เชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้า

‘ไฟฟ้า’ ได้กลายเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศทั่วโลก การบริหารจัดการไฟฟ้าจึงเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลในแต่ละประเทศให้ความสำคัญ เพราะนั่นหมายถึง ‘ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน’

อย่างไรก็ตาม กว่าจะมาเป็นไฟฟ้าให้เราได้ใช้กันอย่างวันนี้ จำเป็นต้องวางแผนการใช้ “เชื้อเพลิง” ให้เหมาะสม ‘ตามบริบทของแต่ละประเทศ’ ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจ สภาพภูมิศาสตร์ และความต้องการใช้ไฟฟ้า ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดนโยบายให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ มีคุณภาพที่ดี มีราคาที่เป็นธรรม ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้นแล้ว ต้องคำนึงถึงข้อดี-ข้อจำกัดของแต่ละเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าอย่างรอบด้านและครบทุกมิติ

การใช้เชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้า

การผลิตและซื้อพลังงานไฟฟ้า

สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้า
ในระบบของ กฟผ.

การใช้เชื้อเพลิง

ก๊าซธรรมชาติ

(Natural gas)

ก๊าซธรรมชาติ เป็นพลังงานปิโตรเลียมชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับน้ำมัน ที่จริง น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ก็คือ ซากพืชและซากสัตว์ที่ทับถมกันมานานหลายแสนหลายล้านปี และทับถมสะสมกัน จนจมอยู่ใต้ดิน แล้วเปลี่ยนรูปเป็นสิ่งที่เรียกว่า ฟอสซิล ระหว่างนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ จนซากสัตว์และซากพืชหรือฟอสซิลนั้นกลายเป็นน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ที่เรานำมาใช้ประโยชน์ได้ในที่สุด เราจึงเรียกเชื้อเพลิงประเภทน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ว่า เชื้อเพลิงฟอสซิล

ในทางวิทยาศาสตร์ เรารู้กันดีว่า ต้นพืชและสัตว์ รวมทั้งคน ประกอบด้วยเซลล์เล็กๆ มากมาย เซลล์เหล่านี้ประกอบด้วยธาตุไฮโดรเจนและธาตุคาร์บอนเป็นหลัก เวลาซากสัตว์และซากพืชทับถมและเปลี่ยนรูปเป็นน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหิน พวกนี้จึงมีองค์ประกอบของสารไฮโดรคาร์บอนเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อนำไฮโดรคาร์บอนเหล่านี้มาเผา จะให้พลังงานออกมาแบบเดียวกับที่เราเผาฟืน เพียงแต่เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน ให้ความร้อนมากกว่า

องค์ประกอบของก๊าซธรรมชาติ

ก๊าซธรรมชาติมีก๊าซหลายอย่างประกอบเข้าด้วยกัน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า มีเทน อีเทน โพรเพน บิวเทน ฯลฯ แต่โดยทั่วไปจะประกอบด้วยก๊าซมีเทนเป็นส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 70 ขึ้นไป ก๊าซพวกนี้เป็นสารไฮโดรคาร์บอนทั้งสิ้น เมื่อจะนำมาใช้ ต้องแยกก๊าซออกจากกันเสียก่อน จึงจะใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ นอกจากสารไฮโดรคาร์บอนแล้ว ก๊าซธรรมชาติยังอาจประกอบด้วยก๊าซอื่นๆ อาทิ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ ไนโตรเจน และน้ำ เป็นต้น สารประกอบเหล่านี้สามารถแยกออกจากกันได้ โดยนำมาผ่านกระบวนการแยกที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ก๊าซที่ได้แต่ละตัวนำไปใช้ประโยชน์ต่อเนื่องได้อีกมากมาย

การจัดหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเพื่อการผลิตไฟฟ้า กฟผ.

การจัดหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเพื่อการผลิตไฟฟ้า กฟผ. คำนึงถึงต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม ควบคู่กับการรักษาคุณภาพ  ความมั่นคงเชื่อถือได้ของระบบส่งไฟฟ้า ดังนั้นการจัดหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักสำหรับการผลิตไฟฟ้านั้น  จะต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบ  โดยบุคลากรที่มีความสามารถ  ความรู้  ความเข้าใจในกระบวนการวางแผน  และขั้นตอนการผลิตไฟฟ้า  การบริหารโครงการ  กระบวนการจัดหาและรับส่งก๊าซธรรมชาติควบคู่ไปกับความรู้ความสามารถในด้านการเจรจาต่อรองเงื่อนไขการซื้อขายเชิงธุรกิจ การวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์พลังงาน และเงื่อนไขทางการเงินประกอบการซื้อขาย รวมถึงความรู้ความเข้าใจในโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ    

ถ่านหิน

(Coal)

ถ่านหิน คือ หินตะกอนชนิดหนึ่งและเป็นแร่เชื้อเพลิงสามารถติดไฟได้ มีสีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีดำ มีทั้งชนิดผิวมันและผิวด้าน น้ำหนักเบา ถ่านหินประกอบด้วยธาตุที่สำคัญ 4 อย่าง ได้แก่ คาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน และออกซิเจน นอกจากนั้น มีธาตุหรือสารอื่น เช่น กำมะถัน เจือปนเล็กน้อย ถ่านหินที่มีจำนวนคาร์บอนสูงและมีธาตุอื่น ๆ ต่ำ เมื่อนำมาเผาจะให้ความร้อนมาก ถือว่าเป็นถ่านหินคุณภาพดี

ประเภทของถ่านหิน

ถ่านหินสามารถแยกประเภทตามลำดับชั้นได้เป็น 5 ประเภท คือ
          1. พีต (Peat) เป็นขั้นแรกในกระบวนการเกิดถ่านหิน ประกอบด้วยซากพืชซึ่งบางส่วนได้สลายตัวไปแล้วสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ 
          2. ลิกไนต์ (Lignite) มีซากพืชหลงเหลืออยู่เล็กน้อย มีความชื้นมาก เป็นถ่านหินที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง 
          3. ซับบิทูมินัส (Subbituminous) มีสีดำ เป็นเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพเหมาะสมในการผลิตกระแสไฟฟ้า 
          4. บิทูมินัส (Bituminous) เป็นถ่านหินเนื้อแน่น แข็ง ประกอบด้วยชั้นถ่านหินสีดำมันวาว ใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อการถลุงโลหะ 
          5. แอนทราไซต์ (Anthracite) เป็นถ่านหินที่มีลักษณะดำเป็นเงา มันวาวมาก มีรอยแตกเว้าแบบก้นหอย ติดไฟยาก

การผลิตถ่านหิน

การผลิตถ่านหินหรือการนำถ่านหินที่สำรวจพบขึ้นมาใช้ประโยชน์ ก็คือ การทำเหมืองนั่นเอง การทำเหมืองถ่านหิน โดยทั่วไปจะมี 2 ประเภท คือ   

การทำเหมืองเปิด (Open Pit Mine)

เป็นการทำเหมืองโดยการเปิดหน้าดินที่ปิดทับชั้นถ่านหินอยู่ออกไป แล้วตักถ่านหินขึ้นมาใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดและต้นทุนต่ำที่สุดขอการทำเมืองแร่ มักใช้กับแหล่งถ่านหินตื้นๆหรือลึกไม่มากนัก ความลึกของบ่อเหมืองขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่และความคุ้มค่าต่อการลงทุน เหมืองประเภทนี้มีตั้งแต่ระดับผิวดินจนถึงระดับลึก 500 เมตรจากผิวดินเป็นต้น

การทำเหมืองใต้ดิน (Underground Coal Mine)

ในบริเวณที่ชั้นถ่านหินอยู่ในระดับลึกมาก ไม่สามารถทำเป็นเหมืองเปิดได้ อาจต้องทำเป็นเหมืองใต้ดิน โดยการขุดอุโมงค์ลงไปใต้ดินเพื่อใช้เครื่องมือชนิดพิเศษขุดตักและลำเลียงถ่านหินขึ้นมาโดยสายพาน การทำเหมืองถ่านหินใต้ดินเป็นการทำเหมืองที่ต้องลงทุนสูงและต้องมีการวางแผนการทำเหมืองอย่างรัดกุมที่สุดเพื่อป้องกันอันตรายจากการระเบิดในเหมืองเนื่องจากการสะสมตัวของก๊าซในชั้นถ่านหินเองและการถล่มของชั้นหินเป็นต้น จึงต้องมีการศึกษาธรณีวิทยาและธรณีวิศวกรรมของพื้นที่นั้นๆอย่างละเอียด

นอกจากการทำเหมืองถ่านหินแล้ว ในปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยในด้านต่างๆมากมายเพื่อลดผลกระทบจากการพัฒนาใช้ประโยชน์ถ่านหิน เช่นการแปรสภาพถ่านหินเป็นก๊าซ (Coal Gasification) การทำถ่านหินผงผสมน้ำ (Coal Liquid Mixture) เพื่อลดมลภาวะและเพิ่มความสะดวกต่อการขนส่ง และการนำก๊าซมีเทนที่มีอยู่ในชั้นถ่านหินมาใช้เป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น

การใช้ประโยชน์จากถ่านหิน

ถ่านหินถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีแหล่งสำรองกระจายอยู่ทั่วโลกและปริมาณค่อนข้างมาก การขุดถ่านหินขึ้นมาใช้ประโยชน์ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ถ่านหินราคาถูกกว่าน้ำมัน ถ่านหินส่วนใหญ่จึงถูกนำมาเป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ใช้หม้อน้ำร้อนในกระบวนการผลิต เช่น การผลิตไฟฟ้า การถลุงโลหะ การผลิตปูนซีเมนต์ การบ่มใบยาสูบ และการผลิตอาหาร เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการใช้ประโยชน์ในด้านอื่น เช่น การทำถ่านสังเคราะห์ (Activated Carbon) เพื่อดูดซับกลิ่น การทำคาร์บอนด์ไฟเบอร์ (Carbon Fiber) ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความแข็งแกร่งแต่มีน้ำหนักเบา และการแปรสภาพถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเหลว (Coal liquefaction) หรือ เป็นแปรสภาพก๊าซ (Coal Gasification) ซึ่งเป็นการใช้ถ่านหินแบบเชื้อเพลิงสะอาดเพื่อช่วยลดมลภาวะจากการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงได้อีกทางหนึ่ง ภายใต้กระบวนการแปรสภาพถ่านหิน จะสามารถแยกเอาก๊าซที่มีฤทธิ์เป็นกรดหรือเป็นพิษ และสารพลอยได้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในถ่านหินนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้อีก เช่น กำมะถันใช้ทำกรดกำมะถันและแร่ยิปซัม แอมโมเนียใช้ทำปุ๋ยเพื่อเกษตรกรรม เถ้าถ่านหินใช้ทำวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

หินน้ำมัน

หินน้ำมัน คือ หินดินดานมีเนื้อละเอียดเกิดจากการทับถมของสารอินทรีย์สะสมรวมกับเศษหินดินทรายต่างๆอยู่ในที่ที่เคยเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่เป็นเวลาหลายล้านปี มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลไหม้ มีส่วนประกอบของสารอินทรีย์ที่เรียกว่า คีโรเจน (Kerogen) ซึ่งเมื่อถูกทำให้ร้อนด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งประมาณ 500 องศาเซลเซียสจะให้น้ำมันและก๊าซไฮโดรคาร์บอนออกมา ซึ่งสามารถนำไปกลั่นเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันหลายประเภทเช่นเดียวกับการกลั่นน้ำมันดิบ

แหล่งหินน้ำมันส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือของประเทศ โดยเฉพาะแหล่งหินน้ำมันแม่สอดซึ่งเป็นแหล่งหินน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน จากการสำรวจแหล่งหินน้ำมันระหว่างปี 2517 – 2526 พบแหล่งหินน้ำมันจำนวน 9 แห่ง มีปริมาณสำรองทางธรณีวิทยารวมกันไม่น้อยกว่า 11,000 ล้านเมตริกตัน

การใช้ประโยชน์จากหินน้ำมัน   

1. การนำหินน้ำมันมาบดเป็นผงแล้วพ่นเข้าไปใน เตาที่ได้รับการออกแบบโดยเฉพาะเมื่อพ่นเข้าไป แล้วจะเกิดการเผาไหม้โดยตรงพลังงานความร้อนที่ได้รับจากการเผาไหม้นี้สามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้
2. การนำหินน้ำมันมาสกัดเพื่อให้ได้น้ำมันหินออกมาและนำไปใช้ประโยชน์ได้  
3. เป็นการใช้ผลพลอยได้จากการใช้หินน้ำมัน คุณภาพต่ำโดยวิธีในข้อ 1 สามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง เช่น ผสมปูนซีเมนต์ หรืออิฐก่อสร้าง เป็นต้น

การใช้ประโยชน์จากหินน้ำมันในอุตสาหกรรมต่างๆ ยังไม่มีการพัฒนาอย่างกว้างขวางแต่มีผู้ให้ความสนใจกันมากขึ้นในฐานะพลังงานทดแทนรูปแบบหนึ่ง ภายหลังจากการเกิดวิกฤติการณ์น้ำมันเมื่อปลายปี 2516 เป็นต้นมา ในด้านการนำหินน้ำมันมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้านั้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ โดยความร่วมมือของกรมทรัพยากรธรณี กำลังศึกษาความ เหมาะสม และความเป็นไปได้ในการนำหินน้ำมันมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เพื่อเป็นพลังงานทดแทนอีกรูปแบบหนึ่ง

ปัจจุบันทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยส่วนสำรวจและประเมินผลแหล่งทรัพยากร ได้เข้าดำเนินการเจาะสำรวจแหล่งหินน้ำมัน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550 โดยกระทรวงพลังงานเป็นผู้นำเรื่องเสนอ ดังนี้
1. กำหนดพื้นที่บริเวณบ้านห้วยกระโหลก อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จำนวน 104 ตารางกิโลเมตร เป็นเขตสำหรับการศึกษาสำรวจ เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาแหล่งหินน้ำมัน 
2. มอบหมายให้ กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้ศึกษาสำรวจ เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาแหล่งหินน้ำมันในพื้นที่ที่กำหนดไว้เป็นเวลา 4 ปี นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ

ถ่านหินกับการผลิตไฟฟ้า

ปัจจุบันแหล่งปริมาณสำรองถ่านหินในประเทศที่เหมาะสมสำหรับนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าค่อนข้างจำกัด แหล่งถ่านหินที่มีการพัฒนาในปัจจุบันไม่สามารถรองรับความต้องการในอนาคตได้อย่างเพียงพอ  อีกทั้งยังมีข้อจำกัดด้านคุณภาพ  ส่วนการที่พัฒนาแหล่งถ่านหินใหม่ในประเทศก็ยังไม่มีความคุ้มทุนในเชิงเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นหาก กฟผ. มีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP)  มีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องดำเนินการจัดหาเชื้อเพลิงถ่านหินจากแหล่งภายนอกประเทศเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ตลอดอายุโรงไฟฟ้า  เนื่องจากยังมีปริมาณสำรองถ่านหินเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก  และที่สำคัญ กฟผ. ยังสามารถเลือกใช้เชื้อเพลิงถ่านหินที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการใช้ได้อีกด้วย  และจากข้อมูลด้านสถานการณ์การส่งออกถ่านหินของโลกในปี พ.ศ.2546-2550 จะพบว่า  ประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตถ่านหินเพื่อส่งออกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก ได้แก่ประเทศที่อยู่ในแถบเอเชียแปซิฟิค  เช่น   ออสเตรเลีย  อินโดนีเซีย  และจีน    และประเทศต่างๆ เหล่านี้มีที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากประเทศไทยโดยเฉพาะอินโดนีเซีย  ซึ่งจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการนำเข้าจากประเทศอื่นๆ 

เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าที่เหมาะสมสำหรับนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้านั้น  ควรจะเป็นถ่านหินที่มีคุณภาพดี  มีค่าความร้อนสูง  มีธาตุหรือสารประกอบต่างๆ ที่ต้องทำการกำจัดทิ้งเจือปนอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ  ดังนั้น  ถ่านหินที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ของ กฟผ. ควรจะเป็นถ่านหินชนิดซับ-บิทูมินัส จนถึงบิทูมินัสเนื่องจากมีคุณภาพดี และยังมีปริมาณสำรองเหลืออยู่ทั่วโลกจำนวนมาก)

หินน้ำมัน

(Crude Oil)

ปิโตรเลียม มาจากภาษลาตินสองคำคือ คำว่า Petra ซึ่งแปลว่า หิน และคำว่า Oleum ที่แปลว่าน้ำมัน เมื่อสองคำมารวมกันก็จะเป็นคำว่า Petroleum ซึ่งก็หมายความว่า น้ำมันที่ได้จากหิน แต่น้ำมันดิบ (Crude Oil) ก๊าซธรรมชาติ และสารประกอบไฮโดรโดยทั่วไปแล้วปิโตรเลียมจะประกอบด้วยธาตุคาร์บอนไฮโดรเจน กำมะถัน และไนโตรเจน

นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่าโลกของเรามีกำเนิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 4,500 ล้านปีมาแล้ว เมื่อสิ่งมีชีวิตทั้งพิชและสัตว์ที่เจริญเติบโตและอาศัยอยู่ในโลกนับหลายล้านปีมาแล้วตายลง  ซากของมันก็จะปะปนอยู่กับเม็ดหินดินทรายที่มาจากการสึกกร่อนและพัดพาของพื้นผิวโลก  ซึ่งทับถมกันเป็นตะกอนนอนอยู่กับมหาสมุทร  ชั้นตะกอนบางชั้นถูกบีบอัดกลายไปเป็นหินดินดานที่มีเนื้อแน่น  และบางชั้นก็กลายไปเป็นหินปูนและหินทราย  สิ่งมีชีวิตบางชนิดที่ตายลงและถูกทับถมหรือฝังตัวอยู่ในหินนั้นเราจะเรียกว่า  ฟอสซิล  (Fossils)  และในบริเวณที่มีการทับถมของซากสิ่งมีชีวิตมากที่สุด  หรือมีการทับถมของตะกอนที่แม่น้ำพัดพาออกมาด้วยนั้น  จะเป็นบริเวณที่มีน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเกิดขึ้น  เพราะอินทรีย์สารจะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติโดยการกระทำของความร้อน  แบคทีเรีย  (จุลชีวัน)  การแผ่รังสี  และกระบวนการอื่น ๆ

ชนิดของน้ำมันดิบฐานต่างๆ

น้ำมันดิบมีหลายชนิดมีความถ่วงจำเพาะต่าง ๆ กัน  ชื่อเรียกและคุณสมบัติก็แตกต่างกัน  โดยทั่ว ๆ ไปนักปิโตรเลียมได้แบ่งชนิดของน้ำมันดิบไว้เป็นฐานใหญ่ ๆ 3 ฐาน คือ

1.  น้ำมันดิบฐานแอสฟัลต์ (แนพธึน) (Asphalt base crude oil หรือ Napthene) เป็นน้ำมันดิบทั่วๆไปที่ขุดพบในแถบตะวันออกกลาง อ่าวเม็กซิโก เวเนซุเอลา มีลักษณะเหนียวข้นเหมือนยางมะตอย เมื่อนำมากกลั่นจะให้ผลผลิตเป็นน้ำมันพวกกากดิบสูงกว่าปกติ  เช่น  น้ำมันเตา  แต่ข้อดีคือขนส่งง่าย  ไม่จับตัวเป็นไข  กากที่เหลือจากการกลั่นแล้วส่วนใหญ่เป็นพวกยางมะตอย  สันนิษฐานว่าน้ำมันดิบประเภทนี้มักเกิดมาจากซากสิ่งมีชีวิตที่ทับถมกันในมหาสมุทร

2.  น้ำมันดิบฐานพาราฟิน  (Paraffin  base  crude  oil) หรือน้ำมันดิบฐานไขเทียนนี้เป็นน้ำมันดิบชั้นดี  มีค่า  API  สูง  เมื่อนำกากกลั่นจะให้ผลผลิตน้ำมันตระกูลเบนซินและผลิตภัณฑ์ระดับกลางสูงกว่า  กากที่เหลือจากการกลั่นแล้วส่วนใหญ่จะได้พวกขี้ผึ้ง   (Wax)   แต่ข้อเสียอย่างหนึ่งของน้ำมันดิบฐานนี้คือ  ขนส่งยาก  เพราะมักจะจับตัวเป็นไขเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า  30  องศาเซลเซียส  ทำให้การสูบถ่ายเป็นไปด้วยความยากลำบาก  น้ำมันดิบเพชรที่ขุดพบ  ณ  แหล่งสิริกิติ์  จังหวัดกำแพงเพชรจัดอยู่ในน้ำมันประเภทนี้

3.  น้ำมันดิบฐานผสม  (Mixed  base  crude  oil) คือน้ำมันดิบที่มีคุณสมบัติอยู่ระหว่างชนิดที่  1  และชนิดที่  2  (Mixed  between  paraffin  asphalt)  สันนิษฐานว่าเกิดจากการทับถมกันของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนพื้นดินที่อดีตเคยเป็นทะเลมาก่อน  และกากที่เหลือจากการกลั่นของน้ำมันฐานนี้แล้วจะมีทั้งยางมะตอย  และไขหรือขี้ผึ้ง แต่ละฐานดังกล่าวจะมีโครงสร้างทางเคมีและคุณสมบันต่างกันออกไปอีก  เช่น  เมื่อนำน้ำมันดิบฐานแอสฟัลต์มากลั่นจะได้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีค่าออกเทนสูง  ส่วนน้ำมันดิบฐานพาราฟินเมื่อนำมากลั่นจะได้น้ำมันหล่อลื่นที่มีค่าดัชนีความข้นใสหรือความหนืดสูง  (Viscosity index) แต่ในปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมทางด้านน้ำมันมีความก้าวหน้ามาก ไม่ว่าน้ำมันดิบจะเป็นฐานใดก็สามารถจะปรับปรุงให้มีคุณภาพสูงได้โดยใช้สารตัวเติม (Additives) ที่ต้องการคุณสมบัตินั้น ๆ


ชนิดของน้ำมันทางการค้านี้แบ่งออกได้เป็น  3  ชนิดใหญ่ ๆ คือ

น้ำมันดิบชนิดเบา  (Light crude oil)

น้ำมันดิบชนิดกลาง  (Medium crude oil)

น้ำมันดิบชนิดหนัก  (Heavy crude oil)

ทั้งนี้โดยอาศัยค่าองศา API หรือความถ่วงจำเพาะแบบ API เป็นหลักในการพิจารณา หรือใช้เป็นแม่บทในการซื้อขายทั่วโลก  ค่าความถ่วงจำเพาะแบบ API ของน้ำมันดิบทางการค้าชนิดต่าง ๆ

การจัดหาเชื้อเพลิงน้ำมันเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

การจัดหาเชื้อเพลิงน้ำมันเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เนื่องจากหน่วยงานของ กฟผ. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ การดำเนินการจัดหาต้องดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง โดยการจัดหาเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า นอกจากต้องปฏิบัติตามข้อบังคับและระเบียบว่าด้วยการพัสดุของ กฟผ. แล้ว ยังคงปฏิบัติตามมติ ครม. และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ข้อแตกต่างของพลังงานแต่ละประเภท

พลังน้ำ  สะอาดที่สุด  มีข้อจำกัดในการสร้างเขื่อน  

น้ำมัน  ราคาสูง  และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ  

ถ่านหิน  ราคาถูก  แต่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ในการลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม   

ก๊าซธรรมชาติ  สะอาดถูกกว่าน้ำมัน  และเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศ  

นิวเคลียร์  เงินลงทุนสูง  และมีภาระในการกำจัดกัมมันตภาพจากการผลิต 

     

Skip to content