ์ เล่าต่อ

นอกจากป่าต้นน้ำแล้ว กฟผ. ยังสนับสนุนการปลูกป่าชุมชน (ป่าใช้สอย) ในพื้นที่จังหวัดน่านตั้งแต่ปี 2557–2559 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ให้ชาวบ้านในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ โดย กฟผ. เข้ามาฟื้นฟู และจ้างชาวบ้านให้การดูแลพื้นที่ป่าต่อเนื่อง 4 ปี โดยป่าชุมชนนี้ชาวบ้านจะสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าป่าสงวน สามารถตัดไม้ไปใช้ประโยชน์ตามความจำเป็นได้ ซึ่งแต่ละชุมชนก็จะมีคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน คอยดูแลและกำหนดกฎเกณฑ์ ข้อจำกัด การใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนร่วมกันกับชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งนอกจากชาวบ้านจะมีรายได้ที่แน่นอนจากการรับจ้างดูแลพื้นที่ป่าจาก กฟผ. แล้ว ยังได้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าอีกด้วย

ติดตามพื้นที่โครงการปลูกป่า จังหวัดน่าน

ปลูกการมีส่วนร่วม ช่วยปลูกใจคนและป่าให้ยั่งยืน

ตลอดระยะเวลาของการดำเนินการปลูกป่าของ กฟผ. ในพื้นที่จังหวัดน่านนั้น ประสบความสำเร็จจากภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมมือกัน ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าการให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมกับทั้งหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ ช่วยดึงใจคนให้หันมาร่วมกันดูแลรักษาป่าให้ยั่งยืนในระยะยาวได้ รวมทั้งมีการปลูกจิตสำนึกตั้งแต่วัยเยาว์ อย่างที่ กฟผ. ได้ร่วมกับมูลนิธิฮักเมืองน่าน ดำเนินโครงการ “กล้าดี” เพื่อสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดน่าน เกิดความตระหนักเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม และสามารถขยายผลสู่ชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรมโดยการคิดและนำเสนอโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดน่าน ซึ่งดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2559 จนกระทั่งปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว ซึ่งโครงการนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนคิด พูด และทำโครงการ เพื่อบ้านของตนเองทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งคำว่า “กล้าดี” นอกจากจะหมายถึงส่งเสริมให้เยาวชนกล้าแสดงออกในสิ่งที่ดีแล้ว ยังเป็นการเพาะกล้าไม้ในใจเยาวชนคนน่านอีกด้วย ไม่เพียงเท่านี้ กฟผ. ยังได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เชิญชวนทุกภาคส่วน มาร่วมปลูกป่าอย่างต่อเนื่อง หวังเห็นความตื่นตัวของคนไทยในการหันมาสนใจและตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้อย่างกว้างขวาง

สานพลังก้าวต่อสู่โครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม

จากความสำเร็จของพลังการมีส่วนร่วมในพื้นที่ป่าน่าน กลายเป็นกุญแจดอกสำคัญในการเปิดทางสู่พื้นที่ป่าอื่น ๆ ของประเทศ ด้วยความเชื่อมั่นว่าการปลูกป่าให้เพิ่มมากขึ้นจะเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โลกเผชิญอยู่ได้ ล่าสุด กฟผ. จึงได้ประกาศนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมลงนามความร่วมมือโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม ภายใต้แนวคิด “EGAT Carbon Neutrality” ร่วมกับกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเดินหน้าปลูกป่าทั่วประเทศปีละหนึ่งแสนไร่ รวมจำนวนหนึ่งล้านไร่ ระหว่างปี พ.ศ. 2565–2574 ซึ่งประกอบไปด้วยป่าอนุรักษ์ ป่าชายเลน ป่าชุมชน และป่าเศรษฐกิจ เพื่อให้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ โดยคาดหวังว่าโครงการ ฯ จะสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซต์ปริมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี

โดยการเดินหน้าครั้งนี้เป็นการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ “Triple S” ที่ประกอบด้วย 1. S-Sources Transformation การจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด โดยกำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยบูรณาการนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียน ให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ พร้อมเดินหน้านำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและพลังงานทางเลือกที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในอนาคต 2. S-Sink Co-creation เป็นการดูดซับเก็บกักคาร์บอน อย่างมีส่วนร่วม ภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม พร้อมวางแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS) ในอนาคต 3. S-Support Measures Mechanism กลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม เพื่อลดความต้องการใช้ไฟฟ้าและ ช่วยหลีกเลี่ยงการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการฉลากเบอร์ 5 การส่งเสริม การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การเสริมสร้างทัศนคติภายใต้โครงการห้องเรียนสีเขียว เป็นต้น และแนวทางดังกล่าวที่ กฟผ. เดินหน้านี้ยังจะช่วยผลักดันนโยบาย Carbon Neutrality ของประเทศไทย ซึ่งประกาศไว้ในเวทีโลก ด้วยเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ระหว่างช่วงปี ค.ศ. 2065-2070 ให้ประสบความสำเร็จ

ในวันนี้ จะเห็นได้ว่าจากจุดเริ่มต้นของการปลูกป่า ไม่ได้แค่ปลูกต้นไม้ให้เติบโต แต่เราได้ปลูกหัวใจสีเขียวให้กับคน ไปพร้อมกันด้วย ได้สิ่งแวดล้อมที่ดีกลับคืนมา และสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ กฟผ. พร้อมเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญที่จะร่วม ดูแลสิ่งแวดล้อมไปกับคนไทย เพื่อรักษาบ้านและโลกใบนี้ไว้สำหรับลูกหลานของเราต่อไปอย่างยั่งยืน

Skip to content