เจาะโรงไฟฟ้า ส่องภารกิจบำรุงรักษา เพื่อความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ

26 October 2021

ทำไมจึงต้องบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า หากไม่ได้ดูแลบำรุงรักษาจะเป็นอย่างไร ? วันนี้ Unseen EGAT By ENGY จะพาไปค้นหาคำตอบ“การบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า” ปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการผลิตไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพมีความมั่นคง โรงไฟฟ้ามีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นสิ่งที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ใส่ใจดูแลมานานกว่า 50 ปี และทำไมต้องให้ความสำคัญอย่างมากกับการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า เราจะมาไขข้อข้องใจนี้ผ่านการพูดคุยแบบ Exclusive กับพี่สามภพ วชิรบรรจง ผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า (อบฟ.) ที่จะมาเล่าให้ฟังกันอย่างละเอียดเลยครับ

“โรงไฟฟ้าก็เหมือนมนุษย์ มีเจ็บมีป่วยตามกาลเวลา ถ้าเราคอยดูแลรักษาร่างกายตนเองให้แข็งแรง หมั่นตรวจเช็คสุขภาพ โอกาสที่เราจะล้มป่วยหนักก็มีน้อย แต่ถ้าไม่ดูแลรักษาเลย โอกาสที่จะล้มป่วยฉับพลันทันทีถึงขั้นร้ายแรงก็มีมาก” พี่สามภพ เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการเปรียบเทียบโรงไฟฟ้า กับมนุษย์ ให้พวกเราเข้าใจได้ง่าย ๆ พร้อมตอบคำถามคาใจที่เราสงสัยได้อย่างชัดเจน ว่าทำไมจึงต้องมีการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า

การบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีความพร้อมอยู่ตลอดเวลานั้น ต้องอาศัยฝ่ายต่าง ๆ เข้ามาช่วยกันดูแลมีทั้งฝ่ายบำรุงรักษาด้านเครื่องกล ด้านอะไหล่ ด้านโยธา รวมไปถึงด้านไฟฟ้าที่พี่สามภพดูแลอยู่ ทุกฝ่ายต่างทำงานประสานกัน เพื่อทำหน้าที่คอยดูแลโรงไฟฟ้าให้มีความพร้อมใช้งาน ในอดีตเรามักจะดูแลโรงไฟฟ้าเมื่อยามเจ็บป่วย นั่นหมายถึงว่า เมื่อป่วยแล้วถึงจะมาช่วยกันบำรุงรักษาให้หายป่วย ถ้าป่วยหนักก็จำเป็นที่จะต้องหยุดพัก หรือหยุดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นการเสียโอกาสในการผลิตไฟฟ้า แต่ถ้าป่วยไม่มาก ก็หยุดพักเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น

ต่างจากการบำรุงรักษาในปัจจุบัน ทุกฝ่ายจะทำหน้าที่บำรุงรักษาเชิงป้องกัน หมายถึงว่า จะไม่รอให้โรงไฟฟ้าเกิดปัญหา หรือป่วยก่อนถึงค่อยมารักษา แต่มุ่งมั่นที่จะคอยตรวจสุขภาพโรงไฟฟ้า เป็นประจำทุกปี ทุก 2 ปี หรือตามวาระที่กำหนด ก่อนที่จะพบเจอปัญหา ไม่ว่าจะรื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ มาบำรุงรักษา เปลี่ยนอะไหล่ ปรับปรุงระบบ ถ้าเปรียบเป็นมนุษย์ คือ การดูแลตั้งแต่หัวจรดเท้า ดังนั้น ความเจ็บป่วย หรือ ปัญหาของโรงไฟฟ้าที่คาดไม่ถึงจะเกิดขึ้นน้อยลง หรือโอกาสที่จะไม่พบความบกพร่องเลยก็มี ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องทำเช่นนี้เป็นประจำจนกระทั่งหมดวาระการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้า นี่แหละ..เป็นเหตุผลที่ทำไมการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าถึงมีความจำเป็น

สำหรับภารกิจของฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า คือ การดูแลอุปกรณ์ ระบบควบคุมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในงานบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า หลายคนอาจนึกภาพไม่ออกเกี่ยวกับการบำรุงรักษาไฟฟ้า เพราะคำว่าไฟฟ้า เรามองไม่เห็น ไม่สามารถจับต้องได้ แต่ก็ไม่สามารถขาดไปได้ เพราะการบำรุงรักษาไฟฟ้า ถือเป็นการดูแลทั้งอุปกรณ์และระบบต่าง ๆ ที่จะส่งพลังงานไฟฟ้าไปให้กับทุกคน ทุกครัวเรือนทั่วทั้งประเทศได้ใช้ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน

ภายใต้การบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า ทีมงานบำรุงรักษาได้สั่งสมประสบการณ์จากการที่ได้พบเจอปัญหาของโรงไฟฟ้าหลากหลายรูปแบบ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ได้เพิ่มพูนความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความเป็นมืออาชีพในงานบำรุงรักษา จนปัจจุบัน กฟผ. ไม่เพียงแต่บำรุงรักษาโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เท่านั้น แต่ยังได้รับความไว้วางใจให้ดูแลทั้งงานเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าเอกชนด้วย ซึ่งเป็นที่ยอมรับและสร้างความประทับใจให้กับโรงไฟฟ้าคู่ค้ามาโดยตลอด และในอนาคตการบำรุงรักษาจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็นต้องรื้ออุปกรณ์มาบำรุงรักษาเช่นในอดีต เพราะปัจจุบัน กฟผ. กำลังพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในงานบำรุงรักษา ทั้งการนำหุ่นยนต์เข้าตรวจสอบสภาพของเครื่องจักร หาจุดที่เกิดปัญหาหรือจุดผิดปกติ การติดตั้งเซนเซอร์เพื่อเฝ้าสังเกตความผิดปกติของอุปกรณ์แต่ละส่วนของโรงไฟฟ้า และนำข้อมูลมาวิเคราะห์แนวโน้มการเกิดปัญหาพร้อมทั้งพยากรณ์ความผิดปกติที่จะเกิดขึ้นกับเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อวางแผนในการวิเคราะห์ปรับปรุงเครื่องจักร ซึ่งนอกจากจะช่วยลดเวลาในการดำเนินงานแล้วยังสามารถลดกำลังคนได้อีกด้วย ถือเป็นหนึ่งในการพัฒนางานบำรุงรักษาที่จะส่งผลดีต่อการผลิตและส่งไฟฟ้าในภาพรวมให้มีความมั่นคง มีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าเดิม

พี่สามภพยังได้พูดถึงแนวโน้มการผลิตไฟฟ้าที่ให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นตามเทรนของโลก ซึ่ง กฟผ. ก็ได้ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน “ กฟผ. ได้เตรียมความพร้อมบุคลากรฝึกฝนทีมงาน เพื่อรองรับงานด้านพลังงานหมุนเวียน ทั้งการผลิต ติดตั้งและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าประเภท Floating Solar และ Wind Turbine นอกจากนี้ ยังใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยบริหารจัดการ อาทิ คิดค้นระบบควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์ คิดค้นนวัตกรรม Smart Tool & Smart Device เพื่อช่วยพัฒนางาน สามารถลดกำลังคน ลดเวลาการดำเนินงานและลดค่าใช้จ่ายได้ ไม่ว่าจะเป็น EGAT-AVR , Online Monitoring , Health Index , EGAT-Unicon , EGAT-ALVC รวมไปถึงการคิดค้น Platform ในด้านการบำรุงรักษา เพื่อรองรับการเติบโตของพลังงานหมุนเวียน และพร้อมเป็นมืออาชีพในการให้บริการงานเดินเครื่องและบำรุงรักษากับโรงไฟฟ้าเอกชนในด้านพลังงานหมุนเวียนแบบครบวงจร”

เห็นได้ชัดเจนว่า การผลิตไฟฟ้าให้มีความมั่นคง มีเสถียรภาพนั้น หัวใจสำคัญที่ต้องคอยใส่ใจ นั่นก็คือ การดูแลบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าให้มีความพร้อมใช้งาน ไม่ให้เกิดปัญหาที่ไม่คาดคิด ซึ่งในอนาคตเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก ลดเวลา ลดกำลังคนในการทำงานได้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้โรงไฟฟ้าของ กฟผ. และเอกชนมีความพร้อมผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างต่อเนื่อง มั่นคงตลอด 24 ชั่วโมง พี่สามภพยังได้ฝากคติประจำใจปิดท้ายการสนทนา เพื่อเป็นแรงผลักดันในการทำงานว่า “อย่าให้งานรอเรา อย่าให้เขารอนาน ทำงานอย่างมีความสุข มุ่งผลสำเร็จตามเป้าหมาย ที่สำคัญต้องทันต่อการเปลี่ยนแปลง” สวัสดีครับ

Skip to content