สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร

17 December 2021

         เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังเขื่อนสิรินธร อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เสด็จฯ เปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร (Hydro-Floating Solar Hybrid) โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ผู้บัญชาการกองทหารพลราบที่ 6 รองผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค 3 ปลัดกระทรวงพลังงาน ผู้ว่าการ กฟผ. หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ กฟผ. เฝ้าฯ รับเสด็จ

         โอกาสนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร และนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์ นอกจากนี้ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. ได้เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินเพื่อสมทบกองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด-19 (และโรคระบาดต่าง ๆ) เป็นจำนวนเงิน 2,000,000 บาท และนายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานบริษัท บีกริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ทูลเกล้าฯ ถวายเงินเพื่อสมทบกองทุนฯ อีกเป็นจำนวนเงิน 2,000,000 บาท

         หลังจากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงกดปุ่มเปิดแพร คลุมป้าย “โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร” ซึ่ง กฟผ. นำร่องเป็นโครงการแรก ที่เขื่อนสิรินธร มีขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยติดตั้ง แผงเซลล์แสงอาทิตย์บนพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 450 ไร่ สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำจากเขื่อน ที่มีอยู่เดิม มาผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ไม่มีแสงแดด หรือเสริมความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในช่วงค่ำ โดย กฟผ. ได้นำระบบบริหาร จัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) ร่วมกับระบบพยากรณ์อากาศ (Weather Forecast System) มาควบคุมและบริหารจัดการ เพื่อช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้กับระบบผลิตไฟฟ้า ลดข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียน ทำให้สามารถ ผลิตไฟฟ้าได้นานขึ้น โดยโรงไฟฟ้าได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้วเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ซึ่งนอกจากจะช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทยแล้ว ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 47,000 ตัน/ปี ตอบโจทย์พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

         จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารสิรินธารประภากร ทรงกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้าย “อาคารสิรินธารประภากร” ภายในจัดแสดงนิทรรศการ “50 ปี เขื่อนสิรินธร สู่ความรุ่งโรจน์ จากสายน้ำและแสงแดด” นำเสนอประวัติความเป็นมาของ การก่อตั้งเขื่อนสิรินธร ที่เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2511 โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดเขื่อนเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2514 และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นชื่อเขื่อนแห่งนี้ นามว่า “เขื่อนสิรินธร” และในโอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ ไปยังเส้นทาง เดินชมธรรมชาติ (Nature Walkway) ทรงปลูกต้นอินทนิลน้ำ ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะฯ ที่รับเสด็จ ทรงรับกระเช้า สินค้าชุมชน ก่อนเสด็จพระราชดำเนินออกจากเขื่อนสิรินธร

         ทั้งนี้ อาคารสิรินธารประภากร ยังได้จัดแสดงความรู้ด้านพลังงาน มีพื้นที่ใช้งานอเนกประสงค์ รองรับประชาชน ที่เข้ามาเยี่ยมชม โดยออกแบบอาคารเป็นรูปทรงโค้งตามแนวแสงอาทิตย์ ด้วยแนวคิดการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลก สะท้อน ถึงพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า อีกทั้งใช้วัสดุที่สื่อถึงธรรมชาติได้อย่างกลมกลืนและเรียบง่าย โดยตัวอาคารเชื่อมต่อกับเส้นทางเดินชมธรรมชาติ มีลานกว้างทรงกลมรูปดอกบัว สัญลักษณ์ประจำจังหวัดอุบลราชธานี นำไปสู่การรับชมทิวทัศน์ อันสวยงามของผืนน้ำเขื่อนสิรินธร และแผงโซลาร์เซลล์ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำฯ โดย กฟผ. มุ่งพัฒนาพื้นที่ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัด ซึ่งจะช่วยสร้างอาชีพให้กับชุมชน รอบเขื่อนให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

Skip to content