‘โดรน’ สำรวจโครงสร้างเพื่อบำรุงรักษาเขื่อน

30 January 2020

          โลกปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวล้ำไปอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถคาดการณ์ได้ สิ่งที่เคยเป็นเรื่องยากในอดีต กลับสามารถทำได้อย่างง่ายดายมากขึ้น อย่างไรก็ตามการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปเป็นเรื่องที่ผู้คนในปัจจุบันควรให้ความสำคัญ

          การดำเนินงานด้านบำรุงรักษาโยธา เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ฝ่ายบำรุงรักษาโยธา (อบย.) จึงได้ให้ความสำคัญด้วยการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้ให้การดำเนินงาน เป็นไปอย่างมีคุณภาพและได้รับการยอมรับในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

          การสำรวจรอยแตกร้าวของโครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่ เป็นการเสริมความแข็งแรงของคอนกรีตที่ถูกกัดเซาะด้วยแดดและฝนในทุกๆวัน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบใดๆต่อความมั่นคงของเขื่อน กฟผ. แต่อย่างใด

          ทว่า การสำรวจปริมาณงานรอยแตกร้าวทั้งหมดเพื่อประเมินการทำงาน เป็นความท้าทายในงานบำรุงรักษาโยธา เนื่องจากพื้นที่หน้างานมีปริมาณกว้างและบางพื้นที่ยากแก่การเข้าถึง ที่ผ่านมาต้องใช้บุคลากรที่ผ่านการอบรมการทำงานบนที่สูงมาเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความผิดพลาดจากบุคคลสามารถเกิดขึ้นได้จากทักษะของบุคลากรที่มีไม่เท่ากันและการทำงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อคุณภาพของการดำเนินงานทั้งสิ้น

Drone รุ่น DJI-Inspire 2

          ฝ่ายบำรุงรักษาโยธา (อบย.) จึงมีแนวคิดที่จะนำอากาศยานไร้คนขับ (Drone) มาประยุกต์ใช้ในงานสำรวจปริมาณรอยแตกร้าวของโครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่ที่มีความสูงประมาณ 50 เมตร หรือเทียบเท่ากับอาคารสูงประมาณ 15 ชั้น และมีความลาดชันมากถึง 45 องศา ฝ่ายบำรุงรักษาโยธา (อบย.) และฝ่ายสำรวจ (อสร.) ร่วมมือกันวางแผนการบินถ่ายภาพทางอากาศด้วย Drone การวางตำแหน่งของหมุดควบคุม (Ground Control Point) และการประมวลผลภาพถ่าย (Image Processing) ทำให้ได้แผนที่รอยแตกของโครงสร้างที่มีความละเอียดถูกต้องสูง สำหรับการไปใช้อ้างอิงในการออกแบบซ่อมแซมและประมาณราคาได้แม่นยำมากขึ้น

แสดงผลการถ่ายภาพมุมสูงโครงสร้างที่ทำการสำรวจด้วย Drone

          จากการประยุกต์ใช้ Drone ในงานสำรวจปริมาณรอยแตกร้าวของโครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่ ทำให้การดำเนินงานสำรวจภาคสนามได้รวดเร็วและแม่นยำ รวมทั้งลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุแก่บุคลากร ภาพถ่ายทางอากาศซึ่งเป็นรูปดิจิตอลทำให้สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้สะดวกยิ่งขึ้น

          การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากหน่วยงานต่างๆ สามารถปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานและเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับการพัฒนาเพื่อรองรับเทคโนโลยีและอยู่ได้ในอนาคตอย่างยั่งยืน จะต้องยอมรับในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง

แผนที่รอยแตกที่ได้จากการประมวลผลภาพถ่ายทางอากาศจาก Drone
Skip to content