เปิดศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “โคก หนอง นา โมเดล” เพิ่มอีก 3 แห่ง หวังกระจายแหล่งเรียนรู้ศาสตร์พระราชา และฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน

      กฟผ. เดินหน้าเปิดศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “โคก หนอง นา โมเดล” ในพื้นที่ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนสิรินธร มุ่งหวังเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดศาสตร์พระราชาให้เยาวชนและผู้ที่สนใจ นำไปปฏิบัติและใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่อสร้างความเข้มแข็งและฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน

      กฟผ. ได้จัดพิธีเปิดศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “โคก หนอง นา โมเดล” เพิ่มอีก 3 แห่ง ในปีนี้ ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ และเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็น การเดินหน้าตามนโยบายส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรอบพื้นที่ เขตเขื่อน และโรงไฟฟ้า ตลอดจนแนวสายส่งของ กฟผ. (ในพื้นที่ 7 เขื่อนพระนาม 3 โรงไฟฟ้า) โดยบูรณาการมุ่งสู่เป้าหมาย ความยั่งยืนของโลกอย่างมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศาสตร์พระราชาและเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ช่วยสร้างเสริมชุมชนให้เข้มแข็งและอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน

      ศูนย์ศึกษาฯ เขื่อนสิรินธร

      เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 เขื่อนสิรินธร ได้เปิดศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เขื่อนสิรินธร “โคก หนอง นา โมเดล” โดยมี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธาน มีนายพิพัทต์ คงสินทวีสุข ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ เจ้าอาวาสวัดศรีแสงธรรม เจ้าคณะตำบลนิคมสร้างตนเองลำโดมน้อยเขต 1 อำเภอสิรินธร และภาคีเครือข่ายองค์กรภาครัฐ-เอกชน วิสาหกิจชุมชนเครือข่าย พร้อมด้วยผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธี ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เขื่อนสิรินธร อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี

      ในการนี้ ได้ร่วมกันปล่อยพันธุ์กุ้งก้ามกราม ลงหนองน้ำในศูนย์ฯ จำนวน 30,000 ตัว และร่วมปลูกพันธุ์ข้าวต่าง ๆ สำหรับการขยายพันธุ์ ประมาณ 46 สายพันธุ์ ในแปลงนาฐานรักษ์พระแม่โพสพ และภายในงานมีการเสวนาหัวข้อ “วิถีถิ่นอีสาน” โดยครูภูมิปัญญาไทย ปราชญ์ชาวบ้านด้านอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นถิ่น และวิทยากรของ กฟผ. ร่วมเสวนาฯ

      สำหรับศูนย์ศึกษาฯ ที่เขื่อนสิรินธรแห่งนี้ มีความพร้อมด้านพื้นที่และฐานการเรียนรู้ตามแนวทางกสิกรรมธรรมชาติ ศาสตร์พระราชา บนเนื้อที่ 80 ไร่ สามารถรองรับผู้เข้าเรียนรู้จำนวน 50 คน/รุ่น มีฐานการเรียนรู้ จำนวน 9 ฐาน ประกอบด้วย 1. ฐานคนมีน้ำยา 2. ฐานคนมีไฟ 3. ฐานคนเอาถ่าน 4. ฐานสัตว์น้ำครัวเรือน 5. ฐานรักษ์แม่ธรณี 6. ฐานคนรักดิน 7. ฐานป่าคือชีวิต 8. ฐานเสียดายแดด และ 9. ฐานรักแม่โพสพ รวมถึงจะมีการเพิ่มฐานเรียนรู้อื่นในอนาคต เพื่อยกระดับและพัฒนาให้เป็นศูนย์เรียนรู้ สำหรับฝึกอบรมพัฒนาองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ให้กับภาคีเครือข่ายและประชาชนทั่วไปได้ มีความรู้ความเข้าใจในการประยุกต์ใช้ศาสตร์พระราชา เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แก่ชุมชนในพื้นที่

      ศูนย์ศึกษาฯ เขื่อนสิริกิติ์

      เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 นายจักรพรรณ สุวรรณภักดี นายอำเภอท่าปลา เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ศึกษาและพัฒนา ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “โคก หนอง นา โมเดล” เขื่อนสิริกิติ์ โดยมีนายชาญณรงค์ จันทมงคล ผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ (อขส.) หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ทีมศึกษาประวัติศาสตร์ท่าปลา และผู้ปฏิบัติงานเขื่อนสิริกิติ์ ร่วมพิธี ณ เขื่อนดินช่องเขาขาด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งมีการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook กฟผ.เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ด้วย ในการนี้ยังได้ร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลานิลและพันธุ์ปลาท้องถิ่น จำนวน 1,000 ตัว ลงในคลองหลักโคก หนอง นา โมเดล และเยี่ยมชม ฐานเรียนรู้ภายในศูนย์ศึกษาฯ

      สำหรับศูนย์ศึกษาฯ เขื่อนสิริกิติ์ ตั้งอยู่ที่เขื่อนดินช่องเขาขาด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ บนพื้นที่ 35 ไร่ แบ่งรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล เป็น 4 ส่วน คือ โคก 30 เปอร์เซ็นต์ แหล่งน้ำ 30 เปอร์เซ็นต์ นา 30 เปอร์เซ็นต์ และที่อยู่อาศัย 10 เปอร์เซ็นต์ โดยมีฐานการเรียนรู้จำนวน 10 ฐาน ประกอบด้วย 1. ฐานคนเอาถ่าน 2. ฐานคนรักษ์แม่ธรณี 3. ฐานคนเพาะเห็ด 4. ฐานคนรักษ์สุขภาพ 5. ฐานคนมีน้ำยา 6. ฐานคนมีไฟ 7. ฐานพลังงาน 8. ฐานพระแม่โพสพ 9. ฐานฝึกอาชีพ เเละ 10. ฐานคนรักษ์ป่าและน้ำ

      ศูนย์ศึกษาฯ เขื่อนวชิราลงกรณ

      ในวันเดียวกัน (วันที่ 30 มิถุนายน 2564) เขื่อนวชิราลงกรณ ได้เปิดศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “โคก หนอง นา โมเดล” เขื่อนวชิราลงกรณ โดยมีนายนภเดช เกลียวศิริกุล นายอำเภอทองผาภูมิ เป็นประธาน มีนายอมร แก่นสารี ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ (อขว.) หน่วยงานราชการ กลุ่มกสิกรรมธรรมชาติปิล็อคคี่ กลุ่มกสิกรรมธรรมชาติ ป.3 ต้น และผู้ปฏิบัติงานเขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์ ร่วมพิธีพร้อมเยี่ยมชมฐานเรียนรู้ต่าง ๆ

      สำหรับศูนย์ศึกษาฯ เขื่อนวชิราลงกรณ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 25 ไร่ มีฐานการเรียนรู้ จำนวน 9 ฐาน ประกอบด้วย 1. ฐานคนรักษ์สุขภาพ 2. ฐานคนมีน้ำยา 3. ฐานคนรักษ์แม่ธรณี 4. ฐานไม้ผลท้องถิ่น 5. ฐานคนรักษ์แม่โพสพ 6. ฐานคนรักษ์น้ำ 7. ฐานคนมีไฟ 8. ฐานคนเอาถ่าน 9. ฐานคนรักษ์ป่า แบ่งกลุ่มทำกิจกรรมทั้ง 7 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมทำนา ปลูกข้าว กิจกรรมหลุมพอเพียง กิจกรรมปลูกทุเรียน กิจกรรมปลูกถั่วเถา กิจกรรมปลูกหญ้าแฝก กิจกรรมทำคลองไส้ไก่ และกิจกรรมปลูกต้นไม้

      สำหรับฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ ภายในศูนย์ศึกษาฯ แต่ละแห่ง จะปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของพื้นที่ โดยจะมีเนื้อหาความรู้เกี่ยวกับการทำถ่านไม้และน้ำส้มควันไม้ การทำปุ๋ยหมักชีวภาพโดยใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่น การเพาะเชื้อเห็ดและการทำโรงเรือนเก็บก้อนเห็ด การมีสุขภาพดีแบบวิถีพอเพียงด้วยสมุนไพรไทย การทำน้ำยาอเนกประสงค์จากวัสดุในท้องถิ่นเพื่อลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน การผลิต ก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์เพื่อใช้ในครัวเรือน การใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าเพื่อสูบน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร การทำนาข้าวอินทรีย์ การอบรมอาชีพของชุมชน การปลูกป่าเพื่อรักษาสมดุลและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสร้างฝายชะลอน้ำ

      ทั้งนี้ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “โคก หนอง นา โมเดล” ในพื้นที่ 7 เขื่อนพระนาม 3 โรงไฟฟ้า ของ กฟผ. นั้น มีเป้าหมายจะเปิดให้ได้ 10 แห่ง ใน 10 พื้นที่ โดยในปี 2564 ได้เปิดดำเนินการไปแล้วรวม 6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี กฟผ.แม่เมาะ จังหวัดลำปาง เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนอีก 4 แห่งที่เหลือ ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ โรงไฟฟ้าวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และโรงไฟฟ้าบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2565

Skip to content