นวัตกรรมระบบป้องกันพิเศษระหว่างประเทศเชื่อมโยงความมั่นคงระบบไฟฟ้า ไทย – สปป.ลาว

19 March 2020

         ประเทศไทย และ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้ดำเนินการซื้อ ขาย และแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าระหว่างกันมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี ผ่านความร่วมมือของสองหน่วยงานด้านพลังงานไฟฟ้าของสองประเทศ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (ฟฟล.) ที่ร่วมกันส่งเสริมให้ระบบไฟฟ้าของทั้งสองประเทศมีความมั่นคง เพราะไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งวันนี้การเชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้าของทั้งสองประเทศได้พัฒนาขึ้นไปอีกขั้นด้วย นวัตกรรมฝีมือคนไทย ที่ช่วยแก้ปัญหาการส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าเกินพิกัดบนสายส่งระหว่างไทย – สปป.ลาว

“ครั้งแรกของ ไทย-สปป.ลาว”

          ระบบป้องกันพิเศษระหว่างประเทศ ถูกพัฒนาขึ้นโดยทีมงานฝ่ายระบบควบคุมและป้องกัน (อรค.) โดยสืบเนื่องมาจากในช่วงปี 2562-ปัจจุบัน ระบบไฟฟ้าของ ฟฟล. มีกำลังผลิตไม่เพียงพอ เนื่องจากปัญหาน้ำแล้ง ทำให้ไม่มีน้ำสำหรับใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า จำเป็นต้องรับซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ. เป็นปริมาณมากจนบางช่วงเกิดการส่งจ่ายไฟฟ้าเต็มพิกัดของขีดจำกัดของกำลังไฟฟ้า (Percent Limit) ที่รองรับได้ ส่งผลให้เกิดการจ่ายกระแสไฟฟ้าเกิน (Over Flow) บนสายส่งไฟฟ้าที่เชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ ส่งผลให้แรงดันไฟฟ้าต่ำลง จนทำให้เกิดไฟฟ้าดับบางในพื้นที่ของ ไทย-สปป.ลาว โดยเฉพาะบริเวณเมืองหลวงของ สปป.ลาว สร้างความเสียหายและอันตรายต่อระบบไฟฟ้า รวมทั้งส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ ของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง

          กฟผ. – ฟฟล. จึงร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมระบบป้องกันฯ ขึ้น เพื่อแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าเกินพิกัด ทำให้ระบบไฟฟ้าของทั้งสองประเทศมีความมั่นคง ไฟไม่ตก ไม่ดับ รวมทั้งเพื่อรองรับความต้องการการซื้อขาย แลกเปลี่ยนไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา กฟผ. และ ฟฟล. ได้นำนวัตกรรม “ระบบป้องกันพิเศษระหว่างประเทศ” ติดตั้งและใช้งานอย่างเป็นทางการเพื่อทดสอบการใช้งานในระบบจริง และเก็บข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์และปรับปรุงให้ระบบป้องกันฯ มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

“ประหยัดกว่าร้อยล้านด้วยอุปกรณ์หลักหมื่น”

          โครงข่ายระบบส่งของ กฟผ. มีการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าและสายระบบสื่อสารไฟเบอร์ออฟติก (Fiber Optic) ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่ยังไม่มีการเชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว เมื่อเกิดปัญหาการส่งจ่ายไฟฟ้าเกินพิกัดบนสายส่งไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. – ฟฟล. จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการแจ้งเตือนผ่านทางโทรศัพท์แทนการส่งสัญญาณผ่านสายสื่อสารไฟเบอร์ออฟติก เพราะการลงทุนโครงข่ายสื่อสารสายไฟเบอร์ออฟติกเชื่อมโยงไปยัง สปป.ลาว จะต้องใช้งบประมาณสูงกว่าร้อยล้านบาท และใช้ระยะเวลานาน

          ทีมงานฝ่ายระบบควบคุมและป้องกัน จึงได้นำนวัตกรรมอุปกรณ์ป้องกันระบบไฟฟ้าของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิมมาพัฒนาและต่อยอด จากเดิมที่ไม่สามารถรองรับการสื่อสารผ่านสัญญาณ 3G/4G ได้ นำมาปรับปรุงจนสามารถรองรับได้ในงบประมาณเพียงไม่กี่หมื่นบาท เกิดเป็น “นวัตกรรมระบบป้องกันพิเศษระหว่างประเทศ” ได้สำเร็จ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีระบบสื่อสารและระบบสั่งการด้านการป้องกันระบบไฟฟ้าในต่างประเทศมาก่อน ถือเป็นการนำสินทรัพย์ที่มีอยู่เดิมมาพัฒนาจนเกิดเป็นนวัตกรรมที่ช่วยแก้ไขปัญหาระดับประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยประหยัดงบประมาณและทรัพยากรในการเดินสายไฟเบอร์ออฟติกกว่าร้อยล้านบาท ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตามข้อตกลงการปฏิบัติการเชื่อมต่อระบบกำลังไฟฟ้า (Grid to Grid Operation Agreement) ระหว่าง กฟผ. และ ฟฟล. ที่ได้ลงนามร่วมกันเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2562 เพื่อให้การส่งผ่านพลังงานไฟฟ้าระหว่างสองประเทศมีความมั่นคงและจะมีการประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาต่อยอดผลงานทางด้านวิชาการร่วมกันเพิ่มขึ้นในอนาคตอีกด้วย

“LINE GROUP MODEL”

          หลักการทำงานของระบบป้องกันพิเศษระหว่างประเทศ ใช้หลักการคล้ายกับแอปพลิเคชั่น LINE แบบกลุ่มไลน์ (LINE GROUP) คือ การส่งรหัส – รับรหัส – ถอดรหัส – วิเคราะห์รหัส – ตอบกลับ ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ทำหน้าที่ตรวจสอบปริมาณการส่งไฟฟ้าจากไทยไปยัง สปป.ลาว หากพบว่า ปริมาณการส่งไฟฟ้ากำลังจะเกินขีดจำกัดของกำลังไฟฟ้าที่สายส่งรองรับได้ จะมีสัญญาณแจ้งเตือนส่งไปยัง ฟฟล. เพื่อให้ปรับลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลงภายใน 20 นาที เพื่อป้องกันไม่ให้สายส่งรับไฟฟ้าเกินพิกัด แต่หากไม่มีการปรับลดหรือจัดหาแหล่งผลิตไฟฟ้าอื่นขึ้นมาเสริม ระบบป้องกันพิเศษฯ ก็จะดำเนินการปลดไฟฟ้าบางส่วนในพื้นที่ สปป.ลาว ทันทีโดยอัตโนมัติ เรียงตามลำดับความสำคัญจากน้อยไปมากตามที่ สปป.ลาว กำหนด เพื่อรักษาสถานภาพของระบบไฟฟ้าและสายส่งไฟฟ้าระหว่างสองประเทศให้มีความมั่นคงแข็งแรง

          นายรัฐวิชญ์ พุฒิพัฒนาศักดิ์ หัวหน้าแผนกอุปกรณ์ระบบควบคุมป้องกันพิเศษ อรค. กล่าวว่า ปัญหาต่าง ๆ ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการคิดค้นวิธีการและแนวทางในการแก้ไขปัญหา หลายครั้งยังช่วยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ แต่สิ่งสำคัญที่เราควรตระหนักคือ การต่อยอดและพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดคุณค่าและมูลค่ามากยิ่งขึ้น นวัตกรรมระบบป้องกันพิเศษระหว่างประเทศเป็นผลงานที่ทีมงานทุกคนมุ่งมั่นตั้งใจนำอุปกรณ์ที่มีอยู่เดิมมาปรับปรุงและพัฒนา จนกลายเป็นนวัตกรรมที่ช่วยเชื่อมโยงความมั่นคงระบบไฟฟ้าระหว่างประเทศเป็นครั้งแรกได้สำเร็จ

“เร็วกว่ากระพริบตา”

          ที่ผ่านมา ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ (NCC) ของ กฟผ. และ ELECTRICITE DU LAOS Control Center ของ ฟฟล. จะมีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าสังเกตการณ์ (Monitor) การส่งจ่ายไฟฟ้าระหว่างกันอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง แต่หลังจากนำระบบป้องกันพิเศษฯ มาติดตั้งและทดลองใช้งานจริง พบว่า การแจ้งเตือนรวดเร็วและถูกต้องมากขึ้น จากเดิมต้องประสานงานด้วยการโทรศัพท์แจ้งไปยัง ฟฟล. ใช้เวลามากกว่า 5-10 นาที แต่ปัจจุบันระบบป้องกันพิเศษฯ จะส่งสัญญาณแจ้งเตือนอัตโนมัติทันทีภายใน 40 millisecond หรือเร็วกว่าการกระพริบตา ส่งผลให้ ฟฟล. สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

          นอกจากระบบป้องกันพิเศษฯ จะช่วยรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าระหว่าง ไทย–สปป.ลาว แล้ว ยังช่วยลดกระบวนการทำงาน ทั้งลดเวลา ลดคน และลดขั้นตอนของ กฟผ. และ ฟฟล. ที่สำคัญที่สุด คือ ลดอัตราความผิดพลาดจากการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน (Human Error) อย่างไรก็ตาม ยังมีการ Monitor ระบบป้องกันพิเศษฯ โดยมีการตรวจสอบสถานะของระบบป้องกันพิเศษฯ ในเวลาทุก ๆ 5 วินาที ว่า ระบบยังคงเชื่อมต่อสัญญาณอยู่หรือไม่ หรืออุปกรณ์มีความพร้อมสมบูรณ์หรือไม่ เมื่อเหตุขัดข้อง (Error) ยังสามารถดำเนินการแก้ไขได้ทันท่วงที โดย กฟผ. ได้ดำเนินการยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ระบบป้องกันพิเศษฯ แล้ว พร้อมเตรียมวางแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อจัดจำหน่ายให้แก่หน่วยงานภายนอก ถือเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ กฟผ. อีกด้วย

          “ระบบส่งไฟฟ้าเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของร่างกาย หากขาดการเชื่อมโยงที่มีประสิทธิภาพย่อมทำให้ระบบไฟฟ้าขาดความมั่นคง ไฟตก ไฟดับ นวัตกรรมระบบป้องกันพิเศษระหว่างประเทศ จึงถือเป็นนวัตกรรมชิ้นสำคัญที่ช่วยเชื่อมโยงความมั่นคงระบบไฟฟ้าระหว่าง ไทย-สปป.ลาว ช่วยให้ประชาชนทั้งสองประเทศมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ ไฟไม่ตก ไม่ดับ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน”

Skip to content