โรงไฟฟ้าบางปะกง

การจัดการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

คุณภาพน้ำ
การจัดการน้ำทิ้งภายในโรงไฟฟ้าบางปะกง ได้ทําการบําบัดน้ำทิ้งเบื้องต้นตามคุณลักษณะของน้ำทิ้ง เช่น น้ำที่ปนเปื้อนน้ำมันจะผ่านบ่อดักไขมันก่อน เพื่อแยกน้ำมันออกจากน้ำ น้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตน้ำปราศจากแร่ธาตุ และกระบวนการผลิตน้ำใสจะปรับสภาพน้ำให้เป็นกลาง ส่วนน้ำทิ้งจากอาคารสํานักงาน โรงอาหารและบ้านพักพนักงาน จะถูกส่งผ่านระบบบําบัดน้ำเสีย แบบติดตั้งในพื้นที่ (On-Site Package Sewage Treatment Tank) ซึ่งน้ำเสียทั้งหมดที่ผ่านการบําบัดเบื้องต้นแล้ว จะถูกส่งไปยังระบบบําบัดน้ำเสียกลางของโรงไฟฟ้าบางปะกง ที่เริ่มจากการเติมอากาศและส่งไปบําบัดในบึงประดิษฐ์ (Wetland) ซึ่งใช้พืชน้ำหลายชนิดในการปรับปรุงคุณภาพน้ำ จากนั้นจึงส่งไปยังบ่อพักน้ำทิ้งขนาดใหญ่ของโรงไฟฟ้า และควบคุมคุณภาพน้ำทิ้งให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำทิ้งของกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อนนําไปใช้ประโยชน์ภายในโรงไฟฟ้าฯ เช่น รดน้ำต้นไม้ ล้างพื้นถนน เป็นต้น

คุณภาพอากาศ
ติดตั้งอุปกรณ์ลดการเกิดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (Dry Low NOx  Burner) ควบคุมอัตราการระบายมลพิษทางอากาศให้เป็นไปตามมาตรฐาน ติดตั้งระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศแบบต่อเนื่อง (CEMS) ที่ปล่องของโรงไฟฟ้าและรายงานผลการตรวจวัดของค่าก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน และค่าก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไปยังจอแสดงผลบริเวณหน้าโรงไฟฟ้าบางปะกง และในชุมชนรวม 8 แห่ง รวมทั้งจัดทํารายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมและสํานักงานคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงานทุกๆ 6 เดือน ตรวจวัดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และปริมาณฝุ่นละอองที่ระบายจากปล่องโรงไฟฟ้าแบบครั้งคราวปีละ 2 ครั้ง

คุณภาพเสียง
ติดตั้งอุปกรณ์ช่วยลดเสียง (Silencer) บริเวณทางเข้าออกอากาศของห้องเผาไหม้และสร้างห้องคลุมเครื่องจักรที่เป็นแหล่งกําเนิดเสียงดัง เช่น บริเวณเครื่องกําเนิดไฟฟ้า ควบคุมระดับเสียงของเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีเสียงดัง เช่น Air Compressors, Gas Turbine, Steam Turbine, Pump มีค่าระดับเสียงไม่เกิน 85 เดซิเบลเอ ที่ระยะห่าง 1 เมตร จัดให้มีป้ายหรือสัญลักษณ์เตือนบริเวณพื้นที่ที่มีเสียงดังเกิน 80 เดซิเบลเอ กําหนดเขตพื้นที่เสียงดัง เช่น บริเวณหม้อไอน้ำ (Boiler) บริเวณห้องเผาไหม้ของเครื่องกังหันก๊าซ และบริเวณเครื่องกําเนิดไฟฟ้ากังหันก๊าซ พร้อมติดตั้งป้ายเตือนผู้ที่จะเข้าไปทํางาน ต้องสวมใส่อุปกรณ์ลดเสียง เช่น ปลั๊กลดเสียง (Ear Plugs) หรือครอบหูลดเสียง (Ear Muffs)

กากของเสีย
ขยะมูลฝอยจากสํานักงาน และบ้านพักพนักงานโรงไฟฟ้าบางปะกง ได้ทําการว่าจ้างเทศบาลตําบลท่าข้ามให้ดําเนินการเก็บและนําไปกําจัด ส่วนขยะจากอาคารสูบน้ำเข้าระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าบางปะกง ซึ่งเป็นขยะที่ลอยมาจากแม่น้ำบางปะกงแล้วมาติดตะแกรงกันขยะบริเวณหน้าอาคารสูบน้ำดังกล่าว จะถูกคัดแยกประเภทถุงพลาสติกและส่งให้เทศบาลเช่นกัน ส่วนผักตบชวาตลอดจนวัชพืชอื่นๆ จะถูกนําไปทําปุ๋ยหมักสําหรับ ใช้ภายในโรงไฟฟ้าฯ นอกจากนี้ขยะที่ปนเปื้อนสารเคมีจะเก็บรวบรวมและส่งให้หน่วยงานที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานราชการนําไปกําจัด

ด้านนิเวศวิทยาแหล่งน้ำ
โรงไฟฟ้าบางปะกงนําน้ำทิ้งภายหลังการบําบัดจากบ่อพักน้ำทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายในบริเวณโรงไฟฟ้าฯ เช่น รดน้ำต้นไม้ ล้างพื้นถนน เป็นต้น โดยไม่มีการปล่อยออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับระบบนิเวศวิทยาแหล่งน้ำ รวมทั้งได้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิน้ำแบบอัตโนมัติในแม่น้ำบางปะกงบริเวณที่มีการเลี้ยงปลาในกระชัง นอกจากนี้โรงไฟฟ้าบางปะกงยังสนับสนุนกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ระบบนิเวศวิทยาแหล่งน้ำร่วมกับชุมชน

Skip to content