ไฮบริดกังหันลมลำตะคองเคียงคู่เซลล์เชื้อเพลิง คู่สร้าง คู่สม แห่งเขายายเที่ยง

7 September 2017
กังหันลมลำตะคอง ใหญ่ที่สุด 2 ต้น แรกของเมืองไทย

         หากใครที่ได้ขับรถผ่านถนนมิตรภาพ ตามเส้นทางที่วิ่งไปทางเมืองโคราช คงจะได้เห็นกังหันลมจำนวน 12 ต้น ที่ตั้งตระหง่านอยู่ตามรายทาง ซึ่งกังหันลมที่เห็นนั้นคือ โครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคองระยะที่ 2 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทีเพิ่งติดตั้งเสร็จสดๆ ร้อนๆ เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

         กังหันลมขนาดกำลังผลิตต้นละ 2 เมกะวัตต์ จำนวน 12 ต้น รวมกำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ ที่ทอดยาวตลอด 8 กิโลเมตร บนเขายายเที่ยง ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้วนี้มีความพิเศษ เพราะไม่ได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเท่านั้น ยังทำงานร่วมกับเซลล์เชื้อเพลิง หรือเรียกว่า Wind Hydrogen Hybrid ซึ่งเป็น ‘แห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชีย’ ที่ใช้ระบบนี้ในการกักเก็บและจ่ายไฟฟ้า

Wind Hydrogen Hybrid คืออะไร?

         แม้ชื่อของ Wind Hydrogen Hybrid จะเข้าใจยาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ก็คืออีกรูปแบบหนึ่งของการเก็บกักพลังงาน ในรูปของไฮโดรเจน ก่อนนำมาผลิตไฟฟ้าโดยผ่านเซลล์เชื้อเพลิงเพื่อจ่ายไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้า

         หลักการทำงานของเจ้าเครื่องกักเก็บพลังงาน Wind Hydrogen Hybrid คือ เมื่อกังหันลม ผลิตไฟฟ้าขึ้น ไฟฟ้าส่วนหนึ่งก็จะจ่ายเข้าระบบของ กฟผ. ขณะที่ อีกส่วนหนึ่งจะจ่ายเข้าที่เครื่อง Electrolyzer หรือเครื่องแยกน้ำด้วยไฟฟ้า ที่ทำให้เกิดออกซิเจน (O2) และก๊าซไฮโดรเจน (H)

         หลังจากนั้น ก๊าซไฮโดรเจนที่ได้มาจะนำไปกักเก็บไว้ในถังกักเก็บ และเมื่อถึงเวลาที่มีความต้องการไฟฟ้า จะนำก๊าซไฮโดรเจนดังกล่าวไปผ่านเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) กำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ เพื่อเปลี่ยนเป็นไฟฟ้าเพื่อใช้งานต่อไป

ที่มา : https://suryaurza.com/hydrogen-fuel-cell/

มุ่งเป้าหมายศูนย์การเรียนรู้เป็น Zero Energy Building

         การนำกังหันลมมาทำงานร่วมกับเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานด้วย Wind Hydrogen Hybrid ที่ลำตะคองนั้น เป็นโครงการวิจัยของ กฟผ. เพื่อศึกษาข้อดี ข้อเสีย และประสิทธิภาพของการทำงานของระบบกักเก็บพลังงาน ตลอดจนนำไฟฟ้าที่ได้ไปใช้งานจริงในศูนย์การเรียนรู้ลำตะคองแห่งใหม่ของเมืองโคราช ที่จะเปิดในปี 2561 และจะเป็นส่วนหนึ่งของการนำมาสาธิตในศูนย์ เพื่อการเรียนรู้ระบบพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยอย่างครบวงจร

         จุดเด่นของการจับคู่โครงการไฮบริดลมกับเซลล์เชื้อเพลิงลำตะคอง คือ ทำให้สามารถกักเก็บพลังงานลมซึ่งมักจะพัดมากในช่วงเวลากลางคืน นำไฟฟ้ามาใช้ในช่วงกลางวัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ศูนย์การเรียนรู้เปิดให้บริการ ซึ่งจะทำให้ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้กลายเป็น Zero Energy Building หรือเป็นอาคารที่พึ่งพาพลังงานจากพลังงานหมุนเวียน 100% อย่างมีเสถียรภาพ

ภาพจำลองศูนย์การเรียนรู้ลำตะคอง

         การก้าวเข้ามาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนเป็นสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องก้าวตามให้ทัน ควบคู่กับการพัฒนาโรงไฟฟ้าหลัก เพื่อสร้างความมั่นคงทางระบบไฟฟ้า คิดไปก็ไม่ต่างกับ คู่สร้าง คู่สม ที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน และอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล เช่นเดียวกับไฮบริดลำตะคอง แห่งเขายายเที่ยงในวันนี้

Skip to content