‘ไต้หวัน’ นับเป็นหนึ่งในสี่เสือเศรษฐกิจของเอเชีย ที่เศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และนวัตกรรมรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวไทย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะค่าครองชีพไม่สูง มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม ปลอดภัย อีกทั้งยังมีกลิ่นอายที่ผสมผสานระหว่างญี่ปุ่น จีน และไทยเข้าไว้ด้วยกัน
โรงไฟฟ้า Taichung โรงไฟฟ้าฟอสซิลใหญ่ที่สุดเบอร์ 2 ของโลก
นอกเหนือจากกรุงเทไป เมืองหลวงของไต้หวันแล้ว อีกหนึ่งเมืองทางที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับที่ 2 ของไต้หวัน คือ เมืองไท่จง ตั้งอยู่ทางตอนกลางของเกาะไต้หวัน ซึ่งเป็นเมืองที่ร่ำรวยไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย รวมไปถึงยังเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของไต้หวันอีกด้วย
การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคมที่เกิดขึ้น รวมถึงสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะ ทำให้ไต้หวันต้องพึ่งพาพลังงานที่มั่นคง ‘โรงไฟฟ้าไท่จง’ (Taichung Power Plant) จึงถือเป็นคำตอบที่ดีที่สุดเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในขณะนี้
โรงไฟฟ้าไท่จง เป็นโรงไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไต้หวัน เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ต่อจากโรงไฟฟ้า Tuoketuo ในประเทศจีน โดยมีกำลังผลิตทั้งหมด 5,787 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน 5,500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าดีเซล 280 เมกะวัตต์ และอีก 7 เมกะวัตต์ เป็นกำลังผลิตจากแสงอาทิตย์ และกังหันลม
โรงไฟฟ้าไท่จงแห่งนี้สามารถผลิต ไฟฟ้าได้มากถึง 1 ใน 5 ของความต้องการทั้งหมดในไต้หวัน หรือผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 41,300 ล้านหน่วย ในปี 2559 โดยใช้ถ่านหินในปริมาณ 50,000 ตันต่อวัน ซึ่งถ่านหินที่ใช้เป็นถ่านหินบิทูมินัส และซับบิทูมินัส ที่ส่วนมากนำเข้าจากอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย
แม้ว่าจะเป็นถ่านหินที่นำเข้ามา แต่ข้อมูลของบริษัท Taiwan Power (TCP) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้าของไต้หวันระบุว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินนั้นมีต้นทุนต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอื่นๆ โดยอยู่ที่เพียง 1.09 เหรียญไต้หวัน/หน่วย เท่านั้น ( 1.19 บาท/หน่วย) ในขณะที่ต้นทุนจากถ่านหินเฉพาะของโรงไฟฟ้า Taichung ต้นทุนอยู่ที่เพียง 0.957 เหรียญไต้หวัน/หน่วย (1.04 บาท/หน่วย) เท่านั้น (ค่าไฟฟ้าไต้หวันอยู่ที่ 2.3 – 2.7 เหรียญไต้หวันต่อหน่วย) ( 2.5 - 2.95 บาท/หน่วย)
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน แม้ว่าการลำเลียงถ่านหินของโรงไฟฟ้า Taichung จะดำเนินการด้วยระบบปิด ทว่า การจัดเก็บถ่านหินยังไม่เป็นแบบระบบปิด ซึ่งทางโรงไฟฟ้าได้มีแผนที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บไว้เป็นระบบปิดทั้งหมด ซึ่งจะเสร็จสิ้นในช่วงปลางปี 2567
สำหรับการจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อม ได้มีการจัดพื้นที่สีเขียวในพื้นที่โรงไฟฟ้าถึงร้อยละ 41.2 และติดตั้งอุปกรณ์ในกระบวนการผลิต อันได้แก่ ระบบเผาไหม้ที่ทำให้เกิดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนต่ำ (LNB) และระบบอากาศช่วยเผาไหม้เหนือหัวเผา รวมไปถึงอุปกรณ์ในการดักจับมลสารต่างๆ ได้แก่ ระบบกำจัดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (SCR) ระบบกำจัดฝุ่นละออง (ESP) และระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (FGD) ซึ่งทำให้ค่าการปล่อยมลสารอยู่ในเกณฑ์การควบคุม
ในขณะที่ พื้นที่ชุมชนโดยรอบ ทางโรงไฟฟ้ามีเงินกองทุนในการดูแลชุมชนประมาณปีละ 30 ล้านเหรียญไต้หวัน โดยครอบคลุม 5 เขตรอบโรงไฟฟ้าและใกล้เคียง กิจกรรมที่ทำร่วมกับชุมชน เช่น การสนับสนุนวัด โรงเรียน แจกทุนการศึกษา
จะเห็นได้ว่า แม้จะมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่การอยู่คู่กับสังคม และสิ่งแวดล้อมนั้นสามารถเดินควบคู่กันไปได้ หากมีมาตรการในการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน รวมถึงมีการพัฒนาประสทธิภาพโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรงไฟฟ้า Taichung ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่โรงไฟฟ้าสามารถอยู่คู่กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
โรงไฟฟ้า Hsinta ต้นแบบโรงไฟฟ้าถ่านหินของไทย
ขยับลงมาทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน เป็นที่ตั้งของเมืองเกาสง ซึ่งเป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีต จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องมีแหล่งพลังงานที่มั่นคงในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ
“โรงไฟฟ้า Hsinta” ขนาดกำลังผลิตทั้งหมด 4,326 เมกะวัตต์ ได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานที่หล่อเลี้ยงพื้นที่ตอนใต้ของเกาะไต้หวัน โดยกำลังผลิต 2,100 เมกะวัตต์ของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ส่วนอีก 2,226 เมกะวัตต์ เป็นกำลังผลิตที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นเชื้อเพลิง
โรงไฟฟ้าแห่งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นโรงไฟฟ้าที่มีความใกล้เคียงกับโมเดลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดกระบี่ และเทพา เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าที่ต้องนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ โดยที่มีเรือขนส่งถ่านหินเข้ามาเทียบที่ท่าเรือขนส่งถ่านหิน และใช้วิธีการขนส่งถ่านหินผ่านสายพานระบบปิดไปเก็บที่อาคารเก็บถ่านหินระบบปิดเช่นเดียวกัน
ท่าเรือสำหรับขนส่งถ่านหินโรงไฟฟ้า Hsinta มีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร มีการก่อสร้างลึกไปในทะเล 17 เมตร และสูงจากระดับน้ำอีก 17 เมตร โดยเมื่อเรือขนส่งถ่านหินจากออสเตรเลีย หรืออินโดนีเซียเดินทางมาถึงท่าเรือจะใช้เครื่องขนถ่ายถ่านหินแบบสกูรเพื่อส่งต่อไปยังสายพานลำเลียเข้าสู่สายพานลำเลียงระบบปิด
การลำเลียงถ่านหินของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ลำเลียงผ่านสายพานระบบปิด 2 เส้น ซึ่งทั้ง 2 เส้นสามารถลำเลียงถ่านหินได้ 6,000 ตันต่อชั่วโมง เข้าสู่โดมเก็บถ่านหินจำนวน 4 โดม แต่ละโดมมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 120 เมตร ความสูง 60 เมตร และสามารถจัดเก็บถ่านหินได้โดมละ 170,000 ตัน หรือสามารถสำรองในปริมาณที่ผลิตไฟฟ้าได้ 60 วัน
การเก็บถ่านหินภายในโดมเพื่อไม่ให้ฝุ่นผงจากถ่านกินกระจายออกไป และเพื่อรักษาสภาพถ่านหินไม่ให้เกิดความร้อนสะสม ภายในโดมจะมีระบบพ่นน้ำ และกลับด้านถ่านหิน โดยมีการรักษาอุณหภูมิภายในประมาณ 38 องศาเซลเซียส
ส่วนในกระบวนการผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแห่งนี้ก็มีอุปกรณ์ในการควบคุมทางสิ่งแวดล้อมครบถ้วน ทั้งระบบกำจัดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (SCR) ระบบกำจัดฝุ่นละออง (ESP) และระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (FGD) ซึ่งทั้งหมดนั้นมีลักษณะเช่นเดียวกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ในประเทศไทย
โรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่คู่กับชุมชนได้
ด้วยความที่ไต้หวันใช้พลังงานจากถ่านหินเป็นหลัก และเป็นประเทศที่มีระดับเทคโนโลยีก้าวหน้า โรงไฟฟ้าของไต้หวันจึงมีระบบการจัดการทางสิ่งแวดล้อมที่ดีเยี่ยม และมีมาตรการป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นโดยรอบกับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ดังนั้นแม้ว่า ถ่านหินจะเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่สะอาด ทว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ช่วยลดผลกระทบการเผาไหม้ของถ่านหินที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลายประเทศชั้นนำได้เลือกใช้เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ และไต้หวันก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เลือกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนยีสะอาด ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชิวิต และสิ่งแวดล้อมของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ
ไต้หวัน จึงเป็นอีกตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนให้เห็นว่า โรงไฟฟ้าถ่านหิน สามารถอยู่ร่วมกับชุมชน และสิ่งแวดล้อมได้ หากมีมาตรการการดูแลสิ่งแวดล้อม และชุมชนอย่างใกล้ชิด
ข้อมูลไฟฟ้าไต้หวัน
ในปี 2559 ที่ผ่านมา ไต้หวันมีกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 49,905.7 เมกะวัตต์ เป็นกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน 8,400 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นร้อยละ 35.3 โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติร้อยละ 31.7 รวมถึงยังมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ร้อยละ 10.3 ด้วย
ในด้านการผลิตพลังงาน ถ่านหินยังเป็นสัดส่วนหลักของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 45.4 หรือเกือบครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตทั้งประเทศเลยทีเดียว