เจาะลึกภารกิจ “บำรุงรักษาเครื่องกลโรงไฟฟ้า” เพื่อความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าไทย

29 September 2020

          คงจะมีน้อยคนนักที่รู้ว่าการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า มีขั้นตอนที่ละเอียดละออมากๆ ถึงขั้นที่เรียกว่า เพียงแค่ถอดชิ้นส่วน อุปกรณ์ต่างๆ หรือน็อตออกมาทีละชิ้นก็ใช้เวลาเป็นวันๆแล้ว และด้วยอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าซึ่งมีขนาดใหญ่ ติดตั้งอยู่ในพื้นที่จำกัด รวมทั้งต้องได้รับการตรวจสอบและบำรุงรักษา เพื่อดูแลป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับอุปกรณ์ต่างๆ เพราะอาจส่งผลต่อความพร้อมจ่ายและประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล

การบำรุงรักษาโรงไฟฟ้ามีความสำคัญอย่างไร ?

          การบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า เปรียบเสมือนการตรวจสุขภาพของมนุษย์ที่ต้องคอยตรวจเช็คเป็นประจำทุกๆปี เพื่อดูแลสภาวะความสมบูรณ์ของร่างกาย ในขณะที่การบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า คือ การตรวจสอบ ซ่อมแซม เปลี่ยน และปรับปรุงอุปกรณ์ตามวาระที่ผู้ผลิตกำหนดไว้ หรือ งานบำรุงรักษาฉุกเฉินของอุปกรณ์ต่างๆในโรงไฟฟ้า ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสนับสนุนความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ. โดยเติมเต็มงานบำรุงรักษาของ กฟผ. ให้ครบวงจรด้วยความร่วมมือระหว่าง ฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล (อบค.) ฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า (อบฟ.) และฝ่ายโรงงานและอะไหล่ (อรอ.) เพื่อร่วมกันดูแลการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าให้สมบูรณ์และมีความพร้อมมากที่สุด

การบำรุงรักษาเครื่องกลคืออะไร ?

          การบำรุงรักษาเครื่องกล คือ การตรวจสอบสภาพความเสียหายของเครื่องจักรและเครื่องกลในโรงไฟฟ้า ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ยกตัวอย่างเช่น เครื่องกังหันแก๊ส (Gas Turbine & Compressor), หม้อไอน้ำ (Boiler), เครื่องกังหันไอน้ำ (Steam Turbine), วาล์วไอน้ำแรงดันสูง (Main Steam Valve), ระบบน้ำมันหล่อลื่น (Lubrication System), ระบบหล่อเย็น (Cooling System) ,หอหล่อเย็น (Cooling Tower) เป็นต้น ซึ่งจะบำรุงรักษาโดยการคาดการณ์อายุการใช้งานของอุปกรณ์นั้นๆ ผ่านข้อมูลต่างๆ เช่น ค่าการสั่นสะเทือนของเครื่องจักร , อุณหภูมิ และการบำรุงรักษาอุปกรณ์ตามวาระที่ผู้ผลิตกำหนด เพื่อให้เครื่องจักรและอุปกรณ์เครื่องกลในโรงไฟฟ้ามีสภาพสมบูรณ์ พร้อมใช้งาน ส่งผลให้การเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า

ขั้นตอนการบำรุงรักษาเครื่องกลมีอะไรบ้าง ?

          การบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าหนึ่งครั้ง จะมีการกำหนดวัน เวลา หยุดเดินเครื่อง ตามสัญญาการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่จัดทำขึ้นร่วมกับศูนย์ควบคุมกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ และกำหนดภาระงานทั้งหมดที่ต้องการบำรุงรักษาจากผู้ดูแลโรงไฟฟ้านั้นๆก่อน จากนั้นฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล มีหน้าที่ตั้งแต่จัดสรรงาน ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริหารจัดการเวลา บริหารจัดการกำลังคน เครื่องมือ และอะไหล่ที่ใช้สำหรับการบำรุงรักษา เป็นแผนการบำรุงรักษาในส่วนของเครื่องกลให้พร้อมโดยวิศวกรผู้ควบคุมงาน ซึ่งขั้นตอนการเตรียมงานนี้ เชื่อหรือไม่ว่าต้องใช้เวลาดำเนินการล่วงหน้ากว่า 1 ปี จากนั้นเมื่อถึงกำหนดเข้าทำงานบำรุงรักษา วิศวกรผู้ควบคุมงานจะต้องคอยดูแลการบำรุงรักษา ซึ่งปฏิบัติงานโดยช่างผู้เชี่ยวชาญให้เป็นไปตามแผน ไม่ให้เกิดความล่าช้า ซึ่งหากเกิดความล่าช้า อาจจะส่งผลต่อกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศได้

ความท้าทายในงานบำรุงรักษาเครื่องกล?

          ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการ หรือขั้นตอนการทำงานใดๆ ถือเป็นความท้าทายทั้งสิ้น เช่น การถอดและประกอบ Rotor (โรเตอร์) หรือ เครื่องจักรขนาดใหญ่ น้ำหนักเกือบร้อยตัน ซึ่งทำหน้าที่เป็นต้นกำลังในการขับเคลื่อนเครื่องจักรและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ทั้งการผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันไอน้ำ (Steam Turbine) และกังหันก๊าซ (Gas Turbine) การที่จะถอดเครื่องจักรขนาดใหญ่เช่นนี้ออกมาเพื่อบำรุงรักษา แน่นอนว่า เครื่องจักรขนาดเกือบร้อยตันมนุษย์เราไม่สามารถยกชิ้นส่วนนี้ได้ด้วยตนเอง ต้องอาศัยเครนผนวกกับความเชี่ยวชาญในการยกอุปกรณ์ของทีมผู้บำรุงรักษา เป็นตัวแปรสำคัญในการทำงานให้สำเร็จ

          สำหรับ Rotor ตัวที่เห็นในภาพนี้ ทีมบำรุงรักษาต้องใช้เวลา 7 วันเต็มๆ กว่าจะถอดอุปกรณ์ออกมา บำรุงรักษาได้ ซึ่งปกติแล้ว Rotor จะถูกปิดด้วยฝา (Casing) ที่มีขนาดใหญ่และหนักเช่นเดียวกัน ทีมจึงต้องใช้เครนยก Casing และส่วนประกอบต่างๆออกมาก่อน จากนั้นจึงจะยก Rotor ตามออกมาทีหลัง แต่สิ่งที่ท้าทายในการยก ก็คือ ต้องทำงานด้วยความปลอดภัยที่สุดกับทั้งอุปกรณ์และทีมงานทั้งหมด ดังนั้น จึงต้องค่อยๆ ปรับตั้งระดับ และปรับตั้งระยะระหว่างชิ้นส่วนที่อยู่นิ่งและชิ้นส่วนที่หมุนทีละนิด บางจุดมีระยะห่างกันน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร ซึ่งใช้เวลานานมาก เพราะต้องใส่ใจและระมัดระวังในขั้นตอนเหล่านี้ เพื่อไม่ให้เกิดการเสียดสีกันของชิ้นส่วน ถือเป็นความพิถีพิถันที่ทีมบำรุงรักษาต้องให้ความสำคัญขั้นตอนหนึ่งเลยทีเดียว ในขณะเดียวกันต้องคอยดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานด้วย โดยจะมีหัวหน้าทีมคอยดูแลและให้สัญญาณ ไม่ให้ผู้ใดเข้าใกล้อุปกรณ์ขณะทำการยก รวมถึงการคาดการณ์ว่าจะเกิดความเสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงาน

          เมื่อบำรุงรักษาตามแผนงานที่ได้วางไว้แล้ว การดำเนินการประกอบชิ้นส่วนกลับไปเช่นเดิมก็เป็นความท้าทายไม่ต่างจากตอนถอดออกมา เนื่องจากต้องปรับตั้งระดับระหว่าง Rotor และ Casing ทั้งหมดตลอดความยาวของ Rotor ให้อยู่ในระนาบเดียวกัน แต่ไม่สัมผัสกัน เพื่อทำให้ขณะเดินเครื่องแล้วไม่เกิดความร้อนที่ผิดปกติ ไม่เกิดการสั่นที่มากเกินไป และไม่เกิดการรั่วของไอน้ำแรงดันสูง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายกที่รุนแรงตามมาได้ ดังนั้น ในขั้นตอนประกอบชิ้นส่วนนี้ จึงต้องใช้ความระมัดระวังและความเชี่ยวชาญเป็นอย่างสูง

ความคาดหวังในงานบำรุงรักษาเครื่องกลโรงไฟฟ้า กฟผ. ?

          การทำงานให้ตรงตามแผนและทำงานภายในระยะเวลาที่กำหนด คือ สิ่งสำคัญสำหรับโรงไฟฟ้าที่เป็นกำลังหลักของประเทศ เช่น โรงไฟฟ้าแม่เมาะ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าบางปะกง เป็นต้น ที่มีกำลังการผลิตสูง ส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศ มักมีเวลาจำกัดในการบำรุงรักษา ผู้ปฏิบัติงานต้องบำรุงรักษาตลอด 24 ชม. ทั้งในส่วนของวิศวกรและช่างบำรุงรักษา ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเวลามีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องมีการเพิ่มกำลังคนให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยการจ้างบริษัทจ้างเหมา ภายใต้การควบคุมงานจากทีมบำรุงรักษา มาช่วยในส่วนงานที่ภาระงานไม่หนักมากจนเกินไป หรือเป็นงานที่สามารถทำได้ง่าย แต่ในส่วนงานที่มีความยากและใช้เทคนิคเฉพาะทาง จำเป็นต้องใช้ผู้ปฏิบัติงานของ กฟผ. ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูงเป็นผู้ดำเนินการบำรุงรักษาเท่านั้น โดยระหว่างบำรุงรักษา วิศวกรควบคุมงานต้องคอยดูแลให้การทำงานตรงตามเป้าหมายอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งงานแล้วเสร็จ จึงจะมีการสรุปผลการทำงาน จัดทำเล่มรายงานนำเสนอแก่โรงไฟฟ้านั้นๆ

          ทั้งหมดนี้เป็นเพียงงานส่วนเล็กๆของฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล ที่แสดงให้เห็นถึงความพิถีพิถัน ผสานกับประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญที่ได้สั่งสมมาเป็นเวลานาน เพื่อบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าให้ทุกแห่งมีความพร้อมจ่ายสูงสุด มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น ทั้งยังได้ความเชื่อมั่นของอุปกรณ์ จนกล่าวได้ว่า ฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล กฟผ. ถือเป็นหนึ่งในผู้บำรุงรักษาเครื่องกลชั้นนำของธุรกิจอุตสาหกรรมไฟฟ้าในระดับภูมิภาคอาเซียนในปัจจุบันและมุ่งมั่นที่จะยังคงเป็นผู้นำด้านการบำรุงรักษาเครื่องกลในอนาคตต่อไปอีกด้วย

Skip to content