เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

  Circular Economy : CE

          หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน หมายถึง แนวคิดที่มีการวางแผนและออกแบบให้นำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ รักษาและสร้างคุณค่าจากทรัพยากรที่มีในระบบให้ได้มากที่สุด โดยการใช้งานของวัสดุ และผลิตภัณฑ์ให้ได้นานที่สุด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จนเกิดเป็นวงจรหมุนเวียนทรัพยากรต่อเนื่องในระบบปิด โดยไม่มีการส่งของเสียออกนอกระบบ ส่งผลให้เกิดความสมดุลระหว่างมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็นจากการขยายตัวของประชากรโลก จนนำไปสู่การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในที่สุด

หลักการที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

1. การรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้น้อยที่สุด เพิ่มการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนและพลังงานทดแทน

2. การใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการหมุนเวียนวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์โดยการออกแบบและแปรรูปทรัพยากรภายหลังการใช้งาน การซ่อมแซม และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เพื่อเกิดการหมุนเวียนของวัตถุดิบภายในระบบ

3. การรักษาประสิทธิภาพของระบบ ด้วยการจัดการและลดการปลดปล่อยของเสียออกจากระบบให้น้อยที่สุด 

          

          กฟผ. ได้นำแนวคิดด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้ในการดำเนินงาน แทนแนวคิดระบบเศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) ที่เน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการเกิดของเสีย รวมถึงลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 เพื่อตอบสนองต่อนโยบายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หรือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ของประเทศ โดยส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ผลักดันให้เกิดการนำทรัพยากรกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างความเติบโตขององค์การรองรับอนาคตที่ยั่งยืน (แผนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน กฟผ., 2564) สำหรับแผนการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์การด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน กฟผ. (EGAT Circular Economy Organization) ได้กำหนดกรอบการดำเนินงานไว้ระหว่างปี 2564-2573

แนวทางการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

วิสัยทัศน์

“กฟผ. เป็นองค์การชั้นนำด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในกลุ่มธุรกิจผลิตไฟฟ้า”

พันธกิจ

“กฟผ. เป็นองค์การนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยั่งยืน”

เป้าหมาย

“มุ่งสู่การเป็นองค์การเศรษฐกิจหมุนเวียน”

การประกาศนโยบาย Circular Economy กฟผ.

การดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของ กฟผ.

          ปี 2564 กฟผ. ได้ดำเนินการศึกษาศักยภาพองค์การในการจัดทำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยดำเนินการประเมินสมรรถนะด้านสิ่งแวดล้อมของ กฟผ. โดยใช้แนวคิดการประเมินตลอดวัฏจักรชีวิต (LCA) เก็บข้อมูลตัวแทนพื้นที่ครอบคลุมทุกประเภทธุรกิจเพื่อให้เห็นถึงรูปแบบหรือลักษณะการทำงานในปัจจุบันของกลุ่มธุรกิจต่างๆ พร้อมทั้งศึกษาความเป็นไปได้โครงการที่มีศักยภาพเป็นโครงการนำร่อง และจัดทำแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหมุนเวียน กฟผ. และเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นองค์การเศรษฐกิจหมุนเวียน (EGAT CE Organization) มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแนวทางของมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช.2-2562)

          ปี 2565 กฟผ. มีการประกาศนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อนำไปปฏิบัติทั่วทั้งองค์การ โดยดำเนินการโครงการนำร่องในทุกสายงาน ภายใต้แผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และคณะทำงานโครงการนำร่องด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน กฟผ. เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการดำเนินงานตามแผนงานและบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้  รวมถึงจัดทำแนวทางการดำเนินงานของ กฟผ. ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ตามมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช.2-2562) เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์การเศรษฐกิจหมุนเวียน ในปี 2566

สาระน่ารู้

Skip to content